บอร์ดการแพทย์แก้ปัญหา รพ.ประกันสังคมผลักภาระรักษาผู้ประกันตนที่ป่วยเป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงให้ รพ.สังกัด ร.รงแพทย์ หากค่ารักษาเกินงบที่กำหนด รพ.ประกันสังคมต้องจ่ายเงินส่วนต่างเอง เสนอ สปส.ใช้ระบบจ่ายค่ารักษาตามกลุ่มโรคร้ายแรงไปจนถึงเดือนส.ค.นี้ ก่อนสรุปผลเดือนก.ย.ใช้ต่อปีหน้าหรือยกเลิกไปใช้รูปแบบเดิม
นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ในการประชุมคณะกรรมการการแพทย์ของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้พิจารณาเรื่องการจ่ายค่ารักษาพยาบาลในระบบประกันสังคมที่จ่ายตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (ดีอาร์จี) เช่น โรคมะเร็ง โรคไต โรคปอด โดยจ่ายตามระดับความรุนแรงของโรค (RW) หากมีค่า RW ระดับ 2 ให้จ่ายอยู่ที่ระดับละ 15,000 บาท เริ่มใช้ในปี 2555 เป็นปีแรก และสปส.จัดงบรองรับไว้ 4,460 ล้านบาท
โดยที่ประชุมเห็นว่า หากผู้ประกันตนมีอาการป่วยของโรคอยู่ที่ระดับ RW 2 โรงพยาบาลที่ผู้ประกันตนมีบัตรรับรองสิทธิอยู่ต้องการรักษาเอง ก็ให้ได้รับค่ารักษาในอัตรา RW ละ 11,500 บาท ถ้าส่งต่อผู้ประกันตนไปให้โรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงซึ่งเป็นคู่สัญญา (Supra Contractor) เช่น โรงพยาบาลสังกัดโรงเรียนแพทย์ช่วยรักษาต่อ โรงพยาบาลคู่สัญญาที่รับรักษาจะได้ค่ารักษา RW ระดับละ 15,000 บาท หากค่ารักษาเกินกว่าวงเงินที่ สปส.กำหนดไว้ เช่น ผู้ป่วยเป็นโรคปปอดมีอาการ RW ระดับ 5 สปส.จ่ายให้ 75,000 บาท แต่ค่ารักษาจริงเป็นเงิน 100,000 บาท โรงพยาบาลระบบประกันสังคมซึ่งเป็นผู้ส่งต่อผู้ประกันตนจะต้องเป็นผู้จ่ายเงินต่างค่ารักษา 30,000 บาท ให้แก่โรงพยาบาลคู่สัญญาเอง ให้ สปส.จัดประชุมชี้แจงโรงพยาบาลระบบประกันสังคม โรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลสังกัดโรงเรียนแพทย์ในวันที่ 21 มีนาคมนี้ ที่สปส.
นพ.สมเกียรติ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังเห็นว่าการกำหนดค่าดีอาร์จีในแต่ละกลุ่มโรค ซึ่งกำหนดไว้เท่ากันหมด โดยหากมีอาการ RW ระดับ 2 ให้จ่ายอยู่ที่ระดับละ 15,000 บาท ควรพิจารณาปรับอัตราใหม่โดยเป็นไปอย่างยืดหยุ่น เพื่อให้เหมาะสมกับระดับความรุนแรงของโรคและค่าใช้จ่ายในการรักษาที่เป็นจริง ไม่ใช่กำหนดไว้ตายตัวที่ระดับละ 15,000 บาท เพื่อให้โรงพยาบาลที่รักษาไม่ต้อองแบกรับภาระค่ารักษาในกรณีค่ารักษาเกินกว่าวงเงินที่ สปส.กำหนดไว้ ซึ่งคณะกรรมการจะไปศึกษาในเรื่องนี้ เพื่อให้ได้ตัวเลขที่เหมาะสม
"คณะกรรมการแห็นว่า การจ่ายค่ารักษาแบบดีอาร์จีเป็นระบบที่ดีและเสนอให้ สปส.ใช้ต่อไปอีก 6 เดือน หรือจนถึงเดือนสิงหาคมนี้ และระหว่างนี้ก็ประเมินว่าระบบนี้มีปัญหาอะไรบ้างที่จะต้องแก้ไข หลังจากนั้นช่วงเดือนกันยายนนี้ คณะกรรมการการแพทย์จะพิจารณาว่าควรใช้ระบบนี้ต่อไปปีหน้าหรือควรยกเลิกไปใช้รูปแบบการจ่ายแบบเดิม" ประธานบอร์ดสปส.กล่าว
--คมชัดลึก ฉบับวันที่ 19 มี.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 23 views