ทีดีอาร์ไอระบุการที่สภาผู้แทนราษฎรไม่รับหลักการร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับบูรณาการซึ่งภาคประชาชนร่วมกันเข้าชื่อเสนอต่อรัฐสภาถือเป็นการเสียโอกาสในการปฏิรูประบบประกันสังคม พร้อมเปิดเผยบทวิเคราะห์ และข้อเสนอแก้ไขปรับปรุงร่างกฎหมายประกันสังคมให้มีระบบธรรมาภิบาลและการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งควรลดค่าใช้จ่ายด้านบริหารเหลือร้อยละ 5
ในการเสวนาสาธารณะเรื่อง "ติดตามร่างกฎหมายประกันสังคม" ซึ่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้าจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ มีการเปิดเผยบทวิเคราะห์ร่างกฎหมายประกันสังคมของโครงการวิเคราะห์และติดตามร่างกฎหมาย (ThaiLawWatch) ของทีดีอาร์ไอโดยระบุว่า ระบบประกันสังคมในปัจจุบันยังขาดแรงจูงใจให้แรงงานนอกระบบเข้าร่วมระบบประกันสังคมโดยสมัครใจเนื่องจากเงินสมทบจากภาครัฐที่ให้แก่ผู้ประกันตนอยู่ในอัตราที่ต่ำ ขณะเดียวกันที่มาและหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้งคณะกรรมการประกันสังคมในปัจจุบันยังมีลักษณะที่ไม่ครอบคลุม ส่งผลให้ผู้ประกันตนจำนวนมากขาดตัวแทนที่จะเข้าไปเรียกร้องสิทธิและดำเนินงานเพื่อผลประโยชน์ของผู้ประกันตนอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ โครงการวิเคราะห์และติดตามร่างกฎหมาย ได้เสนอแก้ไขปรับปรุงร่างกฎหมายประกันสังคม4ข้อสำคัญ คือ (1) รัฐบาลควรจ่ายเงินสมทบเท่ากับผู้ประกันตนในสิทธิขั้นพื้นฐาน (2) ผู้ประกันตนควรมีสิทธิเลือกตัวแทนฝ่ายผู้ประกันตนโดยตรง (3)ควรมีการควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการของสำนักงานประกันสังคมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และปรับลดการจัดสรรเงินกองทุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารสำนักงาน เช่น จากไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินสมทบในแต่ละปี ให้เหลือไม่เกินร้อยละ 5 เป็นต้น และ(4) ควรมีการออกแบบระบบตรวจสอบที่มีธรรมาภิบาล ได้แก่ การจัดให้มีคณะกรรมการตรวจสอบ ผู้ตรวจสอบบัญชีและผู้ตรวจสอบภายในที่มีความเป็นอิสระ และการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารต่างๆอย่างโปร่งใสต่อสาธารณะ
ซึ่งจากข้อมูลพบว่าประเทศไทยมีจำนวนแรงงานนอกระบบอยู่ถึง 24.6 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานภาคเกษตร 15.1 ล้านคน ซึ่งไม่มีสิทธิเข้าสู่ระบบ จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่าไทยมีแรงงานนอกระบบที่มีสิทธิเข้าสู่ระบบประกันสังคมจำนวน 9.5 ล้านคนแต่ตัวเลขของแรงงานนอกระบบตามมาตรา 40 ที่รายงานโดยสำนักงานประกันสังคมปี พ.ศ. 2554 มีเพียง590,046 คน หรือเพียงร้อยละ 6.21 ของจำนวนแรงงานนอกระบบที่มีสิทธิเท่านั้น เนื่องจากสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ได้รับเป็นสัดส่วนที่น้อย แม้ว่าร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับคณะรัฐมนตรีได้แก้ไขเพิ่มเติมให้รัฐสมทบครึ่งหนึ่งของเงินสมทบจากผู้ประกันตน แต่ยังสร้างแรงจูงใจไม่ได้มากนัก รัฐควรจ่ายเงินสมทบเท่ากับผู้ประกันตนในสิทธิพื้นฐานเป็นอย่างน้อย เพื่อสร้างแรงจูงใจ
ฃด้านนางวรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านประกันสังคม ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยว่า ปัญหาที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ต้องเร่งแก้ไข คือองค์กรขาดความเป็นอิสระเนื่องจากโครงสร้างองค์กรเป็นระบบราชการไม่มีความเป็นอิสระ โดยเฉพาะการใช้เงินกองทุนประกันสังคมอย่างไม่มีประสิทธิภาพ จึงควรมีการปรับปรุง สปส.ให้เป็นองค์กรอิสระ มีการบริหารงานคล่องตัวโดยเฉพาะทางด้านการลงทุนที่จะต้องคำนึงถึงความมั่นคงของกองทุนในระยะยาวเนื่องจากอัตราการจัดเก็บเงินสมทบในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับการจ่ายเงินบำเหน็จและบำนาญชราภาพ
ฃผู้อำนวยการวิจัยด้านประกันสังคมทีดีอาร์ไอ ยังกล่าวอีกว่า ตัวแทนของผู้ประกันตนในคณะกรรมการล้วนมาจากสภาองค์การลูกจ้างซึ่งเป็นแค่ตัวแทนของผู้ใช้แรงงานภาคเอกชนไม่เกิน 3 แสนคนหรือร้อยละ3ของผู้ประกันตนเท่านั้น และถือว่าเป็นสัดส่วนที่ต่ำมากเมื่อเทียบจำนวนผู้ประกันตนอีกกว่า10ล้านคนที่ไม่มีตัวแทนในคณะกรรมการเพื่อดูแลผลประโยชน์ของฝ่ายลูกจ้าง โดยจากบทวิเคราะห์ร่าง พ.ร.บ.ทั้ง4 ฉบับ พบว่า ร่าง พ.ร.บ.เหล่านี้มิได้กำหนดถึงคุณสมบัติและที่มาของผู้แทนฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตนไว้ชัดเจน เพียงแต่เพิ่มจำนวนผู้แทนฝ่ายต่างๆ ให้มากขึ้นจากกฎหมายฉบับเดิมเท่านั้น รวมทั้งเสนอว่า ตัวแทนของผู้ประกันตนควรมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากผู้ประกันตนกว่า10.5 ล้านคนในปัจจุบัน โดยผู้ประกันตนในมาตรา33สามารถเลือกตั้งผ่านสถานประกอบการที่ตนเองสังกัด และผู้ประกันตนในมาตรา39และ 40 สามารถเลือกตั้งได้ผ่านวิธีการที่เข้าถึงได้สะดวก เช่น เลือกตั้งผ่านเว็บไซต์ผ่านจดหมาย หรือที่สำนักงานประกันสังคมประจำจังหวัด เป็นต้น นอกจากนี้ ควรมีการกำหนดคุณสมบัติที่พึงปรารถนาและคุณสมบัติต้องห้ามของผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกเป็นผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนให้เหมาะสม
ฃอย่างไรก็ตาม วงเสวนาเห็นด้วยกับข้อเสนอที่จะให้มีคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานรวมถึงงบประมาณต่างๆ ของ สปส.พร้อมทั้งเสนอแนะให้ตั้งสำนักงานหลักประกันสังคมแห่งชาติ โดยดูแลเฉพาะผู้ประกันตนในมาตรา40ควบคู่ไปกับการศึกษาความเหมาะสมในด้านต่างๆด้วย
ฃ"ปัญหาที่สำนักงานประกันสังคม(สปส.) ต้องเร่งแก้ไขคือ...องค์กรขาดความเป็นอิสระเนื่องจากโครงสร้างองค์กรเป็นระบบราชการไม่มีความเป็นอิสระ โดยเฉพาะการใช้เงินกองทุนประกันสังคมอย่างไม่มีประสิทธิภาพ"
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ วันที่ 15 เมษายน 2556
- 3 views