กลุ่มลูกจ้างทำงานบ้านร้องกระทรวงแรงงานผลักดันเข้าระบบประกันสังคมมาตรา 33 หวังรับสิทธิประโยชน์เหมือนแรงงานทั่วไป โอดทำงานหนัก ไม่เป็นเวลา จี้แก้กฎเพิ่มสวัสดิการ เช่น กำหนดชั่วโมงทำงานชัดเจน เพิ่มค่าโอที ด้านไอแอลโอจี้รัฐเร่งคุ้มครองอาชีพทำงานบ้านให้มีมาตรฐาน
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 มี.ค. ที่โรงแรมเจ้าพระ ยาปาร์ค ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ กระทรวงแรงงาน มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ ร่วมกับองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) จัดแถลงข่าว "ลูกจ้างทำงานบ้านและการบังคับใช้กฎกระทรวงฉบับใหม่" โดยมีกลุ่มคนทำงานบ้านกว่า 100 คนเข้าร่วมรับฟัง
นายอนุสรณ์ ไกรวัตนุสสรณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การบังคับใช้กฎกระทรวงฉบับที่ 14 ว่าด้วยแรงงานทำงานบ้าน ซึ่งเริ่มประกาศเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 แม้จะไม่ได้เป็นไปตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 189 ที่กำหนดว่าแรงงานทำงานบ้านทั่วโลกจะต้องได้รับสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานเท่าเทียมกับแรงงานประเภทอื่นๆ ทั้งหมด แต่ก็ถือว่ามีความแตกต่างจากในอดีตที่แรงงานกลุ่มนี้ไม่ได้รับการคุ้มครองเลย เนื่องจากบางส่วนยังติดในเรื่องข้อกฎหมาย ทำให้ไม่ได้รับสิทธิเหมือนแรงงานทั่วไป เช่น ค่าจ้าง 300 บาท ที่ไม่ได้ครอบคลุมถึงแรงงานทำงานบ้าน เพราะไม่ได้สังกัดในสถานประกอบการ
"นอกจากค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันแล้ว เรื่องค่าใช้จ่ายรายวันในกลุ่มแรงงานทำงานบ้านก็ไม่ต้องเสีย เช่น ค่าที่พัก ค่าเดินทาง ค่าอาหารและค่ารักษาพยาบาล แต่แรงงานทั่วไปต้องจ่ายเอง ซึ่งถ้าต้องการจะให้กฎกระทรวงฉบับนี้ครอบคลุมสวัสดิการดังกล่าวก็ต้องใช้ระยะเวลา เพราะเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดอยู่พอสมควร" นายอนุสรณ์กล่าว
นางเนลีนส์ ฮาสเปล ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านมิติหญิงชายขององค์การไอแอลโอ กล่าวว่า กฎกระทรวงฉบับนี้ของไทยถือเป็นก้าวสำคัญในการคุ้มครองสิทธิของคนทำงานบ้านที่ไม่มีนายจ้างเป็นนิติบุคคล โดยเฉพาะเรื่องที่ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานทำงานบ้านทุกคนซึ่งส่วนมากเป็นผู้หญิง เช่น ค่าจ้างขั้นต่ำ ค่าล่วงเวลาหรือเงินชดเชย ช่วงเวลาการทำงานที่ชัดเจน วันหยุด การลาคลอด การถูกล่วงละเมิดทางเพศ เป็นต้น
ด้านนางสมร พาสมบูรณ์ ตัวแทนลูกจ้างทำงานบ้าน กล่าวว่า อาชีพทำงานบ้านเป็นงานที่หนักมาก เพราะทำตั้งแต่ 7 โมงเช้าถึง 4 ทุ่ม แต่ไม่มีค่าล่วงเวลาหรือโอที ค่าจ้างขั้นต่ำก็ยังน้อยกว่ากฎหมายคุ้มครองแรงงาน การทำงานบ้านนั้นไม่เป็นเวลา แม้ว่ากฎหมายจะบังคับใช้แล้ว แต่ก็อยากกำหนดเรื่องชั่วโมงเวลาการทำงานอย่างชัดเจน หากต้องการให้ทำงานล่วงเวลาก็ต้องจ่ายเพิ่ม และการที่จะให้คนทำงานบ้านที่มีนายจ้างไปเข้าประกันสังคมมาตรา 40 ซึ่งเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ คิดว่ายังไม่เป็นธรรม เพราะเราทำงานมีนายจ้างชัดเจน จึงอยากเข้าประกันสังคมมาตรา 33 เหมือนลูกจ้างทั่วไป
"ขอเรียกร้องให้กระทรวงแรงงานเปิดช่องทางให้แรงงานทำงานบ้านทั้งคนไทยและต่างด้าวได้เข้าสู่ระบบประกันสังคมที่ได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับลูกจ้างในโรงงาน เพื่อความเป็นธรรมที่แท้จริง และอยากให้กระทรวงแรงงานช่วยประชาสัมพันธ์ให้นายจ้างทุกคนรับรู้และเข้าใจถึงกฎกระทรวงฉบับใหม่นี้ เพราะยังมีนายจ้างบางส่วนไม่รู้ว่ามีการออกกฎกระทรวงฉบับนี้" นางสมรกล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้ตรากฎกระทรวง ฉบับที่ 14 ว่าด้วยแรงงานทำงานบ้าน ซึ่งออกตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เพื่อให้ความคุ้มครองแก่แรงงานทำงานบ้านทุกคนในประเทศไทย โดยครอบคลุมทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว ซึ่งกฎกระทรวงฉบับนี้กำหนดว่าแรงงานทำงานบ้านทุกคนสมควรได้รับสิทธิต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย คือ
1.วันหยุดสัปดาห์ละ 1 วัน 2.วันหยุดตาม ประเพณี/นักขัตฤกษ์จำนวน 13 วัน ทุกปี 3.ค่า จ้างสำหรับการทำงานล่วงเวลาในกรณีทำงานในวันหยุด และ 4.สามารถลาป่วยโดยได้รับค่าจ้าง นอกจากนี้ แรงงานยังมีสิทธิได้รับเงินกรณีถูกเลิกจ้างอีกด้วย อนึ่ง กฎหมายห้ามจ้างบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีเข้าทำงาน
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 11 มีนาคม 2556
- 152 views