ดีเอสไอลุยสอบผุดโรงงานวัคซีนมูลค่า 1.4 พันล้าน ขององค์การเภสัชกรรมมีพิรุธ แค่ออกแบบสร้างต้องทำสัญญากับ 4 บริษัท รวมทั้งจ้าง 2 บริษัทก่อสร้าง 2 อาคารในพื้นที่เดียวกัน
เลขาฯรมต.สธ.ร้องดีเอสไอ
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 28 มีนาคม ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายกมล บันไดเพชร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เข้าพบนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ เพื่อยื่นหนังสือให้ดีเอสไอตรวจสอบกรณีส่อทุจริตขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) จำนวน 2 เรื่อง คือ 1.การก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนที่ ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี วงเงินประมาณ 1,400 ล้านบาท และ 2.การจัดซื้อวัตถุดิบสำหรับการผลิตยาพาราเซตามอลพบว่ามีการปลอมปน
นายกมลกล่าวว่า ต้องการให้ดีเอสไอเข้าไปตรวจสอบ เบื้องต้นพบว่าการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนส่อทุจริตหลายประเด็น เช่น การจ้างบริษัทออกแบบก่อสร้างโครงการเดียว ใช้บริษัทออกแบบถึง 4 บริษัท ทำ 4 สัญญา และจ้างบริษัทที่ก่อสร้างอาคาร 2 แห่ง ในพื้นที่เดียวกันแต่คนละบริษัท จากนั้นเกิดปัญหาว่าแบบที่ออกมาไม่สอดคล้องกัน จึงมีการขอพิจารณาแบบก่อสร้างใหม่ อีก 700 วัน ทำให้การก่อสร้างหยุดชะงัก
เผยขอเปลี่ยนเครื่องทำวัคซีน
"แต่ระหว่างนั้นการสั่งซื้อเครื่องจักรสำหรับใช้ผลิตวัคซีนเชื้อตาย 98 เปอร์เซ็นต์ ได้ดำเนินการส่งเรียบร้อย และไม่ทราบว่าเป็นความคิดใคร ได้เสนอให้การผลิตวัคชีนเชื้อเป็นน่าจะดีกว่า เพราะว่าเวลาเกิดการระบาดใหญ่ จะผลิตวัคซีนจากเชื้อเป็นได้ปริมาณมากกว่าเชื้อตาย ผลของการปรับเปลี่ยนดังกล่าวก่อให้เกิดปัญหาและเรื่องราวที่ค่อนข้างจะซับซ้อนส่อไปในทางทุจริต ที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการสาธารณสุขรวมทั้ง สธ. ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้มาโดยตลอด แต่ไม่ค่อยได้รับเอกสารข้อมูลเท่าที่ควร จึงต้องการให้ดีเอสไอเข้าไปดำเนินการตรวจสอบตามขั้นตอน" นายกมลกล่าว
วัตถุดิบปลอมปนซื้อจากจีน
นายกมลกล่าวอีกว่า กรณีการทุจริตสั่งซื้อวัตถุดิบสำหรับการผลิตยาพาราเซตามอล พบมีการปลอมปนวัตถุดิบที่สั่งซื้อมาจากประเทศจีน โดยองค์การเภสัชกรรมทหารเป็นผู้ตรวจสอบพบหลังจากยืมวัตถุดิบจาก อภ.ไปผลิต จำนวน 10 ตัน จากยอดการสั่งซื้อเมื่อปี 2554 จำนวน 48 ตัน และยังมีการสั่งซื้อเพิ่มในปี 2555 อีก 100 ตัน จากบริษัทเดิมในประเทศจีน จึงตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีการปลอมปนวัตถุดิบเช่นกัน
ดีเอสไอลงตรวจโรงผลิตวัคซีน
ด้านนายธาริตกล่าวว่า ทางดีเอสไอได้รับการประสานและรับหนังสือร้องเรียนอย่างเป็นทางการจาก นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยจะมอบหมายให้นายธานินทร์ เปรมปรีดิ์ ผอ.ศูนย์ป้องกันและปราบปรามทุจริต เป็นผู้รับผิดชอบตรวจสอบ เรื่องดังกล่าวถือเป็นเรื่องสำคัญเพราะเกี่ยวข้องกับสุขภาพของประชาชนโดยตรง ดังนั้นในวันที่ 29 มีนาคม เวลา 13.00 น. ดีเอสไอจะเชิญ นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผอ.องค์การเภสัชกรรม (อภ.) และผู้เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงข้อมูลรายละเอียดทั้งหมด จากนั้นในวันที่ 2 เมษายน จะลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานผลิตวัคซีน รวมทั้งการลงพื้นที่ตรวจสอบสต๊อกยาพาราเซตามอลเพื่อดูมาตรฐานการจัดเก็บวัตถุดิบ
เผยสร้างโรงงานคืบแค่40%
นายธานินทร์กล่าวว่า จากการตรวจสอบเอกสารเบื้องต้น ในส่วนของการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีน เป็นสัญญาก่อสร้างตั้งแต่ปี 2552 ใช้งบประมาณจากเงินรายได้ของ อภ.ทั้งหมด ประมาณ 1,400 ล้านบาท แบ่งเป็นงบก่อสร้างประมาณ 430 ล้านบาท และงบจัดซื้อเครื่องจักรประมาณ 560 ล้านบาท ล่าสุดการก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จเพราะมีปัญหาเรื่องการบริหารงานก่อสร้าง ที่แยกย่อยเป็นหลายสัญญา ส่อพิรุธหลายประการ ทั้งการก่อสร้างอาคารที่แยกเป็น 2 อาคารในพื้นที่เดียวกันและแยกผู้รับเหมาก่อสร้างเป็น 2 ราย ขณะที่การออกแบบก่อสร้างมีการแบ่งเป็น 4 สัญญา 4 บริษัท ทั้งที่ไม่มีความจำเป็น เพราะการก่อสร้างมีลักษณะเดียวกันสามารถออกแบบร่วมกันได้ และยังพบว่าขณะที่การก่อสร้างโรงงานยังไม่แล้วเสร็จ คืบหน้าไปเพียง 40% แต่กลับมีการสั่งซื้อเครื่องจักรมาเก็บไว้แล้ว
จี้ตรวจสอบสเปกเครื่องจักร
นายธานินทร์กล่าวว่า ที่สำคัญพบว่าในสัญญาการก่อสร้าง ได้เปลี่ยนรายละเอียดสำคัญคือจากการสร้างโรงงานผลิตเชื้อตายมาเป็นโรงงานผลิตเชื้อเป็น ต้องใช้เครื่องจักรที่มีเทคโนโลยีแตกต่างกันมาก ต้องตรวจสอบว่าเครื่องจักรที่สั่งซื้อมาแล้วเป็นไปตามสเปกในสัญญาเดิมคือเครื่องจักรสำหรับผลิตเชื้อตายหรือเป็นเครื่องจักรตามสัญญาใหม่คือผลิตเชื้อเป็น ประเด็นดังกล่าวอาจทำให้เกิดข้อสงสัยในการแก้ไขสัญญาใหม่เพื่อเอื้อประโยชน์กับบริษัทเอกชนหรือไม่
ไล่ตรวจสอบงบโครงการ
นายธานินทร์กล่าวต่อว่า ดีเอสไอจะขอให้ ผอ.อภ.และผู้เกี่ยวข้องชี้แจงถึงรายละเอียดสัญญาทั้งหมด เพื่อประกอบการพิจารณาความผิดปกติ โดยเฉพาะกรณีที่มีการแบ่งแยกการก่อสร้างออกเป็นส่วนทั้งที่เป็นโครงการเดียวกัน ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับการแยกงบประมาณ ที่ผูกพันกับอำนาจผู้ลงนามอนุมัติด้วย ดังนั้นดีเอสไอต้องตรวจสอบหลักฐานอำนาจการลงนามและเหตุผลในการแก้ไขสัญญา แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าใครเป็นผู้มีอำนาจลงนามในส่วนใดบ้างเพราะงบประมาณถูกตัดแบ่งเป็นหลายส่วน ต้องตรวจสอบจากหลักฐานเอกสารเป็นหลัก
ตั้งข้อสงสัยอภ.สั่งซื้อวัตถุดิบ
นายธานินทร์กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีจัดซื้อวัตถุดิบสำหรับการผลิตยาพาราเซตามอล พบมีการปลอมปนนั้น เบื้องต้นพบว่า อภ.ได้ขอความร่วมมือให้องค์การเภสัชกรรมทหารช่วยผลิตยาพาราเซตามอล เนื่องจากโรงงานของ อภ.ปิดปรับปรุง จึงได้ตรวจสอบและพบว่าวัตถุดิบที่ อภ.ส่งมาให้ช่วยผลิตยามีการปลอมปนจำนวน 10 ตัน จากยอดสั่งซื้อของ อภ.เมื่อปี 2554 ทั้งหมด 48 ตัน อย่างไรก็ตาม แม้จะพบการปลอมปนจากยอดการสั่งซื้อเดิมแต่กลับพบว่า อภ.ยังคงสั่งซื้อวัตถุดิบจากแหล่งเดิมที่พบว่ามีการปลอมปน อีก 100 ตัน ดังนั้น ดีเอสไอจะต้องตรวจสอบเพื่อให้ทราบว่าวัตถุดิบทั้งหมดมีการปลอมปนจำนวนเท่าใด เพื่อจะได้ตรวจสอบไปถึงผู้จัดซื้อจัดจ้างเนื่องจากการปลอมปนยาถือว่าเป็นความผิดทั้งคดีอาญาและ พ.ร.บ.ยา
รายละเอียดโครงการ1.4พันล.
แหล่งข่าวจากดีเอสไอ เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบเอกสารหลักการดำเนินโครงการจัดตั้งโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก เป็นการอนุมัติตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2550 เห็นชอบในหลักการตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ใช้เงินงบประมาณจากรายได้ของ อภ.ที่จะต้องส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ร้อยละ 35 ต่อปี เป็นเวลา 4 ปี เป็นเงิน 1,411.70 ล้านบาท แยกเป็นค่าใช้จ่าย ดังนี้ 1.ค่าถ่ายทอดเทคโนโลยี 200 ล้านบาท 2.ค่าออกแบบ 102.2 ล้านบาท 3.ค่าก่อสร้างอาคารผลิต บรรจุ คลัง ประกันคุณภาพ อาหารสัตว์ทดลอง และอาคารสนับสนุนกลาง ไฟฟ้า น้ำ สุขาภิบาล จำนวน 431 ล้านบาท 4.เครื่องจักร อุปกรณ์การผลิต ไข่ไก่ฟักปลอดเชื้อ จำนวน 540 ล้านบาท 5.ค่าที่ปรึกษา จำนวน 70 ล้านบาท และ 6.ค่าพัฒนาบุคลากร จำนวน 37.5 ล้านบาท
หมอประดิษฐแจงร้องดีเอสไอ
ด้าน นพ.ประดิษฐกล่าวกรณีมอบหมายให้นายกมลยื่นหนังสือร้องเรียนดีเอสไอ เนื่องจากพบข้อสงสัย 2 ประเด็น คือ 1.การสร้างโรงงานวัคซีนมีความล่าช้า เมื่อขอให้ อภ.ชี้แจงข้อมูลหลายครั้ง แต่ไม่ได้รับการชี้แจงใดๆ อีกทั้งเมื่อมีการตรวจสอบภายในก็ไม่ได้รับผลการสอบสวนที่กระจ่าง และ 2.การสั่งซื้อวัตถุดิบยาพาราเซตามอลที่มีข้อสงสัยในมาตรฐานและในคุณภาพของสารเคมี พบวัตถุดิบหลายล็อตมีปัญหา แต่ยังมีการสั่งซื้อต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการเปลี่ยนวัตถุดิบจากเป็นสารเคมีนำมาผสมเองเป็นแบบพร้อมตอกเม็ดได้ทันทีด้วย รวมทั้งประเด็นของการสั่งวัตถุดิบมาเก็บไว้เป็นเวลานาน
ให้ดีเอสไอสอบเพื่อให้โปร่งใส
"การร้องขอให้ดีเอสไอตรวจสอบ จะทำให้สาธารณชนได้รับทราบว่า สาเหตุของปัญหาเกิดจากอะไร มีการจัดการอย่างถูกต้องหรือไม่ การสอบสวนจะมีผู้เชี่ยวชาญมาเกี่ยวข้อง และตอบคำถามได้ว่า กระบวนการก่อสร้างนั้นผิดปกติจริงหรือไม่ ซึ่งผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญไม่สามารถตอบได้ว่าการเปลี่ยนแบบก่อสร้างกลางคัน หรือการใช้เวลาก่อสร้างล่าช้ากว่ากำหนดเดิม หรือ เรื่องงบประมาณผิดปกติหรือไม่อย่างไร จำเป็นต้องให้ดีเอสไอเข้าไปตรวจสอบจะมีอำนาจทางกฎหมายมากกว่า และเพื่อให้โปร่งใสว่า ผมไม่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง ปล่อยให้เป็นกระบวนการทางกฎหมาย ที่ผ่านมาพยายามขอข้อมูลไปแต่ไม่ได้รับข้อมูล เช่น กรณีโรงงานที่มีปัญหาเรื่องหลังคา ทำให้ช้าไปอีก 6 เดือน และต้องจ่ายเงินเพิ่ม เมื่อถามไปก็ไม่มีคำตอบ การให้ดีเอสไอตรวจสอบจะทำให้ได้ข้อมูลชัดเจนที่สุด" นพ.ประดิษฐกล่าว
แนะตั้งสอบบอร์ดองค์การเภสัชฯ
นพ.ประดิษฐกล่าวว่า หลังจากยื่นเรื่องให้ดีเอสไอตรวจสอบแล้ว กระบวนการตรวจสอบก็จะมีการเรียกผู้เกี่ยวข้องเข้าให้ข้อมูล ส่วนบอร์ด อภ.นั้น ควรตั้งคณะกรรมการตรวจสอบด้วย เพราะเคยตั้งคำถาม ขอคำตอบแล้วแต่มีหลายส่วนที่ตอบข้อสงสัยไม่ได้ มีการชี้แจงว่าหลักฐานบางอย่างไม่มีให้ ทำให้เกิดความไม่ชัดเจน จึงต้องให้หน่วยงานทางกฎหมายเข้าไปใช้อำนาจในการค้นเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่อ้างว่าไม่มี จะช่วยการทำงานให้ชัดเจนขึ้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะต้องให้ผู้อำนวยการ อภ.พักงานชั่วคราวระหว่างการตรวจสอบของดีเอสไอหรือไม่ นพ.ประดิษฐกล่าวว่า ต้องดูรายละเอียดก่อนว่าเป็นอย่างไร แล้วค่อยดูที่ผู้เกี่ยวข้องว่าใครต้องรับผิดชอบ โดย ผอ.อภ.จะยังคงทำงานอยู่ตามปกติ โดยหลักฐานยังไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้อง แต่เมื่อเรื่องสอบสวนไปถึงขั้นตอนว่าใครบ้างที่เกี่ยวข้อง แน่นอนว่า ผู้อำนวยการถือเป็นผู้บริหารสูงสุดในฝ่ายปฏิบัติการ คงต้องมาดูในสุดท้ายว่าทราบหรือไม่ เรื่องเกิดขึ้นได้อย่างไร และมีการแก้ปัญหาอย่างไร เพราะทุกอย่างต้องมาจบที่ผู้อำนวยการ จำเป็นต้องมีคำอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้น หากดำเนินการแก้ไขปัญหามาโดยตลอดก็ต้องสามารถอธิบายได้ และถือไม่มีปัญหาอะไร
ผอ.องค์การเภสัชโต้ข้อพิรุธ
ด้าน นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการ อภ. กล่าวว่า มีข้อมูลทุกอย่างและพร้อมให้ความร่วมมือในการตรวจสอบ เนื่องจากทุกคนปฏิบัติตามหน้าที่ มีหลักฐานการทำงาน อย่างไรก็ตาม ความล่าช้าของโรงงานวัคซีน เป็นโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดนกและไข้หวัดใหญ่นั้น มีปัจจัยหลักๆ คือ ฐานรากของอาคารวัคซีน พบว่าบริเวณใต้ดินมีชั้นหินไม่เท่ากันอยู่ หากมีน้ำป่าไหลมาจะทำให้เสี่ยงเรื่องของฐานรากเกิดการกัดเซาะได้ รวมทั้งจากปัญหาน้ำท่วมที่ผ่านมา ได้มีการเสนอ ครม.ซึ่งอนุมัติให้การก่อสร้างเลื่อนออกไปได้ คาดว่าทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายใน 1 ปี หรือ 1 ปีครึ่ง นอกจากนี้ ปัญหาความล่าช้ายังมาจากการทบทวนแบบตามสัญญาจ้างของบริษัท เนื่องจากต้องปรับเปลี่ยนให้ได้มาตรฐานความปลอดภัยขององค์การอนามัยโลก เพราะวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก ไม่เหมือนวัคซีนทั่วไป ต้องมีความปลอดภัยสูง
อ้างส่งคืนวัตถุดิบมีปัญหาไปแล้ว
"เบื้องต้นจากการทบทวนสัญญาจ้าง บริษัทผู้รับเหมาฯ เสนอ 59 ล้านบาท แต่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีธนบุรีได้เข้ามาช่วย และมีบริษัทญี่ปุ่นให้คำปรึกษาอีก เสนอไว้ 45 ล้านบาท หากพิจารณาอีกครั้ง พบว่าเป็นตัวเลขเหมาะสมก็จะทำหนังสือยืนยันกับบริษัทผู้รับเหมาฯ หากไม่ดำเนินการจะยกเลิกสัญญาทันที" นพ.วิทิตกล่าว และว่า ส่วนกรณียาพาราเซตามอล เคยชี้แจงไปหลายครั้งแล้ว อภ.ได้ว่าจ้างโรงงานเภสัชกรรมทหารผลิตยาพาราเซตามอล 10 ตัน พบว่ามีการปนเปื้อน และได้แจ้ง อภ. ล่าสุดได้ส่งคืนวัตถุดิบหมดแล้ว ซึ่งจะทำการสั่งซื้อจากบริษัทใหม่
ปธ.บอร์ดอภ.พร้อมตั้งสอบ
นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานบอร์ด อภ. กล่าวว่า บอร์ด อภ.ชุดปัจจุบันเพิ่งเข้ามารับหน้าที่เมื่อเดือนธันวาคม 2555 มีการติดตามการทำงานอย่างต่อเนื่องและเพื่อความโปร่งใส จะมีการ ตั้งคณะกรรมการสอบสวนในส่วนของกรณีการสร้างโรงงานที่ล่าช้า และตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ในส่วนของความผิดปกติของสั่งซื้อวัตถุดิบผลิตยาพาราเซตามอล อยู่ระหว่างการหาประธานคณะกรรมการสอบสวนทั้ง 2 ชุด ในส่วนของโรงงานผลิตวัคซีนนั้นพบว่ามีมูลความผิดปกติในเรื่องของความล่าช้า และมีข้อมูลเชื่อมโยงไปถึงตัวบุคคลได้ แต่ขอไม่เปิดเผยรายละเอียด เพราะจะกระทบต่อการสอบสวน จึงขอให้เป็นเรื่องของคณะกรรมการฯ และดีเอสไอที่จะทำหน้าที่ต่อไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 29 มีนาคม 2556
- 10 views