'นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์'ชูไอเดียตั้งคณะทำงานร่วม'สปสช.สธ.' คุมแผนกระจายงบประมาณโรงพยาบาลทั่วประเทศ ดึง ผู้ตรวจราชการฯ 12 เขตบริการสุขภาพ กำกับดูแล
เมื่อวันที่ 17 เมษายน นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า มีแนวคิดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในการบริหารจัดการงบประมาณด้านสาธารณสุขที่จะต้องกระจายลงไปยังโรงพยาบาล และหน่วยงานในสังกัดทั่วประเทศ โดยมีนายคณิต แสงสุพรรณ ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลัง ของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) และ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. เป็นหัวหน้าคณะ ซึ่งในเร็วๆ นี้ จะมีการเสนอรายชื่อกรรมการคนอื่นๆ ให้บอร์ด สปสช. พิจารณาแต่งตั้ง คาดว่าจะแล้วเสร็จทันกับ การกระจายงบฯประจำปี 2557
"คณะทำงานชุดนี้มีหน้าที่พิจารณาความเหมาะสมในการกระจายงบฯให้หน่วยบริการในสังกัดทั่วประเทศ เพื่อให้การบริหารจัดการมีความเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเดิมที สปสช.จะกระจายงบประมาณให้สถานพยาบาลโดยตรง ซึ่งอาจติดขัดอุปสรรคบางประการ ทำให้หน่วยบริการบางแห่งอาจได้รับงบฯล่าช้า ต้องใช้เงินบำรุงของโรงพยาบาลไปก่อน จนเกิดปัญหางบฯค้างท่อบ้าง กระจายเม็ดเงินลงไปไม่ทันบ้าง การตั้งคณะทำงานชุดนี้มาทำงานเพื่อให้การบริหารจัดการดีขึ้น โดยจะแบ่งเป็น 12 เขตบริการสุขภาพ มีผู้ตรวจราชการ สธ.รับผิดชอบแต่ละเขต แนวทางนี้ขอย้ำว่า สธ.ไม่ได้ถือเงิน แต่จะร่วมให้คำปรึกษากับ สปสช.ในเรื่องกระจายงบฯที่มีอยู่อย่างจำกัดเท่านั้น" นพ.ประดิษฐกล่าว
ด้านแหล่งข่าวใน สธ.ตั้งข้อสังเกตว่า หากมีการตั้งคณะทำงานดังกล่าวจริง ถือเป็นการรวบอำนาจบอร์ด สปสช.แบบเบ็ดเสร็จ เนื่องจากปัจจุบันการกระจายงบฯจะลงไปยังหน่วยบริการหรือโรงพยาบาลต่างๆ โดยตรง ซึ่งรวมทั้งงบฯเหมาจ่ายรายหัว งบฯส่งเสริมสุขภาพของกองทุนย่อยในโครงการหลักประกันสุขภาพ และงบฯค่าเสื่อมของอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ รวมถึงงบฯกรณีคิดตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม หรือดีอาร์จี (DRG) ซึ่งจะมีรายละเอียดปลีกย่อย
"การจะกระจายงบฯตามแนวคิดของรัฐมนตรี สธ. จะส่งผลต่อโรงพยาบาลทุกระดับ เนื่องจากเป็นการมอบอำนาจให้กับผู้ตรวจราชการ สธ.บริหารจัดการรายเขต จะรับประกันได้หรือไม่ว่าวิธีนี้จะไม่เกิดการเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง บางโรงพยาบาลอาจได้มาก บางโรงพยาบาลอาจได้น้อย โดยเฉพาะโรงพยาบาลขนาดเล็ก หรือโรงพยาบาลชุมชน อาจเป็น กลุ่มที่ได้รับงบฯน้อยสุดก็ได้ ที่สำคัญการให้อำนาจกับคณะทำงานร่วมชุดนี้ อาจเข้าข่ายขัด พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ที่ระบุชัดเจนว่า สปสช.ต้องทำหน้าที่เป็นผู้ซื้อบริการที่ต้องซื้อตรงกับหน่วยบริการเท่านั้น ไม่ใช่ในรูปแบบเขตบริการสุขภาพของ สธ. หากไม่ชัดเจนเรื่องนี้เชื่อว่าอาจมีการชุมนุมอีกแน่นอน" แหล่งข่าวกล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 18 เมษายน 2556
- 1 view