องค์การเภสัชกรรม เผยคืนวัตถุดิบพาราเซตามอลกว่า 130 ตัน เพื่อจบปัญหา รับยกเลิกนัดเปิดตรวจคุณภาพวัตถุดิบเพราะหวั่นคืนของไม่ได้ ด้าน "หมอประดิษฐ" ขอตรวจสอบหลักฐานนำเข้าวัตถุดิบ
จากกรณีโรงงานเภสัชกรรมทหาร ศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร (รภท.ศอพท.) ตรวจวิเคราะห์วัตถุดิบในการผลิตยาพาราเซตามอลให้กับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) หลายล็อต มีปัญหาต้องส่งเคลมบริษัท โดยปี 2554-2555 พบวัตถุดิบมีปัญหา 19 ล็อต จาก 2 บริษัท มีปัญหาความไม่บริสุทธ์ของยานั้น
ล่าสุด นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข สั่งให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เข้าตรวจสอบคุณภาพวัตถุดิบที่อภ.มีสต็อกถึง 130 ตัน
นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แจ้งว่า ไม่สามารถตรวจสอบวัตถุดิบของ อภ.ได้ เนื่องจาก อภ.ได้ตัดสินใจคืนวัตถุดิบทั้งหมด 130 ตัน เพราะถ้าเปิดฝาถังแล้วจะคืนของไม่ได้ ทำให้เกิดความเสียหายมากกว่าเพราะต้องตรวจสอบเป็นจำนวนมาก
"อย. คงต้องกำกับดูต่อว่าวัตถุดิบนั้นคืนแล้วหรือยัง คืนเมื่อไหร่ ขณะเดียวกันเราจะดูว่าในล็อตที่นำเข้ามาทั้งหมดมีการนำไปผลิตบ้างหรือเปล่า ถ้ามีการนำไปผลิตเป็นยาแล้ว คงต้องตามไปดูในท้องตลาด ไปสุ่มมาตรวจดู" นพ.บุญชัย กล่าว
ด้าน นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวถึงกรณีคืนสต็อกวัตถุดิบผลิตยาพาราเซตามอล 130 ตัน ที่เก็บไว้ในโกดังสินค้าทั้งหมด ส่งคืนไปยังบริษัทเจ้าของวัตถุในประเทศจีน ว่า หลังจากปรากฏเป็นข่าว เรื่องวัตถุดิบผลิตยาพาราเซตามอล ขององค์การเภสัชกรรมที่นำเข้ามาจากประเทศจีนมีปัญหา จึงได้หารือกับทางบริษัทเจ้าของวัตถุดิบ และส่งวัตถุดิบทั้งหมดกว่า 130 ตัน คืนไปยังประเทศจีนเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ว่าจะไม่มีการนำวัตถุดิบที่สั่งมาเก็บสต็อกไว้ ตั้งแต่ปี 2554 มาผลิตยา
สำหรับเหตุผลที่มีการสั่งซื้อ วัตถุดิบผลิตยาพาราเซตามอลเข้ามาจำนวนมาก เนื่องจากว่าทางองค์การเภสัชกรรม มีแผนการเปิดโรงงานผลิตยาขึ้นเอง ตามความต้องการของผู้บริโภค แต่ภายหลังการเปิดโรงงานล่าช้ากว่าที่วางแผนการเอาไว้ วัตถุดิบทั้งหมดที่ถูกสั่งเข้ามา จึงถูกเก็บไว้ในโกดังเก็บสินค้า เพื่อรอเวลาเปิดโรงงานอย่างเป็นทางการ ประมาณเดือนมี.ค. และจะได้นำวัตถุดิบเหล่านี้มาผลิตยา
ขณะที่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ได้บอกกับทาง อภ. ไปว่า ถ้าคืนวัตถุดิบได้ก็คืนไปเพื่อความมั่นใจดีกว่า แล้วเอาเงินคืนมา เพราะต้องไปตรวจในโรงงานและในห้องปฏิบัติการ
"ถ้าตรวจทุกถัง ขนทุกถังมาผลิตเลยคงเสียเวลา เจอล็อตหนึ่งก็ไม่มีใครอยากใช้แล้ว ดังนั้นตัดปัญหาคืนได้ก็คืนไป การที่ อภ.ตัดสินใจคืนวัตถุดิบ มันก็จบ ส่วนการผลิต เพราะผมไม่อยากให้ผลิตอะไรที่มีปัญหา แต่ว่าเรื่องที่ผมให้อธิบายว่าซื้อมาเมื่อไหร่ อย่างไร เอาเวลาให้ผมดู เวลาที่ซื้อเหมาะสมหรือไม่ ที่บอกว่าเตรียมการผลิตนั้นทำไมโรงงานเปิดช้า เพราะอะไร ยังต้องอธิบายอยู่ อภ.ก็ยังติดหนี้ผมเรื่องคำตอบอยู่ คนละเรื่องกับเรื่องยา" นพ.ประดิษฐ กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2556
- 1 view