บุคคลที่ทำงานแล้วทุกคน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานในระบบ หรือแรงงานนอกระบบ ก็คงจะคุ้นเคยกับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) และกองทุนต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการออมเงินเพื่ออนาคตเป็นอย่างดี เพราะเรามีหน้าที่ต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนทุกเดือนๆ เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนในกรณีต่างๆ
สิทธิประโยชน์ที่แรงงานได้รับอยู่ในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันสังคม พ.ศ.2535 โดยมาตรา 33 และ 39 ระบุถึงแรงงานในระบบหรือแรงงานของสถานประกอบการ ส่วนมาตรา 40 ระบุถึงแรงงานนอกระบบ
โดย ม.40 ครอบคลุมผู้ประกันตนที่มีอายุระหว่าง 15-60 ปี ไม่เป็นลูกจ้างสถานประกอบการเอกชน และมีความครอบคลุม 2 รูปแบบ คือ รูปแบบที่ 1.ผู้ประกันตนจะได้สิทธิประโยชน์ ทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพและค่าทำศพ สิ้นสุดสมาชิกภาพก็ต่อเมื่อลาออกหรือเสียชีวิต รูปแบบที่ 2.ผู้ประกันตนจะได้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นจากรูปแบบที่ 1 ในเรื่องบำเหน็จชราภาพ โดยจะได้รับเงินก้อนเมื่ออายุครบ 60 ปี และถือเป็นการสิ้นสุดสมาชิกภาพ
นอกจากนี้ยังมี พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) พ.ศ.2554 ที่ตั้งขึ้นเพื่อให้มีการออมสำหรับดำรงชีพยามแก่ของประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อสร้างความมั่นคงในบั้นปลายชีวิตของประชาชน ที่แม้จะประกาศในราชกิจจานุเบกษามาแล้วตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2554 แต่ยังไม่ได้เปิดรับสมัครสมาชิกกองทุนเพราะติดขัดเรื่องระบบลงทะเบียนและการจัดการ
ทำให้ตอนนี้ กระทรวงการคลัง และกระทรวงแรงงาน ได้หารือและเห็นว่า การดำเนินงานของ กอช.และ สปส.มีการจัดสวัสดิการด้านชราภาพให้แก่แรงงานนอกระบบเช่นกัน รวมทั้งการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อทำหน้าที่ใกล้เคียงกันต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงทั้งการดำเนินงาน การจัดการเรื่องระบบและบุคลากร ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนจึงมีความคิดในการบูรณาการ กอช.เข้ากับ สปส.
อนุสรณ์ ไกรวัตนุสสรณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงแนวทางการบูรณาการงานระหว่าง กอช.และกองทุนประกันสังคมว่า จะเป็นการเพิ่มรูปแบบใน ม.40 อีก 1 ทาง คือ เป็นรูปแบบที่ 3 ให้ความคุ้มครองเฉพาะกรณีชราภาพ โดยผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ 100 บาทต่อเดือน และรัฐเพิ่มให้ 100 บาท และจะได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพเป็นเงินบำนาญหรือบำเหน็จเมื่ออายุ 60 ปี ซึ่งผู้ประกันตนสามารถสมัครเข้าแผนใดแผนหนึ่งหรือเข้าแบบ 1+3 หรือ 2+3 ได้
"การบริหารจัดการภายหลังโอนงานของ กอช.มาให้ สปส.แล้วนั้น จะใช้ทรัพยากรของ สปส.ทั้งบุคลากร สถานที่และระบบเทคโนโลยีเพื่อประหยัดงบประมาณ รวมทั้งทำให้ประชาชนสะดวกในการทำธุรกรรมเกี่ยวกับสวัสดิการสังคม เพราะ สปส.มีสำนักงานอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ" อนุสรณ์บอก และว่า โดยจะเปิดให้มีการรับสมัครผู้ประกันตน ม.40 รูปแบบที่ 3 ผ่านทางสำนักงานของ สปส.ทุกแห่ง ให้เจ้าหน้าที่ สปส.ที่ทำงานในเรื่อง ม.40 มาปฏิบัติงานของ กอช.ด้วย รวมทั้งโอนย้ายพนักงานและลูกจ้างของ กอช.มาเป็นบุคลากรของ สปส. ส่วนเรื่องของงบประมาณคงเหลือของ กอช.ที่มีอยู่ 677 ล้านบาทนั้นจะต้องส่งคืนคลังและทาง สปส.จะเสนอของบตามขั้นตอนต่อไป
"การเดินหน้าในเรื่องนี้เป็นการนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดและเป็นประโยชน์ต่อแรงงานนอกระบบ ไม่ใช่การปฏิเสธนโยบายของพรรคอื่นตามที่มีการวิจารณ์ แม้ว่า พ.ร.บ.การออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 จะเกิดในสมัยรัฐบาลอื่นที่ไม่ใช่รัฐบาลเพื่อไทย แต่เราต้องกล้าปรับปรุงหากเห็นว่าเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาต่อไปในอนาคต" อนุสรณ์กล่าวทิ้งท้าย
ด้านนักวิชาการอย่าง วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านหลักประกันทางสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า เรื่องการโอนงานของ กอช.มาให้ สปส.นั้นต้องมองแยกเป็น 2 เรื่อง คือ 1.เรื่องการเก็บเงินเข้ากองทุน ซึ่งหากมอง สปส.นั้นจะพบว่ามีระบบการจัดเก็บเงินที่เป็นระบบ มีประสิทธิภาพอยู่แล้ว หากโอนงานในส่วนนี้ไปก็จะทำให้ประหยัดอัตรากำลังคนและลดต้นทุนเรื่องระบบการเก็บเงินไปได้ 2.เรื่องของการบริหารกองทุน คิดว่าไม่ควรนำเงินจำนวนนี้ไปให้ สปส.บริหาร แต่ควรคิดระบบใหม่ที่ดีกว่าเดิม เนื่องจาก สปส.ดูแลเงินของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และ 39 ซึ่งเป็นลูกจ้างของสถานประกอบการเท่านั้น แต่งานของ กอช.เป็นการดูแลเงินจำนวนมากที่เป็นของคน 2 ใน 3 ของคนทั้งประเทศ อีกทั้งกรรมการของ สปส.ก็เป็นตัวแทนนายจ้าง ลูกจ้างและภาครัฐ ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่ใช่ตัวแทนของประชาชน 2 ใน 3 ของประเทศอย่างแน่นอนจึงควรแยกการบริการเงินออกจากกัน
วรวรรณบอกต่อไปว่า ในอนาคตควรแยกเงินในส่วนของเงินชราภาพ บำนาญ ออกมาจาก สปส.ให้ออกมาร่วมกับ กอช.เพื่อเป็นระบบบำนาญของคนทั้งประเทศ เพื่อให้คุ้มครองคนทั้งประเทศ เพราะทุกคนควรมีหลักประกันยามแก่ชรา
"ตอนนี้หากมองในเรื่องการสมทบเงินของรัฐบาลจะเห็นว่าเกิดความลักลั่นกันอยู่เพราะเงินสมทบ 1 เปอร์เซ็นต์ที่รัฐบาลให้ สปส.นั้นเป็นเงินสงเคราะห์บุตร แต่สำหรับ กอช.รัฐบาลกลับสมทบให้ถึง 1 เท่าตัว ซึ่งรัฐบาลควรทำตรงนี้ให้เท่าเทียมกัน ให้ประชาชนทุกคนอยู่ในระบบบำนาญของประเทศและได้เงินสมทบจากรัฐบาลในอัตราที่เท่ากัน"
สุจิน รุ่งสว่าง ประธานศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งชาติ กล่าวว่า ความจริง กอช.นั้นมีความพร้อมอยู่แล้ว เพราะมีพระราชบัญญัติรองรับแล้วรวมทั้งมีบุคลากร สถานที่และระบบเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงการประกาศรับสมัครสมาชิกกองทุนเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่แรงงานนอกระบบกำลังรอคอยอยู่ ซึ่งหากกระทรวงแรงงานต้องการเพิ่มทางเลือกของ ม.40 เป็นทางเลือกที่ 3 ก็ควรทำแยกไปต่างหาก ส่วนของ กอช.ก็ดำเนินงานต่อไปเพื่อไม่ให้ประชาชนเสียโอกาสไม่ควรนำมายุบรวมกัน
"การนำ กอช.รวมกับ สปส.นั้นก็เราไม่ได้คัดค้านหรือไม่เห็นด้วยแต่อย่างใด เพียงแต่การยุบรวมกันต้องใช้เวลาในการแก้ไขกฎหมายแก้ข้อบังคับ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้เสียเวลาในการเปิดรับสมาชิกไปอีก คนที่ตั้งตารอจะออมเงินก็อายุเพิ่มขึ้นๆ ก็เสียโอกาสไปเรื่อยๆ" สุจินกล่าว และว่า ตอนนี้เรากำลังดำเนินการสองทางควบคู่กันไปคือ 1.เดินหน้าเรียกร้องและกดดันให้รัฐบาลเปิดรับสมัครสมาชิก กอช.โดยเร็วที่สุด 2.ทางเครือข่ายบำนาญ กำลังรวบรวมข้อมูลและหลักฐานเพื่อดูว่าจะสามารถฟ้องร้องได้หรือไม่
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 22 มิถุนายน 2556
- 12 views