การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ หรือเมดิคัลทัวริสซึม สร้างรายได้เข้าประเทศมากกว่าการท่องเที่ยวทั่วไป ที่ผ่านมาโรงพยาบาลขนาดใหญ่และโรงแรมที่อยู่ใกล้โรงพยาบาลก็ประสานงานกันอยู่แล้ว แต่ยังไม่เต็มรูปแบบ ดังนั้น การที่รัฐบาลระบุว่าจะใช้เมดิคัลทัวริสซึมผลักดันรายได้ท่องเที่ยวถึง 2 ล้านล้านบาท ในปี 2558 ทำให้ในอนาคตโรงพยาบาลและโรงแรมจะได้อานิสงส์จากเมดิคัลทัวริสซึมมากขึ้น
จากข้อมูลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)ระบุว่า ผู้ที่มารักษาพยาบาลจะอยู่ขั้นต่ำ 1 สัปดาห์ ใช้จ่าย 1 แสนบาทต่อครั้ง 60% ใช้จ่ายที่พักและท่องเที่ยว40% ใช้จ่ายรักษาพยาบาล แต่กลุ่มนี้จะมีผู้ติดตามด้วย ซึ่งผู้ติดตามใช้จ่าย 3 หมื่นบาทต่อคนต่อวัน
นพ.ชาตรี ดวงเนตร ประธานคณะเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ-การแพทย์ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ และประธานคณะผู้บริหารศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพ ระบุว่า สัดส่วนรายได้เครือโรงพยาบาลกรุงเทพมาจากลูกค้าต่างชาติ 41% ชาวต่างชาติที่ทำงานในไทย 10% และคนไทย 49% ตลาดต่างชาติที่มาใช้บริการมากที่สุด คือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รองลงมาคือ เมียนมาร์ กาตาร์ คูเวตและยุโรป หลังจากนี้โรงพยาบาลจะเน้นขยายฐานลูกค้าอาเซียน รวมทั้งจีน
สำหรับการทำตลาดเมดิคัลทัวริสซึมนั้น มองว่าโรงพยาบาลในประเทศคงต้องร่วมมือกันบุกตลาดนี้ เพื่อแข่งกับโรงพยาบาลประเทศเพื่อนบ้านมากกว่าการแข่งขันกันเอง และเครือโรงพยาบาลกรุงเทพก็ไม่คิดจะแข่งกับโรงพยาบาลในประเทศกันเองอยู่แล้ว เพราะเป็นเครือโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุด ส่วนคู่แข่งที่สำคัญ คือ โรงพยาบาลในมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินเดีย
"แนวทางที่ทำให้เมดิคัลทัวริสซึมของไทยแข่งขันกับต่างชาติได้ คือ จุดแข็งด้านบริการที่เป็นมิตร"
โรงพยาบาลกรุงเทพก็ให้ความสำคัญเรื่องนี้เช่นกันโดยจัดโครงการบี สมาร์ต เกิร์ลส หาสาวสวย ฉลาด อัธยาศัยดีมาทำงานกับโรงพยาบาลกรุงเทพ ในฝ่ายประชาสัมพันธ์องค์กร คอยดูแลให้บริการลูกค้า ซึ่งจะตัดสินผลวันที่ 2 พ.ค.นี้ ผู้ที่จะเป็นบี สมาร์ต เกิร์ลส ต้องมีความรู้ด้านภาษาอังกฤษและหากมีความรู้ภาษาอื่นโดยเฉพาะภาษาของตลาดที่มาใช้บริการมาก เช่น พม่า อาหรับ ภาษาอื่นๆของประเทศแถบยุโรปและจีนก็จะดีมาก
ขณะที่การร่วมมือกับโรงแรมที่อยู่ใกล้โรงพยาบาล ไม่ได้จับมือเป็นทางการ แต่ก็มีการส่งญาติผู้ป่วยที่มาเฝ้าไข้ หรือผู้ป่วยที่พักฟื้นให้พักโรงแรมใกล้โรงพยาบาลอยู่แล้ว เช่น อมารี เรสซิเดนซ์ ที่สร้างขึ้นมารับตลาดนี้โดยเฉพาะ
ด้าน นพ.เกริกยศ ชลายนเดชะ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลพญาไท กล่าวว่า ที่ผ่านมาโรงพยาบาลจะประสานงานกับโรงแรมที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงแบบไม่เป็นทางการ เพื่อรองรับตลาดเมดิคัลทัวริสซึมแต่หลังจากนี้คงทำงานกับโรงแรมมากขึ้น รวมทั้งร่วมมือบริษัทนำเที่ยวและพันธมิตรอื่นๆเพื่อดึงกลุ่มเมดิคัลทัวริสซึมโดยคงเห็นภาพชัดเจนขึ้นกลางปีนี้
พญ.ประภา วงศ์แพทย์ นายกสมาคมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ไทย ให้ข้อมูลว่าไทยมีส่วนแบ่งตลาดเมดิคัลทัวริสซึม 40% ของรายได้เมดิคัลทัวริสซึมในอาเซียน แต่ถ้าดูสัดส่วนนักท่องเที่ยวกลุ่มเมดิคัลทัวริสซึม เทียบนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่มาไทยปี 2550-2552 อยู่ที่ 0.5-3.2% เท่านั้น ถือว่าน้อยมาก
จุดอ่อนสำคัญของไทยอยู่ที่การขาดการสนับสนุนต่อเนื่องจากภาครัฐขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเช่นสิงคโปร์ มาเลเซีย และเกาหลีใต้ รัฐบาลทุ่มทุนสุดตัวเพื่อโปรโมต
ประกิจ ชินอมรพงษ์ กรรมการบริหาร โรงแรม เดอะ แกรนด์ โฟร์วิงส์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ไทย กล่าวว่ากระแสเมดิคัลทัวริสซึมมาแรง 2-3 ปีแล้ว แต่ที่ผ่านมายังกระจุกตัวในโรงพยาบาลใหญ่ ทั้งที่โรงพยาบาลเล็กๆ หรือคลินิกก็มีศักยภาพ ทั้งทำฟัน ทำศัลยกรรม หมอเฉพาะทางด้านอื่นแต่ไม่มีทุนประชาสัมพันธ์หรือไปทำตลาดต่างประเทศ
ดังนั้น โรงแรมไทยจึงรวมตัวกับโรงพยาบาลและคลินิกเล็กตั้งสมาคมขึ้น และหลังจากนี้คงร่วมมือทำตลาดมากขึ้น
ตัวอย่างเช่น โรงแรมเดอะ แกรนด์ โฟร์วิงส์ อยู่ใกล้โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ จึงร่วมมือกับโรงพยาบาลส่งลูกค้าไปตรวจเช็กร่างกาย จัดบริการรถรับ-ส่งลูกค้าที่มาพักที่โรงแรม และเดินทางไป-กลับดูแลญาติที่โรงพยาบาล รวมทั้งมีบริการห้องพักสำหรับผู้ป่วยพักฟื้น เป็นต้น
ด้าน ศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตตา) แสดงความคิดเห็นที่สอดคล้องกันว่าปัจจุบันมีบริษัทนำเที่ยวไทยที่ทำตลาดเมดิคัลทัวริสซึมไม่มากโดยตลาดสำคัญที่ซื้อทัวร์มาใช้บริการทางการแพทย์ในไทยได้แก่ ตะวันออกกลาง และประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาร์และกัมพูชา อย่างไรก็ตาม มองว่าตลาดเมดิคัลทัวริสซึมในไทยยังกระจุกตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเครือขนาดใหญ่เท่านั้น
ปีเตอร์ เฮนลีย์ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ออนิกซ์ ฮอสพิทาลิตี้ กรุ๊ป กล่าวว่า ออนิกซ์จับมือโรงพยาบาลทำตลาดเมดิคัลทัวริสซึมนานแล้ว โรงแรมหลายแห่งในเครือมีสิ่งอำนวยความสะดวกรับตลาดเมดิคัลทัวริสซึมโดยเฉพาะอมารี เรสซิเดนซ์ ที่เปิดขึ้นมารับชาวต่างชาติที่มาใช้บริการโรงพยาบาลกรุงเทพ ผลปรากฏว่ามีอัตราเข้าพักดีมาก แต่หากภาครัฐสนับสนุนเมดิคัลทัวริสซึมจริงจัง มั่นใจว่าเมดิคัลทัวริสซึมจะขยายตัวดีกว่านี้
สมชัย รัตนโอภาส กรรมการผู้จัดการ โรงแรมเอ-วันกล่าวว่า โรงแรมเอ-วัน กรุงเทพฯ อยู่ใกล้โรงพยาบาลกรุงเทพ ปีที่ผ่านมามีอัตราเข้าพัก 80-90% สัดส่วนลูกค้าเป็นกลุ่มเมดิคัลทัวริสซึม 15% ส่วนใหญ่เป็นญาติผู้ป่วย กลุ่มนี้ใช้จ่ายสูง พักไม่ต่ำกว่า 1 เดือน อย่างไรก็ตาม มีอพาร์ตเมนต์และเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์หลายแห่งในพื้นที่เกิดมากขึ้นรับตลาดเมดิคัลทัวริสซึม ดังนั้นตลาดนี้คงแข่งขันสูงขึ้น
สุวัตร สิทธิหล่อ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬากล่าวว่า เมดิคัลทัวริสซึมเป็นกลยุทธ์สำคัญของรัฐที่จะผลักดันรายได้ท่องเที่ยวถึง 2 ล้านล้านบาท ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขรับหน้าที่ดูแลเรื่องการผลักดันให้ชาวต่างชาติเข้ามาใช้บริการความงาม และการรักษาพยาบาล
"กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาดูแลส่วนที่เกี่ยวข้องเช่น แนะนำพื้นที่ที่อยู่ใกล้สถานที่บริการเชิงการแพทย์และสุขภาพ เสนอผลิตภัณฑ์ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจให้ผู้ที่มาใช้เมดิคัลทัวริสซึม รวมทั้งแนะนำการเสนอผลิตภัณฑ์ด้านวัฒนธรรม การแสดง และอาหารที่น่าสนใจ เพื่อที่กลุ่มเมดิคัลทัวริสซึมมาแล้วไม่ใช้บริการทางสุขภาพอย่างเดียว แต่ใช้จ่ายส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย" สุวัตร กล่าว
ทั้งนี้ เมดิคัลทัวริสซึมของไทยที่น่าจะทำตลาดได้ดี ไม่ใช่แค่การดึงชาวต่างชาติมารักษาตัว หรือตรวจเช็กร่างกายที่โรงพยาบาลเท่านั้น แต่การใช้บริการทางสุขภาพประเภทอื่นได้เช่น บริการสปา เป็นต้น อย่างไรก็ตาม คงต้องอยู่ที่ภาครัฐว่าจะออกมาตรการอะไรดึงดูดใจกลุ่มเมดิคัลทัวริสซึมแค่ไหน
แต่อีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ ภาครัฐต้องดูแลให้คนไทยเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่มีมาตรฐานดี แต่มีต้นทุนไม่แพงด้วย เพื่อรักษาน้ำหนักระหว่างการใช้การแพทย์สร้างรายได้ และการใช้การแพทย์เพื่อดูแลคนในประเทศ
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 17 เมษายน 2556
- 23 views