นายกรัฐมนตรี ชี้ผู้หญิงยังมีความเหลื่อมล้ำ-เป็นเหยื่อความรุนแรง เชื่อกองทุนพัฒนาสตรีช่วยเพิ่มโอกาสของสตรี ขณะที่"สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจสตรี" ยื่น 3 ข้อเรียกร้อง จี้จัด"สวัสดิการ-ประกันสังคม- แรงงานชายลางานไปดูแลบุตรได้"
ทุกวันที่ 8 มีนาคม ได้กำหนดให้เป็นวันสตรีสากล ซึ่ง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิธีเปิดงาน สตรีไทย พลังสร้างสรรค์ประเทศไทย โดยกล่าวว่า สตรีไทยจะเห็นว่ามีโอกาสมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง แต่ก็ยังมีความเหลื่อมล้ำของโอกาส และยังมีสตรีไทยอีกจำนวนมากที่เป็นเหยื่อของความรุนแรง ในอีหลายรูปแบบ ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และกำหนดให้เป็นนโยบายในการพัฒนาบทบาทสตรี ซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วนที่จะตอบโจทย์ให้กับประชากรครึ่งประเทศของไทยในเรื่องของการพัฒนา ที่จะส่งผลต่อการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศในภาพรวมเช่นกัน
นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ เชื่อว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้การพัฒนาบทบาทสตรีมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น ทั้งในส่วนของการพัฒนาและแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเห็นความเท่าเทียบกันในสังคม ทั้งเรื่องของสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมโอกาสให้สตรีมีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
"ความคืบหน้าของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ได้มีการตั้งคณะกรรมการกองทุนในระดับชาติ และในระดับจังหวัด ระดับตำบลเรียบร้อยแล้ว มีความก้าวหน้าเป็นที่น่าพอใจ เพราะ มีทั้งหน่อยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และเครือข่ายสตรีอยู่ทั่วประเทศเกือบ 100,000 ราย ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญ ในการขับเคลื่อนงานพัฒนาบทบาทสตรี โดยมีผู้ที่ได้เข้าร่วมกองทุนไปแล้วกว่า 50,000 ราย" นางสาว ยิ่งลักษณ์ กล่าว
ขับเคลื่อนสตรีให้มีสุขภาพดี
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า เนื่องในวันสตรีสากล ขอประกาศเจตนารมณ์อันแนวแน่น ร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง อย่างกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ) และกระทรวงมหาดไทย ที่จะจัดทำแผนงานรวมกัน ให้เป็นของขวัญในวันสตรีสากล โดยจะขับเคลื่อนงานพัฒนาสตรีในด้านต่างๆ เช่น การพัฒนาสตรีให้มีสุขภาพดี ซึ่งจะสร้างอาสาสมัครในการตรวจมะเร็งเต้านม 1 ล้านคนภายในเดือนมิถุนายนนี้
และจะขยายผลไปยังสตรีไทยกว่า 16 ล้านคน หรือ ร้อยละ 80 ของสตรีที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงในสามารถตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง นอกจากนี้จะพัฒนาสตรีไทยให้รอบรู้และทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ด้วยการมีศูนย์เรียนรู้เทคโนโลยีไม่น้อยกว่า 10,000 แห่งทั่วประเทศ และจะผลักดันให้สตรีใช้ระบบนอินเทอร์เน็ต ด้วยการขายของออนไลน์ และตั้งศูนย์พัฒนาสตรีสู่อาเซียนจำนวน 22 ศูนย์ เพื่อให้สตรีได้พัฒนาตัวเองและได้เรียนรู้ภาษาต่างๆในอาเซียน รวมถึงตั้งศูนย์ one stop service ที่จะให้บริการเด็ก สตรี คนชรา และคนพิการ ที่ให้บริการทุกกลุ่มในจุดด้วย โดยจะเชิญชวนเจ้าหน้าที่ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคมมาช่วยกันทำงาน
ด้าน นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า แม้ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จะมีการพัฒนาโอกาสและบทบาทของสตรีในด้านต่างๆ มากขึ้น แต่ในสภาพความเป็นจริงของสังคม ยังคงพบเห็นความด้อยและความเหลื่อมล้ำในเชิงโอกาสของสตรีปรากฏอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตรีในระดับท้องถิ่น ที่ต้องเผชิญกับอุปสรรคในการแสวงหาโอกาสและความก้าวหน้าที่พึงได้รับ จนบางครั้งนำไปสู่การเอารัดเอาเปรียบ หรือแม้แต่การ ถูกละเมิดสิทธิสิทธิขั้นพื้นฐานของตนเอง พม.ได้ตระหนักและเล็งเห็นความสำคัญที่จะส่งเสริมโอกาส และความก้าวหน้าของสตรีไทย โดยเชื่อมั่นว่า การรวมพลังของสตรีและบุรุษจะนำไปสู่การขจัดความไม่เท่าเทียมทางเพศให้หมดสิ้นไป"
กลุ่มสตรีเรียกร้องจัดสวัสดิการ
วันเดียวกัน ตัวแทนสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี ได้เข้าพบน.ส.ศันสนีย์ นาคพงศ์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือและข้อเรียกร้อง 3 ข้อ แก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดย น.ส.ศันสนีย์เป็นตัวแทนรับหนังสือดังกล่าว จากนั้น รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า รัฐบาล โดยการนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัวเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะทำอะไรจะโยงไปถึงเรื่องดังกล่าวเสมอ และทุกเรื่องที่ยื่นผ่านตัวแทนที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ก็ขอให้มั่นใจว่านายกฯจะได้พิจารณาช่วยเหลืออย่างจริงจัง
น.ส.ศันสนีย์ กล่าวว่า ขอให้ทราบว่าเรามีความตั้งใจในการทำงาน และพยายามอย่างต่อเนื่อง ส่วนข้อเรียกร้องต่าง ๆ อยู่ระหว่างการดำเนินการ ทั้งการขอให้ สามีไปดูแลบุตร ซึ่งนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว. แรงงาน ได้ออกหนังสือขอความร่วมมือไปยังบริษัทเอกชนต่างๆ ให้แรงงานชายสามารถลางานไปดูแลบุตรได้ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ส่วนเรื่องการปรับปรุงระบบประกันสังคม ขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างรอการพิจารณาในสภา และการเรียกร้องในวันนี้ก็จะเป็นกระบอกเสียง ให้เรื่องดังกล่าวดำเนินการเร็วขึ้น
นอกจากนี้ได้เรียกร้องให้รัฐบาลจัดสวัสดิการและการประกันสังคม ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้หญิงทำงาน 3 ข้อ 1.เพิ่มจำนวนศูนย์เลี้ยงเด็กในพื้นที่อุตสาหกรรมและชุมชน รวมทั้งปรับคุณภาพบริการให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้หญิงทำงาน
2 .เพื่อให้รัฐบาลรับรองในอนุสัญญา องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 183 เรื่องการคุ้มครองความเป็นมารดา หรือนำหลักการของอนุสัญญานี้มาดำเนินการโดยเร็ว โดยให้แรงงานชายสามารถ ลางานไปดูแลบุตรได้ และ 3 .เพิ่มมิติผู้หญิงในระบบประกันสังคม โดยขยายสิทธิประกันสังคมให้ครอบคลุมคนทำงานทุกกลุ่ม เพิ่มสิทธิประโยชน์และอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงบริการด้านสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ ที่สำคัญ มีสำนักงานประกันสังคมที่เป็นอิสระและกำหนดสัดส่วนหญิงชายที่เท่าเทียมกันในคณะกรรมการประกันสังคม รวมถึงให้ความสำคัญกับการป้องกันก่อนเกิดโรค
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 9 มีนาคม 2556
- 93 views