เมื่อวันที่ 4 มี.ค. ผศ.ภก.ดร.ชลภัทร สุขเกษม หัวหน้าห้องปฏิบัติการเภสัชพันธุศาสตร์ และหัวหน้าสาขาวิชาเภสัชพันธุศาสตร์ และการแพทย์เฉพาะบุคคล ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า จากการศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมของยีน CYP2B6 ร่วมกับการวิเคราะห์ระดับยาเอฟาวิเรนซ์ในผู้ป่วยเอชไอวี พบว่าผู้ป่วยไทยมีความเสี่ยงต่อการเกิดพิษต่อระบบประสาทในผู้ป่วยบางรายที่มีระดับยาสูง เนื่องจากร่างกายขับยาออกได้น้อย นอกจากนี้จากการศึกษายังพบว่าผู้ป่วยบางรายที่มีระดับยาดังกล่าวในกระแสเลือดต่ำกว่าระดับของการรักษาได้ ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิผลของการรักษา เนื่องจากระดับยาที่ต่ำจะไม่สามารถไปกดเชื้อไวรัสเอชไอวีในผู้ป่วยเหล่านี้ได้ จะนำไปสู่การกลายพันธุ์ของเชื้อเอชไอวีทำให้เกิดการดื้อยาในอนาคต และหากผู้ป่วยมีโอกาสส่งผ่านเชื้อที่มียีนดื้อยาไปกับผู้ติดเชื้อรายใหม่ ทำให้ผู้ป่วยรายใหม่นั้นไม่สามารถใช้ยาสูตรพื้นฐานต่อไปได้ ก็ต้องเปลี่ยนยาสูตรอื่นที่ราคาแพงขึ้น ทำให้สิ้นเปลืองต่อการรักษา และอาจเป็นปัญหาทางสาธารณสุขของประเทศได้
"การค้นพบครั้งนี้เป็นการค้นพบครั้งแรกของโลก ซึ่งผมได้ยื่นตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศไปแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการขอจดสิทธิบัตร ทั้งนี้ที่ผ่านมาทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ได้ทำการศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมของยีนดังกล่าวร่วมกับการวิเคราะห์ยาต้านไวรัสเอชไอวีเอฟาวิเรนซ์ พบการเกิดพิษต่อระบบประสาทในผู้ป่วยที่มีระดับยาในกระแสเลือดสูงกว่าระดับของการรักษา ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการซึมเศร้า ฝันหลอน นอนไม่หลับ เซื่องซึม ทำงานไม่ได้ รุนแรงที่สุดอาจถึงขั้นฆ่าตัวตายได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ากังวล" หัวหน้าห้องปฏิบัติการเภสัชพันธุศาสตร์ กล่าว
ดร.ชลภัทร กล่าวต่อว่า ไม่ว่าระดับยาในกระแสเลือดของผู้ป่วยที่ได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวีเอฟาวิเรนซ์ จะต่ำหรือสูงก็ตาม ล้วนแต่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยทั้งสิ้น ดังนั้นองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ควรผลิตยามาสนับ สนุนให้เหมาะสม เช่น ถ้าจำเป็นต้องปรับขนาดยาเพิ่มขึ้นหรือลดลง จาก 600 มิลลิกรัม ให้เป็น 800 หรือ 400 มิลลิกรัม ก็ควรมีการผลิตยา 100-200 มิลลิกรัมด้วย เพื่อให้สามารถปรับขนาดยาจากลักษณะยีนของผู้ป่วยได้ ไม่ใช่การนำเม็ดยามาแบ่งครึ่งเพื่อให้เต็มขนาด 800 มิลลิกรัม ก็อาจจะทำให้ระดับยาในกระแสเลือดสูงไปส่งผลข้างเคียงได้ ขณะเดียวกัน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ควรจะครอบคลุมสิทธิการรักษาไปถึงการตรวจยีน CYP2B6 และการตรวจวัดระดับยาในกระแสเลือด เพื่อติดตามการรักษาของผู้ป่วยเพื่อให้ได้ระดับยาที่เหมาะสมด้วย เพราะหากผู้ป่วยดื้อยาและต้องปรับเปลี่ยนสูตรยาที่ราคาสูงขึ้น จะส่งผลกระทบในวงกว้างทางการสาธารณสุขของประเทศต่อไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 5 มีนาคม 2556
- 12 views