กระทรวงสาธารณสุขไทย และสหราชอาณาจักร หารือความร่วมมือด้านการแพทย์และการสาธารณสุข โดยสนใจร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขในการเฝ้าระวังโรค และการเตรียมการเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินทางการแพทย์ และพร้อมสนับสนุนนโยบายให้นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษซื้อประกันสุขภาพการเดินทางก่อนเข้าไทย เพื่อความสะดวกในการรักษาพยาบาล พร้อมสนับสนุนในวงการทูตนานาประเทศด้วย
วันที่ 8 มีนาคม 2556 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) จ.นนทบุรี นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ภายหลังให้การต้อนรับนายมาร์ค แอนดรูว์ เจฟฟรีย์ เคนท์ (H.E. Mr. Mark Andrew Geoffrey Kent) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทยและคณะ ว่า ในวันนี้ ได้มีการหารือความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศไทยและสหราชอาณาจักร เกี่ยวกับกลไกการเฝ้าระวังโรคติดต่อ การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ จุดยืนของกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอไทยกับยุโรป และการดูแลสุขภาพคนต่างด้าว
สำหรับเรื่องการดูแลสุขภาพคนต่างด้าว กระทรวงสาธารณสุข มีแผนรองรับการดูแลสุขภาพคนต่างด้าวในอนาคต โดยแยกกลุ่มคนต่างด้าวที่เข้ามาในประเทศไทยเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่อยู่ตามชายแดน โดยเรียกเก็บเงินเป็นรายครั้ง เพราะหากขายประกันสุขภาพจะมีความเสี่ยงสูง 2.กลุ่มแรงงานต่างด้าวและผู้ติดตาม จะขายประกันสุขภาพในราคาถูก และกลุ่มผู้ลี้ภัยเช่น ชาวโรฮิงญา รัฐบาลไทยจะให้การดูแลด้านการแพทย์และสาธารณสุขตามหลักมนุษยธรรม โดยจัดระบบการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคด้วย และ 3.กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยรัฐบาลอังกฤษได้เห็นด้วยกับนโยบายที่กระทรวงสาธารณสุขจะให้มีการซื้อประกันสุขภาพการเดินทาง (Travel Insurance) เพื่อความสะดวกในการรักษาพยาบาล และลดภาระค่าใช้จ่ายของสถานทูตอังกฤษที่ต้องให้การดูแลหากเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุระหว่างอยู่ในประเทศไทย โดยสหราชอาณาจักรยินดีที่ไทยได้มีการรณรงค์การสวมหมวกกันน๊อคในผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ สหราชอาณาจักรยังมีการประชาสัมพันธ์การสวมหมวกกันน๊อคให้แก่นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษอีกด้วย
สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุชาวอังกฤษที่มาพำนักอยู่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพในไทย กระทรวงสาธารณสุขจะส่งเสริมให้ซื้อประกันสุขภาพของภาคเอกชนหรือภาครัฐ โดยอัตราค่าประกันสุขภาพของภาครัฐในกลุ่มผู้สูงอายุ จะแตกต่างจากผู้ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงเจ็บป่วยสูง จึงต้องปรับอัตราเบี้ยประกันต่างกันให้เหมาะสมตามความเสี่ยงทางสุขภาพที่จะเกิดขึ้น นอกจากนี้ สหราชอาณาจักรยังได้กล่าวถึงความสนใจในการวิจัยร่วมกันเชิงเทคนิคของวัคซีนมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทยด้วย
- 1 view