“หมอประดิษฐ” ไม่หวั่นหมอชนบทกดดันนายกฯปู ไล่พ้นเก้าอี้เรื่องปรับวิธีจ่ายค่าตอบแทน บอกหากทำถูกต้องตามระเบียบ ตามกฎหมาย และมีเหตุผลพอก็มาได้เลย ลั่นไม่ขอตรวจสอบการลางาน เชื่อไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน เผยหากวิชาชีพใดยังไม่เข้าใจก็พร้อมจะชี้แจง ยันแค่ปรับวิธีการจ่าย ไม่ใช่ยกเลิก หวังระบบเกิดความยั่งยืน และสร้างแรงจูงใจในการทำงาน
วันนี้ (21 มี.ค.) นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีชมรมแพทย์ชนบทจะนำแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล และเภสัชกร จากโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ทั่วประเทศ มาชุมนุมที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลทุกวันอังคาร เริ่มตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.นี้ เพื่อประท้วงการปรับวิธีการจ่ายค่าตอบแทนและกดดัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ถอดถอน นพ.ประดิษฐ ออกจากตำแหน่ง ว่า การมาชุมนุมในครั้งนี้ หากมีเหตุผลและดำเนินการอย่างถูกต้องตามระเบียบราชการและกฎหมายก็สามารถทำได้ตามสิทธิ ไม่จำเป็นต้องตรวจสอบว่าได้ลางานอย่างถูกต้องหรือไม่ เพราะผู้บังคับบัญชาแต่ละระดับหรือฝ่ายบริหารจะมีการตรวจสอบความถูกต้องของการลาอยู่แล้ว และคงไม่มีแพทย์ที่จะปล่อยให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน
นพ.ประดิษฐ กล่าวอีกว่า หลังจากทำการชี้แจงเรื่องการปรับวิธีการจ่ายค่าตอบแทนไปแล้ว ถ้ากลุ่มแพทย์ชนบทและทุกวิชาชีพมีความเข้าใจ ก็น่าจะเคารพในเหตุผล หรือหากยังไม่เข้าใจ ตนก็พร้อมชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกว่า เป็นการปรับปรุงวิธีการจ่ายค่าตอบแทนเท่านั้น ไม่ใช่การยกเลิก และต้องการพัฒนาระบบให้มีความยั่งยืน ไม่ต้องใช้วิธีของบประมาณเป็นครั้งคราว รวมไปถึงต้องการลดความเหลื่อมล้ำของวิชาชีพลง และกระตุ้นสร้างแรงจูงใจในการทำงานตามหลักการจ่ายแบบภาระงาน (P4P) ซึ่งหากใครทำงานมากก็จะได้รับค่าตอบแทนมาก
“ในฐานะ รมว.สาธารณสุข มีนโยบายให้มีการปรับปรุงหลักการจ่ายค่าตอบแทน ส่วนวิธีการหรือการเปลี่ยนแปลงพื้นที่และจัดกลุ่มโรงพยาบาลใหม่ เป็นหน้าที่ของข้าราชการประจำ แต่ขอย้ำว่า ในพื้นที่จำเป็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พื้นที่ห่างไกล ชายแดน พื้นที่ภูเขา พื้นที่เกาะ ยังคงเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายไว้ไม่มีการตัดแต่อย่างใด” รมว.สาธารณสุข กล่าว
นพ.ประดิษฐ กล่าวด้วยว่า สำหรับการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ดสปสช.) ในวันที่ 25 มี.ค.นี้ จะมีการพิจารณาการนำงบค่าตอบแทนจาก สธ.โอนไปไว้ในงบของค่าเหมาจ่ายรายหัว เพื่อให้งบส่วนนี้เป็นงบประจำที่บุคลากรทางการแพทย์จะได้รับ ไม่ต้องรอขออนุมัติเป็นครั้งคราว ซึ่งเชื่อว่าระบบจะยั่งยืนขึ้น และในวันที่ 26 มี.ค.คาดว่าจะนำเรื่องการปรับเปลี่ยนวิธีการจ่ายค่าตอบแทนเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อขออนุมัติใช้ระเบียบการจ่ายค่าตอบแทนใหม่ของ สธ.ซึ่งขณะนี้กำลังเร่งดำเนินการให้เสร็จทันในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อให้สามารถเริ่มใช้ระเบียบการจ่ายค่าตอบแทนใหม่ในวันที่ 1 เม.ย.นี้ เนื่องจากหากใช้ไม่ทันในปีนี้ การจ่ายค่าตอบแทนในปีหน้าก็จะต้องขออนุมัติงบประมาณใหม่อีก ซึ่งไม่แน่ใจว่าหลักเกณฑ์จะได้รับความเห็นชอบจากกรมบัญชีกลางหรือไม่ แต่ระเบียบดังกล่าวที่เตรียมนำเสนอกรมบัญชีกลางได้เห็นชอบด้วยเรียบร้อยแล้ว
ที่มา : www.manager.co.th
- 13 views