เอช 7 เอ็น 9 (H7N9) เป็นเชื้อไวรัสจำพวกไวรัสไข้หวัดนก ซึ่งหมายถึงกลุ่มสายพันธุ์ไวรัสที่มีต้นตอมาจากเชื้อไวรัสที่โจมตีพวกสัตว์ปีก จำพวกนกหรือไก่ ก่อนแล้วพัฒนาเป็นเชื้อที่ติดต่อสู่คนได้แบบเดียวกับสายพันธุ์ที่ขึ้นชื่อลือชาเป็นที่รู้จักกันดีนั่นคือ เอช 5 เอ็น 1 นั่นเอง
เอช 7 เอ็น 9 เริ่มกลายเป็นสายพันธุ์ไวรัสหวัดนกที่น่ากังวลขึ้นมาตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมานี่เอง หลังจากที่มันเริ่มระบาดจากสัตว์ปีกไปสู่คน ในตอนนั้นมีการพบผู้ป่วย 3 คนที่ติดเชื้อนี้ทางภาคตะวันออกของจีน ก่อนที่จะแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วไปสู่ภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ ล่าสุด จนกระทั่งถึงวันที่ 17 เมษายน พบว่ามีผู้ติดเชื้อแล้ว 77 ราย และเสียชีวิตไปแล้วมากถึง 16 รายด้วยกัน
นี่ถือเป็นครั้งแรกที่พบว่า เอช 7 เอ็น 9 ระบาดสู่คนจนถึงขณะนี้ ผู้เชี่ยวชาญการระบาดของเชื้อไวรัส ทั้งของทางการจีน และขององค์การอนามัยโลก ยังคงระบุเพียงว่า ผู้ที่ติดเชื้อนั้นติดเชื้อจากสัตว์ปีก ไม่ใช่จากผู้ป่วยด้วยกัน ในขณะที่พบการแพร่ระบาดได้โดยง่ายในระหว่างสัตว์ปีกด้วยกัน แต่ยังไม่มีข้อมูลที่ส่อให้เห็นว่าเอช 7 เอ็น 9 แพร่ระบาดจากคนสู่คนได้ง่าย แม้ว่าศูนย์เพื่อการควบคุมและป้องกันโรค (ซีดีซี) ของสหรัฐอเมริกาจะเตือนเอาไว้ว่า "จะไม่น่าประหลาดใจ" ถ้าหากพบการแพร่ระบาดจากคนสู่คนอยู่บ้างเป็นบางกรณีก็ตาม นั่นทำให้ซีเอ็นเอ็นรายงานเอาไว้ว่า เจ้าหน้าที่กำลังเฝ้าสังเกตอาการของชาวจีนมากกว่า 1,000 คน ที่สัมผัสกับผู้ที่รู้กันแล้วว่าติดเชื้อไวรัสนี้แล้วอยู่ในเวลานี้
ข้อที่น่าวิตกก็คือ คำให้สัมภาษณ์ของ นายแพทย์ ริชาร์ด เว็บบี้ จากแผนกโรคติดเชื้อ ของโรงพยาบาลเพื่อการวิจัยในเด็กเซนต์จูด ในเมืองเม็มฟิส รัฐเทนเนสซี สหรัฐอเมริกา ที่ระบุเอาไว้ว่า เมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ ที่เหลือทั้งหมดของไวรัสไข้หวัดนกแล้ว เอช 7 เอ็น 9 ถือว่าน่ากังวลมากที่สุด เพราะดูเหมือนจะมีความสามารถก่อให้เกิดการระบาดจากคนสู่คนได้มากที่สุดในบรรดาหวัดนกทุกสายพันธุ์
ตามรายงานของนักวิทยาศาสตร์จีน ซึ่งเผยแพร่ข้อมูลเรื่องไวรัสนี้ลงใน จุลสาร เดอะ นิว อิงแลนด์ เจอร์นัล ออฟ เมดิซีน เมื่อวันที่ 4 เมษายน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย 3 คนแรกที่พบนั้น ระบุว่า อาการของโรคออกจะหนักหนาสาหัสทีเดียว ผู้ป่วยทั้งสามซึ่งเสียชีวิตในเวลาต่อมา มีอาการปอดบวมรุนแรง น้ำท่วมปอด สองรายในจำนวนนี้ สมองได้รับความเสียหายจากเชื้อ และหนึ่งในจำนวนนั้น คือสตรีวัย 35 ปีจากมณฑลอานฮุย มีอาการช็อกจากภาวะติดเชื้อ และไตวาย ข้อที่น่าสังเกตก็คือ ผู้ป่วยทั้งสามถูกตรวจพบและได้รับการรักษาค่อนข้างสายเมื่อมีอาการหนักแล้ว
นักวิทยาศาสตร์ของซีดีซี ซึ่งเขียนบทความแสดงความคิดเห็นประกอบไปกับรายงานของนักวิทยาศาสตร์จีน ระบุว่า จากคุณสมบัติทางพันธุกรรมของไวรัส ซึ่งนักวิทยาศาสตร์จีนนำไปโพสต์เผยแพร่ไว้สำหรับการวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ที่สนใจทั่วโลกบนอินเตอร์เน็ต แสดงให้เห็นว่า สายพันธุ์เอช 7 เอ็น 9 นั้น ไม่ก่อให้เกิดอาการรุนแรงในสัตว์ปีก ซึ่งน่ากลัว เพราะหมายความว่ามันสามารถระบาดในสัตว์ปีกจำพวกไก่หรือนกได้อย่างกว้างขวางโดยที่คนเลี้ยงไม่สามารถสังเกตพบได้ เพราะสัตว์เหล่านั้นไม่แสดงอาการ
นอกจากนั้น เอช 7 เอ็น 9 ยังมีคุณสมบัติบางประการที่แสดงให้เห็นว่ามันสามารถปรับตัวให้แพร่ระบาดในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมได้ ที่สำคัญก็คือ เนื่องจากเอช 7 เอ็น 9 ไม่เคยแพร่ระบาดในคนมาก่อน ในร่างกายคนเราจึงไม่มีภูมิต้านทานไวรัสสายพันธุ์นี้
นอกจากนั้นแล้วยังคงมีคำถามอีกหลายคำถามเกี่ยวกับไวรัสหวัดนกสายพันธุ์ใหม่ที่ยังไม่มีใครรู้คำตอบ อย่างเช่น สัดส่วนที่แท้จริงของการติดเชื้อกับจำนวนของผู้เสียชีวิต ซึ่งจะเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าเอช 7 เอ็น 9 น่ากลัวแค่ไหน ทำให้ถึงตายได้มากน้อยเพียงใด เนื่องจากยังไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า จริงๆ แล้วมีคนติดเชื้อจำนวนเท่าใดกันแน่ เพราะบางคนอาจแสดงอาการเล็กน้อย หรือไม่แสดงอาการเลยก็เป็นได้
สำนักงานสาธารณสุขปักกิ่ง รายงานว่า เด็กชายวัย 4 ขวบชาวปักกิ่งที่ติดเชื้อจากลูกไก่ที่ผู้เป็นพ่อซื้อให้เล่นนั้น ไม่ได้แสดงอาการหนักออกมาให้เห็น แต่ในเวลาเดียวกันก็มีเพื่อนบ้านเป็นเด็กหญิง 9 ขวบอีกรายเกิดติดเชื้อขึ้นมาด้วย ทำให้ผู้คนในละแวกนั้น 24 คน ถูกจับตรวจจนหมด ไม่ว่าจะมีอาการป่วยหรือไม่ก็ตาม
นายแพทย์ ไมเคิล ชอว์ ผู้เชี่ยวชาญของซีดีซี บอกว่า ทางซีดีซีกำลังพัฒนาอุปกรณ์ตรวจหาเชื้อ เพื่อป้องกันการระบาดของโรคในหมู่นักเดินทางท่องเที่ยว เพราะแม้ตอนนี้การระบาดจะจำกัดอยู่แค่ในจีน แต่ในฮ่องกงและเวียดนาม ประเทศใกล้เคียงก็กวดขันเพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสนี้อย่างใกล้ชิดแล้ว
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 18 เมษายน 2556
- 11 views