สำนักงานสาธารณสุขโอคลาโฮมา สหรัฐอเมริกา ประกาศเรียกคนไข้ราว 7,000 คน ที่เคยทำฟันในคลินิกแห่งหนึ่งเข้ารับการตรวจหาเชื้อเอดส์และตับอักเสบด่วน หลังพบเครื่องมือทำฟันสกปรกแถมใช้ซ้ำ
เมื่อวันที่ 28 มีนาคม สำนักงานสาธารณสุขแห่งเมืองทุลซา รัฐโอคลาโฮมา สหรัฐอเมริกา ออกประกาศให้คนไข้ราว 7,000 รายที่เคยเข้ารับบริการทำฟันและอื่นๆ ที่คลินิกศัลยกรรมช่องปากโอคลาโฮมาของทันตแพทย์ ดับเบิลยู. สก็อตต์ แฮร์ริงตัน ให้เข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี, ไวรัสตับอักเสบ ซี และเชื้อไวรัสเอชไอวี หรือเอดส์ โดยคนไข้ทั้งหมดดังกล่าวจะได้รับการตรวจหาเชื้อได้โดยไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่าย ที่ศูนย์เพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีประจำเขตเหนือของสำนักงานสาธารณสุขทุลซา หลังจากที่ เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบสภาพของคลินิกดังกล่าวแล้วพบพฤติกรรมมากมายที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อ ผู้ป่วยที่เข้ารับบริการ
นางเคทลิน สไนเดอร์ โฆษกสำนักงานสาธารณสุข ทุลซา เปิดเผยว่า ทันตแพทย์แฮร์ริงตันยินยอมระงับใบประกอบโรคศิลปะของตนเองและให้ความร่วมมือกับการสืบสวนสอบสวนด้วยดี โดยทางการกำหนดจะเปิดการไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อพิจารณาชี้ขาดว่าจะถอนใบประกอบโรคศิลปะของทันตแพทย์รายนี้เป็นการถาวรหรือไม่ในวันที่ 19 เมษายนนี้ พร้อมกันนั้น นางสไนเดอร์ก็ยอมรับว่า เจ้าหน้าที่ยังไม่แน่ใจว่าพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่างๆ ที่คลินิกแห่งนี้นั้นเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อใด และมีผู้ป่วยที่อาจเป็นอันตรายมากมายแค่ไหน เนื่องจากรายชื่อผู้เข้ารับการรักษามีย้อนหลังกลับไปเพียงแค่ถึงปี 2550 ในขณะที่คลินิกแห่งนี้เปิดบริการมายาวนานถึง 36 ปีแล้ว
ทางด้านคณะกรรมการกำกับดูแลทันตกรรมแห่งโอคลาโฮมา เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ตรวจทั้งในส่วนของชุมชนและในส่วนของรัฐ เข้าไปตรวจสอบคลินิกแห่งนี้หลังจากที่มี ผู้ป่วยรายหนึ่งซึ่งเคยเข้ารับบริการ ถูกตรวจสอบพบว่ามีเชื้อไวรัสตับอักเสบซี และไวรัสเอดส์อยู่ในตัว ทั้งๆ ที่ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงใดๆ พบว่า คลินิกมีพฤติกรรมเสี่ยงที่ไม่ถูกสุขอนามัยหลายต่อหลายอย่าง ตั้งแต่การใช้อุปกรณ์ขึ้นสนิม ซึ่งไม่สามารถฆ่าเชื้อได้ไม่ว่าด้วยกรรมวิธีใดๆ, ไม่มีหลักประกันใดๆ ว่า วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ผ่านการ ฆ่าเชื้อ, ใช้กระบวนการทำความสะอาดที่ไม่ถูกต้อง, ใช้หลอดยาซ้ำหลายครั้งกับผู้ป่วยหลายราย, ใช้ยาหมดอายุ โดยที่ยาหลอดหนึ่งซึ่งพบว่าถูกนำมาใช้ในปีนี้ หมดอายุไปตั้งแต่ปี 2536, อนุญาตให้ผู้ช่วยแพทย์ดำเนินการรักษาที่มีเพียงแพทย์เท่านั้นได้รับอนุญาตให้ดำเนินการ ซึ่งรวมถึงการวางยาผู้ป่วย และไม่มีบันทึกว่าด้วยกระบวนการป้องกันการติดเชื้อภายในคลินิก ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ทั้งไม่ปลอดภัย และไม่ถูกสุขอนามัย ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อสาธารณะ
โฆษกสำนักงานสาธารณสุขทุลซา เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้เคยมีการตรวจสอบพบคดีคล้ายคลึงกันที่รัฐโคโลราโดเมื่อปีที่แล้ว ที่มีการนำเอาเข็มและกระบอกฉีดยามาใช้ซ้ำในคลินิกศัลยกรรมช่องปากแห่งหนึ่ง จนต้องเรียกผู้เคยใช้บริการราว 8,000 คนมาตรวจสอบ แต่ไม่มีข้อมูลว่าพบผู้ติดเชื้อหรือไม่ (เอพี)
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 30 มีนาคม 2556
- 510 views