28 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา พี่น้องเอ็นจีโอและเครือข่ายภาคประชาชนกว่า1,000 คนได้ร่วมกันแสดงพลังเดินกราบไหว้ฟ้าดินและปักหลักชุมนุมกันที่ทำเนียบตลอดวัน
"ทริปส์พลัส" คือเหตุผลใหญ่ที่ทำให้พวกเรามารวมตัวกันได้มากมายเช่นนี้ประชาชนอย่างเราอยู่นิ่งๆ ไม่ได้แน่ครับก็ในเมื่อรัฐบาลซึ่งกำลังจะเดินทางไปแสดงเจตจำนงว่าต้องการจะทำข้อตกลงการค้าเสรี เอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรปที่ประเทศเบลเยียมในวันที่ 4 มีนาคมนี้ และในท่าที ที่ต้องการทำ "เอฟทีเอ"ครั้งนี้สิ่งที่น่าห่วงอย่างยิ่งคือ จุดยืนที่อยากช่วยกลุ่มทุน ธุรกิจส่งออก โดยอาจจะ"ยอมรับข้อผูกพันด้านทรัพย์สินทางปัญญามากไปกว่าที่ผูกพันในองค์การการค้าโลก" เพื่อแลกกับ การลดหย่อนภาษี นำเข้าสินค้าไปสหภาพยุโรปผมเน้นคำว่า "ทรัพย์สินทางปัญญา" เป็นพิเศษ เพราะแค่เรื่อง "สิทธิบัตร"อย่างเดียวก็แย่แล้วครับ เนื่องจากการเจรจาเอฟทีเอรอบนี้ สหภาพยุโรปหรืออียูขอขยายอายุการคุ้มครองสิทธิบัตรออกไป อย่างน้อย 5 ปี (เดิมที่เราทำข้อตกลงกับองค์การการค้าโลกไว้คือ 20 ปี) และขอผูกขาดข้อมูลการขึ้นทะเบียนตำรับยา (data ex clusivity) อีกด้วย หากรัฐบาลไทยยอมรับข้อเสนอของอียูก็จะทำให้เกิดการผูกขาดยา ราคายาจะแพงขึ้น มีงานวิจัยพบว่าถ้าปล่อยให้มีการผูกขาด ข้อมูลการขึ้นทะเบียนตำรับยาตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 (ซึ่งเป็นปีที่ทำการศึกษา) จะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาของไทยในอีกห้าปี ข้างหน้า(พ.ศ.2556) สูงถึง 81,356 ล้านบาทต่อปี
และแน่นอนครับว่า...หากค่าใช้จ่ายด้านยาสูงขึ้น ระบบสิทธิด้านสุขภาพไม่ว่าจะเป็นบัตรทอง ประกันสังคม หรือ ราชการก็อาจจะแบกรับภาระค่ายาที่สูงขึ้นไม่ไหว ใครเจ็บ ใครป่วย ก็คงต้องควักกระเป๋าจ่ายเอง ใครไม่มีเงินจ่ายค่ายาก็ต้องเตรียมรับชะตากรรมที่จะเกิดขึ้นครับ
ความกังวลข้อนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้เคยทำหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์ แสดงความห่วงใยอย่างยิ่งต่อ ประเด็นข้อเรียกร้องการเปิดการเจรจาการค้าเสรีกับสหภาพยุโรปว่า "จะส่งผลกระทบโดยตรงอย่างรุนแรงต่อการบริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์ภาครัฐ อันเกี่ยวพันโดยตรงถึงชีวิตและสุขภาพของประชาชน"
ตลกดีนะครับที่รัฐบาลไทยยอมเจรจาทั้งๆ ที่เสียเปรียบ ยอมให้เขาเอาเปรียบ เอาชีวิตคนไทยทั้งประเทศไปแลกเพื่อให้กลุ่มทุนบางกลุ่มส่งออกได้มากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มทุนด้านผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร (คนที่คุณก็รู้ว่าใคร)
จริงๆ ภาคประชาชนไม่ได้จะขัดขวางการเจรจาเอฟทีเอ เราเข้าใจว่าประเทศต้องเดินหน้า ต้องค้าต้องขาย แต่ต้องไม่ใช่การค้าขายที่แลกกับชีวิตของคนไทย และเรื่องนี้กระทบกับทุกคนครับ วันนี้เราอาจแข็งแรงแต่ใครจะรับประกันได้ว่าวันหน้าเราจะไม่ป่วย และ "ยา" เป็นสิ่งจำเป็นครับ ผมและพรรคพวกจึงขอส่งเสียงดังๆ ไปยังรัฐบาลให้นึกถึงประชาชนบ้าง อย่านึกถึงแต่กลุ่มทุน
อย่าทำเหมือนประชาชนในประเทศนี้ตายหมดแล้วเลยครับ เพราะรัฐบาลก็ไม่มีวันอยู่ได้ถ้าไม่มีประชาชนเป็นฐานสนับสนุน
หมายเหตุ นายนิมิตร์ เทียนอุดม ถือเป็นเอ็นจีโอด้านสุขภาพระดับแนวหน้าคนหนึ่ง ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เลขาธิการชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน และเป็นกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฝ่ายภาคประชาชน
ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน วันที่ 5 มีนาคม 2556
- 11 views