อุบัติเหตุบนท้องถนนเกิดขึ้นทุกวันจนกลายเป็นเรื่องปกติทั้งที่ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินประชาชนจำนวนมหาศาล สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่าปีละ 1 แสนล้านบาท ถือเป็นร้อยละ 5 ของ GDP

องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดอันดับให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากการเกิดอุบัติเหตุมากที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลก มีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุคิดเป็นร้อยละ 42.9 ต่อ 1 แสนคน มีผู้บาดเจ็บต้องเข้ารับการรักษาตัวปีละ 6 แสนคน และเสียชีวิตปีละ 2-3 หมื่นคน

ทุกๆ ชั่วโมงจะมีผู้พิการจากอุบัติเหตุ 3 คน และผู้เสียชีวิต 2 คน มีรายงานข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า 5 สาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ คือ การเมาสุราร้อยละ 19.8 รองลงมา คือ ขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดร้อยละ 15.3 ขับรถตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 11.5 ขับรถตามกระชั้นชิด ร้อยละ 10.8 และขับรถโดยขาดความชำนาญ ร้อยละ 4.3 ในจำนวนนี้เกิดจากการขับขี่รถจักรยานยนต์สูงสุด โดยพบว่าผู้ขับขี่ที่เสียชีวิตไม่สวมหมวกนิรภัย

นอกจากนี้ สาเหตุการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนทางหลวง คือ รถเสียหลักชนหลุดออกข้างทางและพุ่งชนวัตถุอันตรายข้างทาง เช่น ต้นไม้ หลักกิโลเมตร เสาไฟ หรือเสาป้าย เป็นต้น

ดังนั้น ภาครัฐจึงควรหันมาให้ความสำคัญและส่งเสริมการขับขี่อย่างปลอดภัยโดยการสวมหมวกนิรภัย เนื่องจากปัจจุบันอัตราการสวมหมวกกันน็อกในประเทศไทยมีเพียงร้อยละ 44 และคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งก่อนออกสตาร์ต อีกทั้งควรงดการดื่มสุราก่อนการขับขี่พาหนะเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ

เนื่องจากผลสำรวจพบว่าร้อยละ4 ของประชากรไทยติดสุรา ซึ่งภาครัฐจะต้องหันมาให้ความสำคัญในเรื่องนี้อย่างจริงจังตามยุทธศาสตร์ขององค์การสหประชาชาติ 5 ข้อ คือ การจัดการถนน ถนนปลอดภัย รถปลอดภัย พฤติกรรมปลอดภัย และการดูแลหลังเกิดเหตุ

ที่สำคัญจะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2556