"กองทุนประกันสังคม" เริ่มมีการตั้งกองทุนชราภาพและเก็บเงินออมกรณีชราภาพเมื่อเดือนธันวาคมปี 2541 และมีการจ่ายเงินประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพในรูปแบบของ "เงินบำเหน็จชราภาพ" ให้แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 ครั้งแรกในปี 2542 ซึ่งตั้งแต่ปี 2542-2555 มีผู้ประกันตนได้รับเงินบำเหน็จชราภาพทั้งหมด 940,190 คน คิดเป็นเงินทั้งหมด 22,212 ล้านบาท และในปี 2556 สปส.ได้ประมาณการจะมีผู้ประกันตนได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ 114,250 คน คิดเป็นเงินทั้งหมด 6,670 ล้านบาท
หลังจากนั้นในปี 2557 สปส.จะเริ่มจ่ายเงินบำนาญชราภาพเป็นครั้งแรกและได้ประมาณการจะมีผู้ประกันตนได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ 122,860 คน เป็นเงิน 8,190 ล้านบาท เงินบำนาญชราภาพ 3,250 คน เป็นเงิน 80 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 8,270 ล้านบาท ถัดมาปี 2567 มีผู้ประกันตนได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ 121,860 คน เป็นเงิน 11, 060 ล้านบาท เงินบำนาญชราภาพ 817,680 คน เป็นเงิน 41,960 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 53,020 ล้านบาท
ต่อมาปี 2577 เป็นปีที่เงินกองทุนมียอดสะสมสูงสุด 4.59 ล้านล้านบาท มีผู้ประกันตนได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ 69,950 คน เป็นเงิน 22,370 ล้านบาท เงินบำนาญชราภาพ 3,301,680 คน เป็นเงิน 422,230 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 444,600 ล้านบาท และปี 2587 กองทุนชราภาพอยู่ในภาวะติดลบ มีผู้ประกันตนได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ 42,800 คน เป็นเงิน 26,330 ล้านบาท เงินบำนาญชราภาพ 6,274,960 คน เป็นเงิน 1,842,440 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 1,868,770 ล้านบาท
นายอารักษ์ พรหมณี รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกสปส. กล่าวว่า จากการประมาณการของสปส.ว่าในปี 2587 หรืออีก 31 ปีข้างหน้ากองทุนชราภาพจะอยู่ในภาวะติดลบนั้น คณะกรรมการ (บอร์ด) ประกันสังคมจึงได้ตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาและกำหนดแนวทางการจ่ายสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพเพื่อหาแนวทางสร้างเสถียรภาพให้แก่กองทุนชราภาพในระยะยาว
เบื้องต้นคณะอนุกรรมการเสนอไว้ 6 มาตรการได้แก่ 1.การปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบยืดอายุกองทุน 47 ปี 2.การขยายอายุเกษียณผู้ประกันตนยืดอายุกองทุน 38 ปี 3.การขยายระยะเวลาการส่งเงินสมทบยืดอายุกองทุน 34 ปี 4.การปรับฐานค่าจ้างเฉลี่ยที่ใช้ในการคำนวณบำนาญ ยืดอายุกองทุน 33 ปี 5.มาตรการผสมโดยใช้ทางเลือกที่ 1 บวก 3 ยืดอายุกองทุน 59 ปี และ6.มาตรการผสมโดยใช้ทางเลือก 1+2+3+4 ทำให้กองทุนชราภาพมีเสถียรภาพนานถึง 73 ปีโดยแต่ละมาตรการจะต้องเริ่มต้นไม่ช้ากว่าปี 2560 และปีสุดท้ายของการประมาณการคือปี 2629
"สปส.ตั้งเป้าหมายจะสรุปมาตรการแก้ปัญหากองทุนชราภาพติดลบในอนาคตให้ได้ภายในปีนี้ แล้วจะนำมาตรการดังกล่าวไปจัดเวทีประชาพิจารณ์เพื่อขอความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาล นายจ้างและลูกจ้าง รวมทั้งนักวิชาการเพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับกับมาตรการที่จะนำมาใช้แก้ปัญหาเพราะการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกี่ยวกับระบบประกันสังคมมีผลกระทบต่อผู้ประกันตนและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ หลังจากนั้นได้ข้อสรุปจากการเวทีประชาพิจารณ์แล้ว จะเสนอข้อสรุปเข้าสู่บอร์ดสปส. เมื่อบอร์ดสปส.มีมติเกี่ยวกับมาตรการออกมาแล้ว ก็เสนอเรื่องเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.)" โฆษกสปส. กล่าว
น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า การแก้ปัญหากองทุนชราภาพติดลบในอนาคตนั้น ควรให้แรงงานในฐานะผู้ประกันตนได้มีส่วนร่วมกำหนดมาตรการ โดยส่วนตัวเห็นว่าควรใช้หลายๆ มาตรการ เช่น การเพิ่มอัตราจัดเก็บเงินสมทบและเพิ่มเงินสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพให้สอดคล้องกับอายุของผู้ประกันตนแบบขั้นบันได โดยเริ่มที่อายุ 51 ปีไปจนถึง 55 ปี การบริหารจัดการกองทุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การนำเงินกองทุนประกันสังคมไปลงทุนให้ได้ผลกำไรเพิ่มขึ้น แต่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของนักวิชาการที่ขอให้สปส.ขยายอายุการเกิดสิทธิได้รับเงินสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพจากปัจจุบันอยู่ที่ 55 ปีบริบูรณ์ไปเป็น 60 ปีบริบูรณ์
นายกิตติ จงฝังกลาง วัย 38 ปี พนักงานทั่วไปห้างหุ้นส่วนจำกัดเอกซ์เปอร์ไทส์ซัพพลาย กรุงเทพฯ บอกว่า ทำงานมานานแล้วและปีนี้เข้าสู่ปีที่ 18 ได้รับเงินเดือนทั้งหมด 17,000 บาทและส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตามมาตรา 33 มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ หรืออีก 17 ปีข้างหน้า เมื่อเกษียณอายุการทำงานจะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ
"แม้รุ่นผมจะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพแน่นอน แต่ก็เป็นห่วงอนาคตกองทุนชราภาพที่จะอยู่ในภาวะติดลบ เท่าที่ได้เห็นมาตรการแก้ปัญหา ผมคิดว่าสปส.ควรใช้ทุกมาตรการมาผสมผสานกันและนำเงินไปลงทุนในธุรกิจที่มีความเสี่ยงน้อย แต่มีความมั่นคงและได้กำไรพอสมควร" นายกิตติ บอกทิ้งท้าย
คงต้องดูกันต่อไปว่า สปส.จะวางมาตรการแก้ปัญหาอนาคตกองทุนชราภาพที่จะอยู่ในภาวะติดลบอย่างไร!! สิ่งสำคัญควรเร่งวางมาตรการแก้ปัญหาแต่เนิ่นๆ ภายใน 1-3 ปีนี้ เพื่อความสบายใจของผู้ประกันตนและไม่ให้เกิดความวุ่นวายในอนาคตได้
--คมชัดลึก ฉบับวันที่ 15 มี.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 107 views