"โรคอุดตันของหลอดเลือดสมอง เป็นปัญหามากในระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล อย่างโรงพยาบาลเล็กๆ เนื่องจากหากวินิจฉัยโรคไม่ทันการณ์ คนไข้มีสิทธิทุพพลภาพ หรือเสียชีวิตได้.." นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)  กล่าวถึงอุปสรรคของการรักษาที่ผ่านมา

ภาวะอุดตันของหลอดเลือดสมอง (Stroke Fast Tract)  เป็นโรคทางระบบประสาทที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิต และเป็นต้นเหตุทำให้เกิดทุพพลภาพ โดยเฉพาะภาวะอัมพฤกษ์อัมพาต ซึ่งมีสาเหตุ ทั้ง ไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ และพันธุกรรม ฯลฯ โรคนี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือดให้เร็วที่สุดภายใน 3 ชั่วโมง   ร่วมกับการรักษาพยาบาลต่อเนื่องโดยการทำกายภาพบำบัด และฟื้นฟูสภาพระยะเริ่มแรก หลังได้รับการรักษาในระยะเฉียบพลัน ภายใน 6 เดือนหลังจากเกิดอาการ จะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นฟูสภาพได้ และประกอบกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ

นพ.วินัยอธิบายเพิ่มเติมว่า ในอดีตการวินิจฉัยโรคดังกล่าวค่อนข้างมีปัญหา เนื่องจากระบบไม่เอื้ออำนวย ขาดเครื่องมือในการวินิจฉัยอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การรักษาอย่างถูกต้องยากขึ้น โดยเฉพาะใน ผู้ป่วยที่อยู่พื้นที่ห่างไกล การเดินทางไปยังโรงพยาบาล (รพ.) เฉพาะทางค่อนข้างยาก ขณะที่ รพ.ขนาดเล็กก็ไม่มีเครื่องมือ ส่งผลให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ขาดโอกาสในการรักษาอย่างทันท่วงที บางรายต้องประสบภาวะทุพพลภาพ เป็นอัมพฤกษ์อัมพาต ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ารักษาได้ทันเวลามีเพียงร้อยละ 1.96 เท่านั้น   ดังนั้น การมีระบบการดูแลรักษาที่ถูกต้องรวดเร็ว และมีความพร้อมจะช่วยลดความพิการและอัตราเสียชีวิตลงได้

สปสช.จึงจัดแนวทางใหม่ในการให้บริการแพทย์ฉุกเฉินโรคหลอดเลือดสมองอุดตัน (Stroke Fast Track) เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2550 ทั้งการพัฒนาศักยภาพหน่วยบริการให้มีความพร้อม สามารถรับดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอย่างครบวงจร ด้วยระบบการวินิจฉัยโรคอย่างรวดเร็ว การส่งต่อด้วยช่องทางด่วนผ่านเครือข่ายบริการสุขภาพ แบ่งเป็น รพ.ขนาดใหญ่ หรือ รพ.เฉพาะทางเป็นแม่ข่าย และมี รพ.ขนาดเล็ก อย่างโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) เป็นลูกข่าย โดย รพช.จะรับผู้ป่วย วินิจฉัยเบื้องต้น และส่งต่อมายังแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ ด้วยเวลาอันรวดเร็ว ปัจจุบันมี รพ.เข้าร่วมทั้งสิ้น 861 แห่ง แบ่งเป็น รพ.แม่ข่าย 35 แห่ง รพ.ลูกข่ายที่สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ 140 แห่ง และ รพ.ลูกข่ายที่ไม่สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ แต่สามารถวินิจฉัยอาการได้อีก 686  แห่ง

นพ.สมบัติ มุ่งทวีพงษา แพทย์ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งได้รับรางวัลเครือข่ายบริการดีเด่นด้านโรคหลอดเลือดสมองอุดตันประจำปี 2555 ให้ข้อมูลว่า ได้ร่วมพัฒนาระบบการตรวจวินิจฉัยแบบครบวงจร ในรูปแบบเครือข่ายสุขภาพ ซึ่งมี รพ.ธรรมศาสตร์เป็นแม่ข่าย ในการรับผู้ป่วยจาก รพ.ลูกข่าย ที่เป็น รพช.จำนวน 26 แห่งใน จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.ปทุมธานี ซึ่งหลักการ รพ.ลูกข่ายเหล่านี้จะต้องส่งต่อผู้ป่วยมายัง รพ.แม่ข่าย ภายในเวลาไม่เกิน 45 นาที เพื่อสามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ทัน

ทั้งยังพัฒนาระบบแนะนำการวินิจฉัยโรค ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง คือ หากญาตินำส่งผู้ป่วยมาด้วยอาการสายตาพร่ามัว มองไม่ชัดเฉียบพลัน แขนขาอ่อนแรง หรือร่างกายชาครึ่งซีกปวดศีรษะกะทันหัน ปวดร้าวทั้งศีรษะ หรืออาการปวดเปลี่ยนไปจากที่เคยเป็น รวมไปถึงการหมดสติ แพทย์ใน รพช. จะเอกซเรย์ด้วยซีทีสแกนสมอง (CT Scan) และส่งผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ซึ่งมีเป็นซอฟต์แวร์ที่ รพ.ธรรมศาสตร์ พัฒนาขึ้นให้ใช้ได้เฉพาะเครือข่ายบริการเท่านั้น โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะอ่านภาพเอกซเรย์ และแนะนำแพทย์ใน รพช.ว่าควรรักษาเบื้องต้นอย่างไร

หากจำเป็นต้องให้ยาละลายลิ่มเลือด แพทย์จาก รพ.แม่ข่ายจะแนะนำทันที โดย รพ.ลูกข่ายบางแห่งสามารถให้ยาดังกล่าวได้ แต่บางแห่งไม่สามารถให้ได้ ก็จะส่งต่อด้วยช่องทางด่วน ด้วยรถพยาบาลแบบฉุกเฉินไปยัง รพ.แม่ข่าย อย่างไรก็ตาม จากการเข้าร่วมโครงการได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน โดยสามารถลดอัตราการเสียชีวิตเหลือเพียงร้อยละ 10 และลดอัตราทุพพลภาพร้อยละ 15-25

โรคหลอดเลือดสมองอุดตันจัดเป็นอีกโรคที่น่ากลัว เนื่องจากคนไทยป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง 250,000 รายต่อปี ในจำนวนนี้เสียชีวิต 50,000 รายต่อปี และยังมีประชาชนเสี่ยงที่จะป่วยอีก 10 ล้านคน ซึ่งแม้จะรอดชีวิตก็มักจะมีความพิการหลงเหลือ ทางที่ดีที่สุด ควรลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรค ทั้งการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ รวมไปถึงควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ทั้งการออกกำลังกาย ปรับพฤติกรรมการกิน ไม่ควรกินเนื้อสัตว์ล้วนๆ กินผักผลไม้ให้ได้ครึ่งหนึ่ง ลดการกินอาหารไขมันสูง

หากทำได้ย่อมดีกว่าเข้า รพ.แม้จะมีช่องทางด่วนให้รอดชีวิตมากขึ้นก็ตาม

ผู้เขียน : วารุณี สิทธิรังสรรค์ email : catcatt_2927@hotmail.com

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2556