ยุคนี้สมัยนี้เริ่มดูไม่ออกแล้วว่า "หมอ" กับ "นักการเมือง"สองอาชีพนี้ใครมีดีกรีความเลวร้ายมากกว่ากัน เพราะในอดีตหากประเมินเฉพาะ "ต้นทุนทางสังคม" แพทย์ย่อมที่จะมี "ภาษี"ดีกว่านักการเมืองแน่นอน แต่ด้วยพฤติกรรมของ "นายแพทย์"ที่ใช้การเมืองเพื่อผลประโยชน์ตัวเอง เลยทำให้ตัดสินยาก

ร่ายมาขนาดนี้คงจะหนีไม่พ้นปัญหาวุ่นๆ ใน กระทรวงสาธารณสุข ที่มะรุมมะตุ้ม ยุ่งเหยิงมาแทบทุกยุคทุกสมัย เปลี่ยนรัฐมนตรีมากี่หน ก็ยังเข้าอีหรอบเดิมล่าสุดเมื่อไม่กี่วันก่อน ก็มี"ม็อบหมอชนบท" ที่ประกอบด้วย กลุ่มแพทย์ชนบท โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ชมรมทันตสาธารณสุขภูธรและเครือข่ายทันตแพทย์โรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ ก็นัดกันแต่งดำ รวมตัวชุมนุมประชิดถึงรั้วทำเนียบรัฐบาล ศูนย์กลางอำนาจของประเทศ

เรื่องของเรื่องก็จะมากดดันให้ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี ตะเพิด "หมอประดิษฐ สินธวณรงค์" รมว.สาธารณสุขพ่วงด้วย "หมอณรงค์ สหเมธาพัฒน์" ปลัดกระทรวงสาธารณสุขออกจากตำแหน่ง จากเหตุที่ไม่พอใจแนวนโยบายที่จะมีการปรับเปลี่ยน ด้านการเงิน จากการจ่ายเงินแบบเหมาจ่าย"เบี้ยทุรกันดาร"สำหรับแพทย์ที่ทำปฏิบัติงานอยู่ในชนบท มาเป็นการจ่าย"เบี้ยขยัน"ตามภาระงาน หรือที่เรียกโก้ๆ ตามภาษาฝรั่งว่า"Pay for Performance" ย่อๆ ก็ "P4P"หากติดตามข่าวก็จะรู้ว่า ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่กลุ่มแพทย์ชนบทรวมตัวกันเรียกร้องหรือคัดค้านฝ่ายการเมือง ด้วยอาศัยภาพลักษณ์บุคลากรส่วนใหญ่ที่มีความรู้ สังคมให้การยอมรับ จึงชอบทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่อยู่เสมอ และเมื่อเป็นเรื่องแล้ว ก็มักจะจบไม่ง่ายอย่างสมัยรัฐมนตรีคนเก่า ก็ออกมาแต่งดำ ร่วมกันจุดเทียนประท้วงกันถึงกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเรียกร้องของบประมาณจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ตั้ง 4 พันล้านบาท จนฝ่ายการเมืองเอือมระอากันมาแล้ว

กรณีล่าสุดเรียกว่า"ม็อบหมอชนบท" ที่นำมาโดย"ขาประจำ"ทั้ง"หมออารักษ์ วงศ์วรชาติ" ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชลจ.นครศรีธรรมราช และ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท พร้อมด้วย"หมอเกรียงศักดิ์ วัชระนุกูลเกียรติ" ประธานชมรมแพทย์ชนบทคนปัจจุบัน เดือดดาลหนัก เพราะนอกจากป้ายประท้วงขับไล่ธรรมดาแล้ว ยังขนพร็อพจัดเต็ม ทั้งพวงหรีด โลงศพ หุ่นฟางติดชื่อรัฐมนตรีกับปลัดฯ พร้อมจัดวางดอกไม้จันทน์จุดธูปเทียนเพื่อเผาขับไล่ด้วย

แต่ทว่าฝ่าย "หมอประดิษฐ" ที่กลัดกลุ้ม กังวลมาทั้งสัปดาห์ก็กัดฟันเลือกใช้"ไม้แข็ง" ที่นอกจากจะไม่ออกมารับหน้าเจรจาด้วยแล้ว ยังเสนอหลักการจ่ายเบี้ยตามภาระงาน เข้าสู่ที่ประชุม  ครม.อีกต่างหาก ดัดหลังกันแบบไม่ไว้หน้า ทำเอา "ม็อบหมอชนบท" ไปไม่เป็นเหมือนกัน

ยิ่งมาดูเรื่องพลังมวลชนที่คุยว่าจะขนกันมาเรือนหมื่น แต่ถึงวันจริง กลับมีแค่ไม่กี่ร้อยคน และถ้าสแกนดูกันจริงๆ ก็เห็นว่ามีหมอหรือคนในวิชาชีพสาธารณสุขไม่กี่คน ที่เหลือก็ครอบครัวญาติสนิท มิตรสหาย หรือหนักข้ออย่างที่ถูกซุบซิบนินทา ว่าจ้างมาก็มี

ยังดีที่ในวันนั้นมีมหกรรมม็อบมาพร้อมกัน 5-6 คณะ ทำให้บรรยากาศรอบทำเนียบฯดูคึกคักขึ้นมาบ้าง แต่ด้วยอุณหภูมิที่ร้อนเหยียบ 40 องศา เลยต้องเหี่ยวกลับไป แบบไม่มีอะไรติดไม้ติดมือไปเลย

แต่ไม่วายประกาศว่า จะขับไล่ "หมอประดิษฐ" ออกจากตำแหน่ง หากไม่สำเร็จ จะไม่ยอมหยุด

เหตุอันใดทำให้"ม็อบหมอชนบท" ต้องปลุกมวลชนออกมาอีกครั้ง เพราะหากหยิบยกเรื่องการจ่ายอัตราค่าตอบแทนตามภาระงานขึ้นมาเอ่ยอ้าง ก็ดูจะฟังไม่ขึ้น และคงไม่ต้องถึงขนาดคาดคั้นให้รัฐมนตรีออกจากตำแหน่งให้ได้ เพราะว่ากันตามเนื้อผ้า หลักการของระบบการจ่ายค่าเหนื่อยที่ว่า บุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่ก็ให้การยอมรับ

ว่ากันง่ายๆ ใครทำมากได้มาก ใครทำน้อยได้น้อย ก็เป็นตรรกะที่ถูกต้อง

เพราะต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมา การจ่ายเงินพิเศษ หรือเบี้ยกันดารแก่แพทย์ ก็มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแรงจูงใจให้แพทย์ รวมทั้งบุคลากรสาธารณสุขทั้งหลาย ทำงานอยู่ในชนบทมากกว่าเลือกขอย้ายมาในเมือง หรือโดนเอกชนซื้อตัวไป แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไปหลายแห่งหลุดพ้นกับคำว่า ชนบท กลายไปชุมชนเมือง ก็ควรมีการทบทวน

การมาตั้งข้อห่วงใยว่า หากปรับระบบจ่ายเงินใหม่จะทำให้"คนไข้" ได้รับผลกระทบมากกว่า "หมอ" ก็ดูจะไม่ค่อยมีน้ำหนักเพราะปัจจุบันพฤติกรรมมักง่าย เล่นมุกเดิมๆ"ส่งต่อ" คนไข้ไปให้โรงพยาบาลใหญ่แบบไม่จำเป็น ก็ยังมีให้เห็นกลาดเกลื่อน หรือบรรดาคุณหมอ เอาเวลาไปทุ่มเทกับคลินิกตัวเองมากกว่าโรงพยาบาล ก็มีให้เห็นดาษดื่น

ก็สมเหตุสมผลที่จะมีการรื้อระบบจ่ายเงินตอบแทนกันอีกสักครั้ง

ในความเป็นจริงเรื่องการออกระเบียบการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงานของกระทรวงสาธารณสุขนั้น เป็นเพียง "ข้ออ้าง" ในการออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ เพราะเหตุผลที่แท้จริง ไม่น่าจะใช่เรื่องเบี้ยเลี้ยงที่ว่า

เพราะเมื่อถอดรหัสคำพูดของ "หมอเกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ" แกนนำแพทย์ชนบท ที่ไล่เรียงว่า ที่ผ่านมาการทำงานของ"หมอประดิษฐ" มีปัญหา เริ่มมีการ "รวบอำนาจ" ไว้ที่ตนเอง จนมาถึง "ฟางเส้นสุดท้าย" ในการปรับการจ่ายเงินแบบเหมาจ่ายเบี้ยทุรกันดาร เป็นเบี้ยขยันดังกล่าว

คำว่า"รวบอำนาจ" ที่ว่าก็คงมาจากแนวนโยบายที่"หมอประดิษฐ" เคยประกาศเมื่อครั้งรับตำแหน่งเมื่อ 5 เดือนก่อน ว่าจะ"ปฏิรูป" กระทรวงสาธารณสุข ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมทั้ง"จัดระเบียบ" องค์กรในสังกัดทั้งหลาย ซึ่งแน่นอนย่อมกระทบไปถึง"งบประมาณ" ที่ฝังอยู่อื้อซ่า ให้หน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงหมอเรือนแสนล้าน โดยเฉพาะในคณะกรรมการหรือ"บอร์ดอิสระ" หลายชุด เรื่องนี้ทำให้หมอทั้งหลายในกระทรวงสาธารณสุขเริ่มหวั่นไหวในอนาคตของตัวเอง จำเป็นต้องรีบ"ตัดไฟแต่ต้นลม" จึงไม่แปลกที่จู่ๆ "หมอชนบท" ออกมายื่นคำขาดขอให้ปลด "หมอประดิษฐ"ทันที

สรุปเบื้องหน้าเบื้องหลังก็แค่ออกมาปั่นราคาเรียกมวลชนเตรียมพร้อมปกป้อง "ชามข้าว" ของตัวเองมากกว่า หาใช่ประโยชน์ส่วนรวมไม่

"ในความเป็นจริงเรื่องการออกระเบียบการจ่ายค่าตอบแทน ตามภาระงานของกระทรวงสาธารณสุขนั้นเป็นเพียง "ข้ออ้าง" ในการออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้เพราะเหตุผลที่แท้จริงไม่น่าจะใช่เรื่องเบี้ยเลี้ยงที่ว่า"

ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน วันที่ 29 มีนาคม 2556