กรมบัญชีกลางขีดเส้นรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลกระทรวงสาธารณ สุข ปีนี้ไม่เกิน 6 หมื่นล้านบาท วาง 2 กลไก คุมแพทย์ระวังสั่งยานอกบัญชียาหลัก เดินหน้าต่อรองผู้จำหน่าย ปรับลดราคา กลุ่มยาแพงนอกบัญชียาหลักที่เหลือกว่า 200 รายการ หลังลดราคาไปแล้วกว่า 500 รายการ เฉลี่ยราคาลดลง 10-50% ช่วยลดรายจ่ายได้ปีละ 1 พันล้านบาท
นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้กรมบัญชีกลาง อยู่ระหว่างการประเมินรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขในปีนี้ แม้ว่าจะมีการประกาศปรับค่ารักษาพยาบาลเพิ่มจาก 100 บาทเป็น 150 บาทต่อราย โดยพยายามดำเนินการควบคุมงบประมาณรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลไว้ไม่ให้เกิน 6 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งปีที่ผ่านมามีหลายวิธีการที่ใช้ควบคุม เช่น ให้มีทีมตรวจสอบของแพทย์สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) ได้ผล 2 ด้าน คือ ทำให้คนที่กลัวกลับมาทำตามกฎระเบียบ อีกด้านเป็นการจับผิด คือ การตรวจจับเข้ามาในกลุ่มช็อปปิ้งยา เบาบางลงซึ่งได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้ ในปี 2556 มั่นใจว่าจะ ควบคุมรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ลดลงจาก 6 หมื่นล้านบาทได้อีก ด้วยการเพิ่มวิธีรูปแบบในการดำเนินการ โดยกลไกแรก คือ หากต้องการใช้ยานอกบัญชียาหลัก จะใช้วิธีการใหม่ ให้แพทย์เพียงรายเดียว ใช้สัญลักษณ์กำกับในการสั่งยานอกบัญชีในใบสั่งยา ว่าเพราะเหตุใด จึงใช้ยาในบัญชียาหลักไม่ได้ ซึ่งจะมีตัวเลือก A (ใช้ไม่ได้ผล) B (ใช้แล้วเกิดผลข้างเคียง) หรือ C, E, F จะทำให้แพทย์คนเดียวที่สั่งยา มีความระมัดระวังมากขึ้น และหันมาสั่งจ่ายยาในบัญชียาหลักมากขึ้น
"เมื่อก่อนการอนุมัติสั่งยาต้องให้แพทย์ถึง 3 ราย มาประชุมแล้วต้องลงลายมือชื่อ ให้ผู้ป่วยรายนี้ใช้ยานอกบัญชียาหลักได้ แต่ผลตรวจสอบกลับพบว่าแพทย์ได้ลงชื่อ 3 คน แล้วถ่ายเอกสารก๊อบปี้ไว้สั่งยาแจกตามโรงพยาบาลต่างๆ จึงเห็นว่าระบบนี้ไม่ได้ผล เพราะเป็นระเบียบที่แข็งเกินไป แพทย์จึงหาช่องว่าง"
ส่วนกลไกที่สอง คือ ต่อรองราคายานอกบัญชียาหลัก ซึ่งมีอยู่ 9 กลุ่มหลัก โดยกลุ่มยากลูโคซามีน มีการต่อรองราคา จนลดรายจ่ายมาระดับหนึ่งแล้ว ดังนั้นปัจจุบันจึงเหลืออีก 8 กลุ่มหลัก จำนวนยา 200 กว่ารายการที่กระทรวงสาธารณสุข ยังต้องดำเนินการต่อรองราคาเพื่อลดรายจ่ายอยู่ จากเดิมกลุ่มยานอกบัญชียาหลัก จะขายกันโดยเสรี ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ตั้งคณะกรรมการเข้ามาต่อรองราคายา
สำหรับยานอกบัญชียาหลัก 9 กลุ่มหลัก มีจำนวน 727 รายการ โดยทางกระทรวงสาธารณสุขได้มีการเจรจาต่อรองกับผู้แทนจำหน่าย ทำให้ราคายาปรับลดลงมาเฉลี่ย 10-50% ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ทั้งนี้ เชื่อว่าหากโรงพยาบาลดำเนินการซื้อยาได้ในราคาที่ต่อรองก็จะทำให้รายจ่ายส่วนนี้ลดลง ซึ่งล่าสุด กรมบัญชีกลางได้รับรายงานจากรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขว่า จากการต่อรองราคายาที่ผ่านมา จะลดรายจ่ายค่ายาของกระทรวงสาธารณสุขลงได้ประมาณ 1 พันล้านบาทต่อปี โดยขณะนี้ยังมีรายการยาที่อยู่ระหว่างการดำเนินการต่อรองลดราคาอีกกว่า 200 รายการ ซึ่งเป็นกลุ่มยาราคาแพง
ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 14 - 16 ก.พ. 2556
- 12 views