ปัจจุบันประเทศไทยมีแพทย์ที่ปฏิบัติงานอยู่ประมาณ 3 หมื่นคน เทียบกับจำนวนประชากรไทยขณะนี้ประมาณ 64 ล้านคน หรือเรียกได้ว่า แพทย์ 1 คน จะต้องดูแลประชากร ที่วันหนึ่งอาจต้องเข้าใช้บริการทางการแพทย์ถึง 2 พันคน ยังไม่นับรวมประชากรแฝง อย่างคนต่างด้าวหรือชาวต่างชาติที่เดินทางมาใช้บริการทางการแพทย์ในประเทศไทยที่มีจำนวนมากขึ้นทุกปี
โดยสัดส่วนของแพทย์ต่อประชากรที่สมดุลและมีการดูแลอย่างทั่วถึงนั้น จะต้องมีแพทย์ 1 คนต่อประชากร 500 คน หมายความว่าในจุดสมดุลไทยจะต้องมีแพทย์ 1.2 แสนคน และยังมีความต้องการแพทย์เพิ่มอีกกว่า 9 หมื่นคน
ถึงแม้คณะแพทยศาสตร์จะเป็นคณะฮอตฮิตของเด็กที่เรียนสายวิทยาศาสตร์มาโดยตลอด แต่กลับถูกจำกัดด้วยจำนวนที่นั่ง ในมหาวิทยาลัย ซึ่งมีเพียง 20 แห่งที่ เปิดรับ ทำให้การผลิตแพทย์มีความขาดแคลน อย่างไรก็ดี รัฐได้เข้ามาดูแลปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรม ขณะที่มหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนได้ขยายแนวทางในการเพิ่มจำนวนนักศึกษาให้มากขึ้น
ทุ่ม 4 หมื่นล้านผลิต 9 พันคน
เมื่อ 18 ธ.ค. 2555 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ดำเนินโครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทยปี 2556-2560 เพื่อผลิตแพทย์ให้เพียงพอต่อความต้องการด้านบริการการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ แก้ปัญหาการกระจายแพทย์ตามภูมิภาค โดยมีเป้าหมายผลิตแพทย์เพิ่ม 5 รุ่น จำนวน 9,039 คน ประกอบด้วยโครงการผลิตแพทย์เพิ่ม โดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) 4,038 คน และโครงการผลิตแพทย์ชนบทเพิ่ม ภายใต้ความร่วมมือของ ศธ. และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) 5,001 คน จากการผลิตแพทย์ตามแผนปกติที่มีอยู่เดิม 4,780 คน
เมื่อรวมแล้วเป็นการผลิตแพทย์ 13,819 คน และได้อนุมัติงบประมาณกว่า 4 หมื่นล้านบาทสำหรับการผลิตแพทย์เพิ่มให้กับสถาบันฝ่ายผลิตแพทย์ สธ. และโรงพยาบาลที่ผ่านการรับรองจากแพทยสภา
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 12 ก.พ.ที่ผ่านมา ครม.ได้เห็นชอบงบประมาณกว่า 4 พันล้านบาท สำหรับโครงการก่อสร้างศูนย์การแพทย์พร้อมระบบสาธารณูปโภคของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ในการสร้างอาคารศูนย์การแพทย์ให้บริการทางการแพทย์เฉพาะทาง เพื่อรองรับการบริการที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
ม.รัฐเปิดหลักสูตรเพิ่ม
ในปีการศึกษา 2556 มีมหาวิทยาลัยรัฐ 2 แห่งที่เริ่มเปิดหลักสูตรด้านการแพทย์ แห่งแรกคือมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ที่เพิ่งเปิดสำนักวิชาแพทยศาสตร์ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้
"รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ" อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เปิดเผยว่า ในหลักสูตรดังกล่าวจะเปิดรับนักศึกษารุ่นแรก 32 คน หากมีความพร้อมด้านการเรียนการสอนมากขึ้นก็จะรับเพิ่มเป็น 48 คน และ 60 คนตามลำดับ โดยมหาวิทยาลัยจะเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาสามารถประกอบอาชีพรับผู้ป่วยต่างชาติและผู้ป่วยเขตร้อนด้วย
"ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการขอ งบประมาณรัฐบาลประมาณ 2.3 พันล้านบาท เพื่อก่อสร้างโรงพยาบาลขนาด 400 เตียง เพื่อรองรับการฝึกงานของนักศึกษา และใช้เป็นงบประมาณจัดหาอาจารย์และบุคลากร ระหว่างนี้ได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ และโรงพยาบาลกลางของกรุงเทพมหานคร สำหรับเป็นสถานที่ฝึกปฏิบัติให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 5-6 ไปก่อน"
เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่ในระหว่างการเตรียมเปิดสอนหลักสูตรแพทยศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษ เป็นแห่งแรกของประเทศ โดยมีแผนจะรับนักศึกษาจำนวน 30 คนในปีการศึกษา 2556
นอกจากนี้ สภามหาวิทยาลัยยังได้อนุมัติให้มีการจัดตั้งวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติ
ในปี 2558 เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และเปิดสอนหลักสูตรแพทยศาสตร์นานาชาติ คาดว่าจะรับนักศึกษาปีละ 40 คน โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักคือนักศึกษาจากประเทศตะวันออกกลาง และจะมีการจัดสรรทุนการศึกษาให้แก่นักศึกษาจากประเทศลาว, เวียดนาม และกัมพูชาด้วย
มหา'ลัยเอกชนขยับเปิดแห่งที่ 2
สำหรับมหาวิทยาลัยเอกชนที่เปิดวิทยาลัยแพทยศาสตร์มา 24 ปี อย่างมหาวิทยาลัยรังสิต ผลิตแพทย์ไปแล้วกว่า 1,200 คน โดยนักศึกษาที่จบไปส่วนใหญ่เลือกทำงานในโรงพยาบาลของรัฐ โดยในปีนี้มีแผนรับ นักศึกษาแพทย์เพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา จากเดิม 100 คน เป็น 130 คน
"ผศ.ดร.นเรฏฐ์ พันธราธร" รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาเราได้ทำความร่วมมือกับสถาบันร่วมผลิตแพทย์ กรมการแพทย์ เพื่อส่งนักศึกษาไปฝึกปฏิบัติ ในโรงพยาบาล เช่น โรงพยาบาลราชวิถี และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติ มหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก) ปีนี้จึงขยาย ความร่วมมือกับโรงพยาบาลเลิดสิน เพิ่มเติม และมีการเปิดรับนักศึกษาเพิ่ม โดยมีค่าเทอมของวิทยาลัยแพทยศาสตร์ตกปีละ 4.5 แสนบาท
และล่าสุดปีนี้มหาวิทยาลัยสยามได้เปิดตัวคณะแพทยศาสตร์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งที่ 2 ที่เปิดสอนในคณะดังกล่าว
"ดร.พรชัย มงคลวนิช" อธิการบดีมหาวิทยาลัยสยาม เล่าว่า ทางมหาวิทยาลัยต้องการผลิตแพทย์เข้ามารองรับความต้องการของประชาชน โดยเฉพาะคนที่อยู่พื้นที่ต่างจังหวัด อีกทั้งการเปิดประชาคมอาเซียนจะทำให้คนจากประเทศอาเซียนเข้ามาใช้บริการสาธารณสุขในไทยมากขึ้น
"เราร่วมมือกับโรงพยาบาลตำรวจในการเป็นสถาบันร่วมผลิตแพทย์ ซึ่งมีประสบการณ์การสอนกว่า 20 ปี กับการฝึกนักศึกษาแพทย์ให้กับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยมหิดล และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้ตั้งเป้ารับนักศึกษารุ่นแรก 48 คน มีค่าเทอมอยู่ที่ 5 แสนบาทต่อปี"
"พล.ต.ท.น.พ.จงเจตน์ อาวเจนพงษ์" นายแพทย์ใหญ่ (สบ 8) โรงพยาบาลตำรวจ ให้มุมมองเกี่ยวกับการผลิตแพทย์ ว่า ประเทศไทยควรเปลี่ยนนโยบายด้านการผลิตแพทย์ที่ยึดติดกับสถาบันการศึกษาของรัฐ และไม่เชื่อมั่นในมาตรฐานภาคเอกชน
"จากผลการสอบใบประกอบโรคศิลปะ พบว่าอัตราการสอบได้ของนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเอกชนเทียบเท่าหรือมากกว่านักศึกษาจากภาครัฐบาล ซึ่งเห็นว่าควรมีความร่วมมือกัน เพราะภาครัฐมีบุคลากรที่มีความสามารถ ขณะที่ภาคเอกชนก็มีเงินลงทุนและการบริหารจัดการที่ดี ถ้ามารวมกันก็จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ ช่วยเหลือประเทศชาติได้"
อาจเป็นทางเลือกและทางรอดของประเทศที่จะช่วยผลิตแพทย์ให้มากขึ้น เพื่อรองรับด้านสาธารณสุขของคนไทยที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นทุกปี
ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 14 - 17 มี.ค. 2556
- 164 views