จากกรณี "เดลินิวส์" นำเสนอข่าวโรงงานเภสัชกรรมทหาร ศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร (รภท.ศอพท.) ตรวจวิเคราะห์วัตถุดิบผลิตยาพาราเซตามอลให้กับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) หลายลอตมีปัญหา ขณะที่ อภ.เช่าโกดังสต๊อกวัตถุดิบเอาไว้ตั้งแต่ปี 2544 อีกกว่า 130 ตัน โดย รมว.สาธารณสุข สั่งให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สุ่มตรวจคุณภาพ แต่ อภ.ตัดสินใจคืนวัตถุดิบทั้งหมดก่อนเพื่อจบปัญหา
ความคืบหน้าในเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 18 ก.พ. นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ ที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ "เดลินิวส์" ว่า ใน วันที่ 21 ก.พ. เวลา 13.00 น. ตนจะเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องคือ ทาง อภ.มาชี้แจงข้อมูลต่าง ๆ เมื่อถามว่า การคืนวัตถุดิบกว่า 130 ตันถือว่าเรื่องจบหรือไม่ นายพสิษฐ์ กล่าวว่า ถ้ามองว่าจบก็จบ แต่ต้องถามว่าทำไมถึงเพิ่งมาคืน ทำไมไม่บริหารจัดการให้ดีกว่านี้ เก็บไว้ก็โอเวอร์สต๊อก ต้องถามว่า 1.คุณภาพได้หรือไม่ 2.ทำไมโรงงานที่ อภ.ว่าจ้างให้ผลิตยาพาราเซตามอลจึงไม่อยากได้วัตถุดิบดังกล่าว ดังนั้นแม้จะคืนวัตถุดิบแล้วก็ต้องตรวจสอบให้แน่ชัดถึงใครคนนั้นรับผิดชอบ ถ้าเล็กน้อยก็ไม่เป็นอะไร ตนมีหน้าที่หาข้อเท็จจริงนำเสนอ รมว.สาธารณสุข สำหรับวัตถุดิบในการผลิตยาพาราเซตามอลนั้นตกค้างมาจากปี 2553 ก็มีเช่นกัน แต่ไม่เยอะมาก วัตถุดิบที่นำเข้ามามากตอนปี 2554 โดยบริษัทนำเข้ามีประมาณ 3-4 บริษัท ซึ่งการอนุญาตนำเข้านั้น อย.ต้องรับรู้ด้วย ดังนั้นจะสอบถาม อย.เช่นกันเรื่องการอนุญาตนำเข้า
นายพสิษฐ์ กล่าวต่อว่า ตนจะตรวจสอบสต๊อกวัตถุดิบพาราเซตามอลกว่า 130 ตันว่ามีจริงหรือไม่ ถ้ามีการคืนจำนวนที่คืนถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ ต้องตรวจสอบซ้ำอีกที ถามว่าทำไมมีอำนาจดำเนินการ ก็เพราะ รมว.สาธารณสุขมีคำสั่งให้ตนปฏิบัติราชการแทนในการควบคุมตรงนี้ อย่างยาพาราเซตามอลเมื่อผลิตแล้วขายให้กับ รพ.ถ้าเกิดว่าคุณภาพไม่เหมาะสมตนก็มีสิทธิปฏิเสธได้ จริง ๆ ปัญหาไม่ได้เกิดเฉพาะกรณียาพาราเซตามอลเท่านั้น เชื่อว่ายังมีเรื่องอื่น ๆ อีก เดี๋ยวก็มีอะไรแดง ๆ ดำ ๆ ก็จะโผล่ออกมาเอง
นายพสิษฐ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้กรณียาอัลปราโซแลมที่มีการยกระดับเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 2 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 17 มิ.ย.นี้ มันเกิดยาปลอมขึ้น โดยตนได้รับแจ้งจากทาง อย.ว่า เชื่อว่ามีการปลอมยาอัลปราโซแลมแล้วส่งไปขายตามที่ต่าง ๆ โดยที่แพทย์เจ้าของคลินิกหรือใน รพ.ก็ไม่ทราบว่าได้รับยาที่ไม่มีส่วนผสมของอัลปราโซแลม หรือมีส่วนผสมแต่ไม่เต็มปริมาณ ผล กระทบก็ไปตกกับผู้บริโภคว่าทำไมกินไปแล้วไม่มีประสิทธิภาพ และยังกระทบไปถึงแพทย์ด้วยเพราะแพทย์ไม่ทราบว่ายาที่สั่งไปเป็นยาปลอม เพราะสำแดงว่า 0.5 มก. แต่จริง ๆ มียาแค่นิดเดียว หรือสำแดงว่า 0.25 มก.แต่จริง ๆ เกือบจะเป็นแป้งทั้งหมดเหลืออยู่นิดเดียว เผลอ ๆ บางเม็ดไม่มีตัวยาเลย ทำให้การรักษาผิดพลาด ผิดเพี้ยนกันไปหมด และบริษัทที่ผลิตมีอยู่ไม่กี่บริษัท เชื่อว่าภายใน 2 สัปดาห์นี้จะสรุปผลและรายงาน รมว.สาธารณสุขได้
วันเดียวกัน นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)ให้สัมภาษณ์ว่า พอทราบว่าทาง อภ.จะคืนวัตถุดิบกว่า 130 ตัน จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ อย.เข้าไปที่คลังเก็บวัตถุดิบที่บริษัทไปรษณีย์ไทยจำกัด ขอนับจำนวนที่แน่นอน รวมถึงรายละเอียดของลอตนัมเบอร์วัตถุดิบ คาดว่าคงใช้เวลาประมาณ 2-3 วันน่าจะเสร็จสิ้น ทาง อย.ได้รับทราบข่าวจากทาง อภ.เท่านั้น ว่าจะคืนวัตถุดิบผลิตพาราเซตามอล ดังนั้นจะให้เจ้าหน้าที่เข้าไปที่ อภ. เพื่อขอให้เจ้าหน้าที่รับผิดชอบคลังยา ให้การเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะมีการคืนวัตถุดิบดังกล่าวจริง เมื่อถามว่าได้เข้าไปตรวจสอบคลังยาของบริษัทที่นำเข้าหรือยัง นพ.บุญชัย กล่าวว่า เท่าที่ทราบไม่ได้มีบริษัทนำเข้าวัตถุดิบย่านบางนาเพียงรายเดียวที่นำมาขายให้กับ อภ. แต่ยังมีอีก 1 บริษัทที่นำเข้าวัตถุดิบมาขายต่อให้บริษัทย่านบางนาอีกต่อหนึ่ง
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556
- 11 views