การรุกคืบเพื่อรวบอำนาจในระบบสุขภาพโดยฝ่ายการเมืองเป็นไปอย่างมีจังหวะ
นโยบายปรับโครงสร้างหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)ของ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข (สธ.) ซึ่งได้รับแรงหนุนสำคัญจาก นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดสธ. เร้าให้ฉุกคิดคำถามคือมีวาระซ่อนเร้นหรือไม่นั่นเพราะโครงสร้างใหม่ที่จะเริ่มใช้ในเดือน พ.ค.นี้ไม่เพียงแต่ปฏิรูปหน่วยงานสังกัด สธ.เท่านั้น แต่กลับ ครอบคลุมการทำงานองค์กรอิสระด้านสุขภาพที่ก่อนหน้านี้ถูกแยกอำนาจออกมาจากสธ.ด้วย
คำถามที่ตามมา ... นี่เป็นความพยายามรวบอำนาจเก่าคืนต้นสังกัดหรือไม่
เริ่มตั้งแต่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ที่มีการเพิ่มตำแหน่งรองเลขาธิการขึ้นจากเดิมอีก 2 อัตรา หนึ่งคือ นพ.อรรถสิทธิ์ กาญจนสินิทธ์ อดีต สส.ขอนแก่น พรรคไทยรักไทย อีกหนึ่งคือ นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ อดีตผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สปสช.ซึ่งมีฝ่ายการเมืองสนับสนุนเกิดข้อวิพากษ์ถึงความคลุมเครือในสายสัมพันธ์
ถัดมาไม่นานมีคำสั่งลดทอนอำนาจการเบิกจ่ายเงินของ "ผู้อำนวยการสำนัก" ใน สปสช. ขึ้นอีกฉบับ เดิมทีผู้อำนวยการสำนักสามารถอนุมัติเงินและการพัสดุ ได้ไม่เกิน 1 ล้านบาท แต่ปัจจุบันถูกจำกัดให้เหลือเพียง 1 หมื่นบาทหากเกิน 1 หมื่นบาทรองเลขาธิการ ซึ่งเลขาธิการได้ให้อำนาจไว้จะเป็นผู้อนุมัติ
แหล่งข่าว สปสช. อธิบายว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นการปรับโครงสร้างตามปกติเพื่อแก้ปัญหาเรื่องวิจารณญาณของผู้อำนวยการเขตในการเลือกอนุมัติที่แตกต่างกัน ตามที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเคยทักท้วง
ทว่า ข้อกังขาเรื่องการรวมศูนย์เบิกจ่ายไว้กับบุคคลที่ฝ่ายการเมืองวางไว้ยังคงมีอยู่
ขณะที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) ล่าสุดก็ถูกลดทอนอำนาจลงเช่นกัน เมื่อวันที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมา สธ. มีนโยบายปรับเปลี่ยนภารกิจ สพฉ. โดยลดบทบาทลงเหลือเพียงการทำหน้าที่ดูแลมาตรฐาน ติดตาม ควบคุมและบังคับใช้ พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติเท่านั้น
ขณะที่อำนาจเดิม อาทิ การสั่งการรถพยาบาล การเปิดสายด่วนการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 รวมถึงการประสานเครือข่ายอาสาและมูลนิธิ และการจัดการภัยพิบัติ สธ.จะเป็นผู้ดูแลเองทั้งหมด
พร้อมกันนี้ เตรียมจะถอดตรา สพฉ. ออก และเปลี่ยนเป็นสัญลักษณ์ของ สธ. แทน
ที่ผ่านมา สพฉ. ทำงานมีประสิทธิภาพ วัดผลจากการให้บริการสิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉิน เหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง และอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี2554
สังคมจึงเพรียกหาคำอธิบายที่มีน้ำหนักต่อการตัดสินใจทางนโยบายในครั้งนี้
นอกจากนี้ นพ.ประดิษฐ ยังมีนโยบาย "จัดกลุ่มบริหาร" โดยดึงหน่วยงานสังกัด สธ. และองค์กรอิสระด้านสุขภาพ ที่มีภารกิจคล้ายคลึงกันมาจัดเป็นกลุ่มเพื่อบริหารร่วมมีรองปลัด สธ. ดูแล
น่าจับตาที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งถูกมัดรวมไว้กับกรมควบคุมโรคและกรมอนามัย
นี่เป็นการคุมทิศทางโดย สธ. ภายใต้คำสั่งการเมืองหรือไม่ นั่นเพราะ สสส. เป็นขุมทรัพย์ขนาดใหญ่ที่หลายฝ่ายจับจ้อง
ด้านสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ก็มีคนใกล้ชิด นพ.ประดิษฐ อย่าง นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เข้ามาเป็นผู้อำนวยการคนใหม่
ล่าสุด นพ.ประดิษฐ ยังจะตั้งคณะกรรมการพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) มากำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การสาธารณสุขของประเทศ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
ทั้งๆ ที่ขณะนี้มีคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) ซึ่งมีโครงสร้างในลักษณะเดียวกันทำหน้าที่ครอบคลุมกว่า เพราะมีภาควิชาการ ประชาชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่แล้ว
การตั้ง คสช. ขึ้นมาใหม่จึงทั้งซ้ำซ้อนและไม่ก่อประโยชน์ต่อการบริหารงานภาพรวม
ประเมินกันว่า อนาคตอันใกล้สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) จะประสบชะตากรรมในลักษณะเดียวกัน ด้วยเป็นหน่วยงานหลักใช้การันตีมาตรฐานโรงพยาบาลเอกชน ก่อนเข้าสู่เมดิคัลฮับเต็มรูปแบบ
ทั้งหมดคือข้อกังขาที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 12 มีนาคม 2556
- 9 views