"บำรุงราษฎร์" เปิดเกมบุกรับธุรกิจโรงพยาบาลโต ประกาศทุ่มงบฯหมื่นล้าน ผุด 2 โปรเจ็กต์ ขยายสาขาบริเวณใกล้เคียงกัน ทั้งสุขุมวิทซอย 1-ถนนเพชรบุรี รองรับคนไข้ทะลัก พร้อมเดินหน้าซื้อกิจการทั้งในประเทศและต่างประเทศ สร้างเครือข่าย ขยายฐานลูกค้าข้ามเซ็กเมนต์ ดันการเติบโตเร็ว
ด้วยชื่อเสียงของคุณภาพและบริการของธุรกิจโรงพยาบาลที่ได้รับการยอมรับจากชาวต่างประเทศ และเดินทางเข้ามารักษาในเมืองไทยที่มีเพิ่มขึ้นทุกปี จากตัวเลขของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า ปีที่ผ่านมามีชาวต่างประเทศเข้ามารับการรักษาตัวถึง 2 ล้านครั้ง และทำรายได้เข้าประเทศถึงปีละ 1.2 แสนล้านบาท ล่าสุด "บำรุงราษฎร์" โรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ที่มีสัดส่วนผู้ป่วยจาก ต่างประเทศเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะจากตะวันออกกลางได้ประกาศแผนลงทุนครั้งใหญ่ เพื่อรองรับการเติบโต
ลงทุนหมื่นล้านรับคนไข้ทะลัก
นายเดนนิส บราวน์ คอร์ปอเรต ซีอีโอ (Corporate CEO) บริษัท โรงพยาบาล บำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้บริษัทมี นโยบายหันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนในประเทศมากขึ้น โดยได้ลดสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศที่ผ่านทางบริษัทย่อย (บำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ บีไอแอล) รวมถึงยกเลิกการลงทุนในฟิลิปปินส์ ดูไบ ฮ่องกง เพื่อโฟกัสธุรกิจในไทย ซึ่งที่ผ่านมามีคนไข้เข้าใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีคนไข้นอกเฉลี่ยประมาณ 4,000 คนต่อวัน และพื้นที่ให้บริการไม่เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น
บริษัทมีแผนจะลงทุนเพิ่มเพื่อขยายพื้นที่ให้บริการ ทั้งในแง่ของการปรับปรุงและขยายพื้นที่ เพื่อรองรับผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น ด้วยการขยายคลินิกอีก 5 ชั้น ประกอบด้วยห้องตรวจ 80 ห้อง เพิ่มจำนวนเตียงอีก 58 เตียง ห้องไอซียูอีก 44 เตียง จากที่มีห้องตรวจอยู่ 212 ห้อง และเตียง 484 เตียง รวมถึงการเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะแพทย์เฉพาะทาง
นายเดนนิส บราวน์ กล่าวว่า ควบคู่กันนี้ยังได้เตรียมงบฯลงทุน 1 หมื่นล้านบาท ระยะเวลา 7 ปี (2554-2560) สำหรับ 2 โปรเจ็กต์ คือ ซื้อที่ดินบริเวณถนนเพชรบุรี และสุขุมวิท ซอย 1 เพื่อจะเปิดเป็นศูนย์การรักษาโรคเฉพาะทางที่สามารถให้บริการแบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียว โดยโครงการสุขุมวิท ซอย 1 ได้ซื้อที่ดิน 6,178 ตร.ม.ในนามบริษัท รื่นมงคล จำกัด เบื้องต้นจะเปิดเป็นศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการเร็ว ๆ นี้ ส่วนโครงการบนถนนเพชรบุรี มีพื้นที่ 5 ไร่ อยู่ระหว่างเตรียมยื่นขอใบอนุญาตสร้าง เป็นโรงพยาบาลขนาด 150-200 เตียง ดูแลผู้หญิงและเด็ก คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการและก่อสร้าง 3-4 ปี ซึ่งแผนลงทุนดังกล่าว ไม่นับรวมดีลที่จะเกิดขึ้นระหว่างนี้ และไม่รวมการเปลี่ยนเครื่องมือแพทย์ที่ใช้งบฯ ปีละ 500-600 ล้านบาท
เปิดเกมเทกโอเวอร์สร้างเครือข่าย
นายบราวน์ยังกล่าวด้วยว่า เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจในอนาคต บริษัทมองโอกาสการเติบโตจากการขยายไปสู่เซ็กเมนต์อื่น หรือเติบโตในตลาดใหม่ ๆ อาทิ โรงพยาบาลแห่งใหม่ ในลักษณะการเทกโอเวอร์โรงพยาบาลที่มีโพซิชันนิ่งระดับบน แต่ไม่สูงเท่ากับบำรุงราษฎร์ เพื่อช่วยให้การขยายสาขาและเติบโตได้เร็ว ซึ่งมีความเป็นไปได้ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยว
"ตอนนี้คงยังไม่สามารถระบุระยะเวลาได้ ขึ้นอยู่กับจังหวะและโอกาส แต่ก็มีการคุยกันตลอด นอกจากนี้ยังมองถึงการควบรวมในต่างประเทศลักษณะของสาขาย่อย ซึ่งถือเป็นโอกาสที่จะส่งต่อคนไข้มาที่บำรุงราษฎร์ สุขุมวิท ที่น่าสนใจ อาทิ เวียดนาม"
นายบราวน์กล่าวด้วยว่า แนวทางการทำตลาดจากนี้ไป บำรุงราษฎร์จะยังคงโฟกัสที่ลูกค้าต่างประเทศ เนื่องจากเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง และยังมีช่องว่างให้เติบโตได้อีกมาก ที่ผ่านมาแม้คนไข้จากต่างประเทศอาจจะชะลอตัวลงบ้างจากวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐ และการชุมนุมทางการเมืองในประเทศ แต่ขณะนี้สถานการณ์มีทิศทางที่ดีขึ้น ประกอบกับนโยบาย "เมดิคอล ทัวริซึ่ม" ที่มีความชัดเจนมากขึ้น คาดว่าปีนี้ตลาดคนไข้ต่างประเทศจะเติบโตเป็นตัวเลขสองหลัก
"เราจะอาศัยความโดดเด่นด้านการรักษาโรคเฉพาะทาง ความเชี่ยวชาญในการรักษาโรคที่มีความซับซ้อน บวกกับการเตรียมพร้อมด้านเทคโนโลยีการรักษาและบุคลากร รวมทั้งการทำตลาดอย่างเข้มข้น โดยติดต่อผ่านหน่วยงานรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ เพื่อดึงคนไข้จากต่างประเทศเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะลูกค้าจากกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง"
ขณะเดียวกันโฟกัสกลุ่มประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง แต่ยังไม่มีความพร้อมด้านสาธารณสุข อาทิ มองโกเลีย กัมพูชา และประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาพบว่าคนไข้จากพม่า กัมพูชา เติบโตค่อนข้างสูง
"เราตั้งเป้าการเติบโตของรายได้ 10-15% ไม่เน้นการเติบโตแบบหวือหวา แต่พยายามรักษาการเติบโตทุกปี ซึ่งการขยายบริการเพิ่มดังกล่าว เมื่อแล้วเสร็จจะรองรับการเติบโตได้อีกไม่น้อยกว่า 5 ปี และหากมีการลงทุนใหม่ ๆ เพิ่มเข้ามา ก็จะเติบโตยิ่งขึ้น"
ปัจจุบัน บำรุงราษฎร์มีผู้เข้ามาใช้บริการประมาณ 1 ล้านคนต่อปี เป็นคนไข้ไทย 55% ต่างชาติ 45% สัดส่วนรายได้ คิดเป็น 40:60 หรือมีจำนวนลูกค้าชาวต่างชาติกว่า 460,000 คน จากกว่า 200 ประเทศ โดย 5 ประเทศแรกมาจากกลุ่มสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) พม่า โอมาน สหรัฐ และคูเวต
ผู้บริหารกล่าวว่า ตลาดเมดิคอล ทัวริซึ่มในไทยยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก จากแนวโน้มชาวต่างชาติที่จะเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น เพราะคุณภาพของแพทย์และการรักษาพยาบาลอยู่ในระดับต้น ๆ รวมถึงค่ารักษาพยาบาลที่ถูกกว่า เมื่อเทียบกับสิงคโปร์ซึ่งถือเป็นคู่แข่งที่สำคัญ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดทางการได้ยกเลิกการทำวีซ่าสำหรับคนไข้และญาติที่จะเข้ามารักษาตัวในเมืองไทย สำหรับ 6 ประเทศในตะวันออกกลาง (คูเวต บาห์เรน โอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) ซึ่งเป็นคนไข้กลุ่มใหญ่ของบำรุงราษฎร์ ถือเป็นปัจจัยบวกที่ทำให้มีลูกค้าจากประเทศดังกล่าวเข้ามาใช้บริการมากขึ้น ขณะเดียวกัน การรับผู้ป่วยชาวต่างชาติช่วยให้บำรุงราษฎร์มีแหล่งรายได้ที่หลากหลาย รวมทั้งช่วยลดการพึ่งพาผู้ป่วยในประเทศ และลดแรงกดดันจากการแข่งขันในตลาดบริการสุขภาพภายในประเทศ
ทั้งนี้ ผลประกอบการรวม 9 เดือนแรกของปี 2555 บำรุงราษฎร์มีรายได้รวม 10,697 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2554
ร.พ.แห่แตกเซ็กเมนต์ปิดช่องว่าง
ผู้บริหารบำรุงราษฎร์ฉายภาพธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนว่า ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก และมีแนวโน้มที่จะเห็นภาพการควบรวม คอนโซลิเดดทุกเซ็กเมนต์มากขึ้น กลุ่มที่ไม่แข็งแรงพอก็จะเป็นเป้าหมายที่จะถูกควบรวม ในอนาคตยังจะเป็นรูปแบบนี้ต่อไป เพราะการควบรวมจะช่วยให้การขยายสาขาและเติบโตเร็วกว่าการสร้างใหม่
ผู้สื่อข่าวตั้งข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมาโรงพยาบาลหลายแห่งได้มีความเคลื่อนไหวในการขยายธุรกิจ เพื่อให้ครอบคลุมใน ทุก ๆ พื้นที่ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด อาทิ กลุ่มกรุงเทพดุสิตเวชการ หรือกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ ภายใต้แบรนด์กรุงเทพ บีเอ็นเอช สมิติเวช พญาไท เปาโล รวม 32 สาขา ดูแลลูกค้าทุกเซ็กเมนต์ ทั้งระบบเงินสด ประกันสังคม ตั้งเป้าปี 2558 จะขยายได้ถึง 50 สาขา และเมื่อต้นปีที่ผ่านมาได้ซื้อหุ้นโรงพยาบาลกรุงธนเพิ่ม และเข้าไปซื้อกิจการโรงพยาบาลประชาเวชที่ขอนแก่น และอยู่ระหว่างเจรจาอีกแห่งที่พิษณุโลก
ขณะที่ เกษมราษฎร์ ที่มีความแข็งแรงในตลาดระดับกลาง ก็เพิ่มพอร์ตขยับขึ้นไปตลาดระดับบน จับกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงและต่างชาติ ภายใต้แบรนด์เดอะ เวิลด์ เมดิคอล เซ็นเตอร์ สาขาแรกที่แจ้งวัฒนะ ส่วนกลุ่มวิภาวดี-ราม ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลวิภาวดีและโรงพยาบาลรามคำแหง ปัจจุบันมีเครือข่ายโรงพยาบาล 25 แห่ง ก็ให้ความสนใจตลาดระดับบนด้วยการลงทุนผ่านโรงพยาบาลสุขุมวิท
ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 11 - 13 ก.พ. 2556
- 125 views