นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ผ่านมา มีการพิจารณาปัญหาไข้เลือดออก ซึ่งมีสาเหตุมาจากยุงลายกัด โดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้ประเมินสถานการณ์ว่าในปีนี้จะรุนแรงกว่าปีที่แล้ว คาดจำนวนผู้ป่วยจะมีสูงถึง 120,000-150,000 ราย อาจเสียชีวิตถึง 120-200 ราย และประมาณ 15,000 รายจะนอนโรงพยาบาล จากรายงานจำนวนผู้ป่วยในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2556 เพียง 2 เดือน รวม 9,824 ราย เฉลี่ยสัปดาห์ละ 800-1,000 ราย สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเกือบ 4 เท่า และมีรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคนี้แล้ว 12 ราย มีทั้งนักเรียน ครู แม่บ้าน แม่ค้า และร้อยละ 50 ของผู้ป่วยเป็นนักเรียน
นพ.ประดิษฐกล่าวต่อว่า ปัญหาหลักที่จะทำให้โรคไข้เลือดออกระบาดหนัก คือจำนวนยุงลายที่เพิ่มมากขึ้น ยุทธศาสตร์หลักที่จะจัดการเรื่องนี้ได้สำเร็จคือ การกำจัดลูกน้ำยุงลายในอาคารบ้านเรือน และโรงเรียนทั่วประเทศ ในช่วงต้นปีก่อนที่จะถึงฤดูฝน ซึ่ง สธ.เพียงกระทรวงเดียวจะดำเนินการกำจัดได้ประมาณร้อยละ 10 เท่านั้น ไม่สามารถที่จะสกัดกั้นการแพร่ระบาดได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกหน่วยงานทั้งรัฐ เอกชน และประชาชนทุกพื้นที่ ช่วยกันกำจัดลูกน้ำยุงลายทุก 7 วัน ไม่ให้ลูกน้ำมีโอกาสโตเป็นตัวยุง ซึ่งเป็นวิธีที่ทำง่ายที่สุดและได้ผลดีที่สุด และปิดฝาภาชนะเก็บกักน้ำ ป้องกันไม่ให้ยุงลงไปวางไข่ ส่วนยุทธศาสตร์การลดป่วยลดการเสียชีวิตคือ รณรงค์ให้ประชาชนป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด ซึ่งจะส่งเสริมให้มีการปลูกและใช้สมุนไพรพื้นบ้านที่ยุงลายเกลียด เช่น น้ำมันตะไคร้หอม ไว้สำหรับทาป้องกันยุงกัดในครัวเรือน ซึ่งไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม รณรงค์ให้นอนในมุ้ง หรือในห้องที่มีมุ้งลวดทั้งกลางวันและกลางคืน โดยจะนำเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเร็วๆ นี้ เพื่อระดมความร่วมมือจากทุกกระทรวงอย่างจริงจัง ตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 4 มีนาคม 2556
- 1 view