เมื่อวันที่ 6 มีนาคม พญ.สร้อยสอางค์ พิกุลสด ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย กล่าวในการประชุมวิชาการงานบริการโลหิตระดับชาติ ครั้งที่ 21 ประจำปี 2556 ว่า หลังจากที่ประสบปัญหาโลหิตขาดแคลนในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ปรากฏว่า ในช่วงปีใหม่ได้รับความร่วมมือประชาชนในการเข้าบริจาคโลหิตจำนวนมาก ทำให้มีโลหิตมากถึง 12,000 ยูนิต ใช้เวลาถึง 2 เดือนในการบริหารจัดการให้มีโลหิตในสต๊อก 4,000-5,000 ยูนิต ซึ่งขณะนี้สภากาชาดไทยมีโลหิตสต๊อก 4,000 ยูนิต ไม่เคยมีสต๊อกมาเช่นนี้มาก่อน ในจำนวนโลหิตดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นโลหิตกรุ๊ปบี อาจเป็นเพราะคนเลือดกรุ๊ปนี้แข็งแรงและมาบริจาคเยอะ แต่ขาดแคลนโลหิตกรุ๊ปเอ โดยในจำนวน 4,000 ยูนิต มีกรุ๊ปเอ เพียง 400-500 ยูนิตเท่านั้น

"โลหิตที่ได้รับบริจาคจะมีการตรวจโดยเทคโนโลยีการตรวจหาสารพันธุกรรมทางชีววิทยาระดับโมเลกุล (Nucleic Acid Amplification Technology : NAT) เพื่อตรวจหาการติดเชื้อในโลหิต ซึ่งในส่วนที่ดำเนินการโดยสภากาชาดฯเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 34 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 64 ในปี 2555 ส่วนที่ดำเนินการที่โรงพยาบาล เพิ่มจากร้อยละ 12 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 15 ในปี 2555 เมื่อรวมทั้ง 2 ส่วนสามารถตรวจได้ถึงร้อยละ 80 เพิ่มจากเดิมที่ตรวจได้ร้อยละ 42 อย่างไรก็ตาม ยังมีที่ไม่ได้ตรวจอีกร้อยละ 20 เท่ากับยังมีความเสี่ยงที่จะมีการระบุว่าผู้ป่วยได้รับเลือดที่เสี่ยง ในอนาคตสภากาชาดฯพร้อมที่จะรับดำเนินการตรวจให้ได้ 100%" พญ.สร้อยสอางค์กล่าว

ในงานเดียวกัน มีการนำเสนอ เรื่อง NAT Testing โดยศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติและภาคบริการโลหิตแห่งชาติ ระบุว่าการตรวจคัดกรองโลหิตโดยวิธี NAT ระหว่างปี 2552-2555 ที่ตรวจโดยศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติและภาคบริการโลหิตแห่งชาติ จำนวน 3,758,833 ยูนิต ตรวจพบโลหิตที่ให้ผลบวกอย่างน้อยเอชไอวี จำนวน 34 ราย หรือ 1 ต่อ 110,000 ตับอักเสบซี จำนวน 11 ราย หรือ 1 ต่อ 340,000 และตับอักเสบบี จำนวน 1,489 ราย หรือ 1 ต่อ 25,000

ทั้งนี้ จำนวนการตรวจพบการติดเชื้อโดยวิธี NAT ของแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน พบว่าภาคบริการโลหิตแห่งชาติ จ.เชียงใหม่ ตรวจพบเอชไอวีและตับอักเสบบีจำนวนสูงกว่าภาคอื่น ขณะที่ภาคบริการโลหิตแห่งชาติในจังหวัดภาคใต้ มีการติดเชื้อในจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับภาคอื่น และการเพิ่มการตรวจคัดกรองโลหิตบริจาคโดยวิธี NAT มีส่วนสำคัญในการป้องกันการแพร่ระบาดของการติดเชื้อจากการให้โลหิตแก่ผู้ป่วย โดยศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติจะขยายการให้บริการด้านการตรวจ NAT ไปที่ภาคบริการโลหิตแห่งชาติ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยสูงสุดแก่โลหิตบริจาคทั่วประเทศ

ที่มา : นสพ.มติชน วันที่ 7 มีนาคม 2556