หวั่นเปิดช่องต่างชาติถือหุ้น 70% หนุน รพ.เอกชน กล้าทุ่มซื้อตัวหมอ ซ้ำเติมปัญหาขาดแคลนแพทย์หนัก
นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท เปิดเผยว่า การเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนซื้อหุ้นในโรงพยาบาลเอกชนของไทยได้มากขึ้น ภายใต้ความตกลงว่าด้วยบริการของอาเซียน(AFAS) ตามข้อผูกพันการเปิดตลาดชุดที่ 8 ที่จะมีผลบังคับใช้ภายหลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) จะทำให้โรงพยาบาลเอกชนมีความเข้มแข็งและลงทุนจ่ายค่าตอบแทนแพทย์มากขึ้นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์สุดท้ายจะทำให้แพทย์ในโรงพยาบาลรัฐกระจายไปอยู่ในโรงพยาบาลเอกชนจนหมด จากเดิมที่ประเทศไทยก็ขาดแคลนแพทย์ในการดูแลคนไทยอยู่แล้ว
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า การปล่อยให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในโรงพยาบาลเอกชน ภายใต้สัดส่วนที่มากขึ้น จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างการรักษาชาวไทยและชาวต่างชาติอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ ปัญหาระบบสาธารณสุขในประเทศถือว่ามีมากอยู่แล้ว ตั้งแต่เรื่องการเข้าถึงบริการ หรือคุณภาพการรักษาพยาบาล โดยรัฐบาลควรจัดระบบและแก้ปัญหาของตัวเองให้ดีก่อน มากกว่าที่จะไปเน้นเรื่องการเพิ่มศักยภาพเชิงธุรกิจเพื่อนำเงินเข้าประเทศเพียงอย่างเดียว
พญ.ภาวนา อังคสิทธิ์ ผู้อำนวยการกองสนับสนุนบริการสุขภาพอาเซียน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ข้อผูกพันฉบับที่ 8 ได้ลงนามไปตั้งแต่ปลายปี2555 ที่เมืองพนมเปญ ประเทศกัมพูชาโดยข้อตกลงได้กำหนดสัดส่วนการถือหุ้นโรงพยาบาลของชาวต่างชาติในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แบ่งออกเป็นโรงพยาบาลเอกชนทั่วไป สามารถเข้ามาถือหุ้นได้ไม่เกิน 70% ส่วนโรงพยาบาลเฉพาะทาง ถือหุ้นได้ไม่เกิน 49%
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเชื่อว่าภายหลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี2558 แล้ว การเปลี่ยนแปลงจะเป็นไปในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 18 มีนาคม 2556
- 43 views