ค้านนโยบายเมดิคัลฮับไม่ช่วยให้ระบบสุขภาพของไทยดีขึ้น

น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เปิดเผยว่าช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นโยบายเมดิคัลฮับส่งผลให้ผู้ให้บริการ ทั้งแพทย์ พยาบาลลดลง เนื่องจากเอกชนรายใหญ่ซื้อตัวแพทย์จากชนบทไปหลายแห่ง ขณะที่รัฐบาลมุ่งส่งเสริมเมดิคัลฮับเพื่อให้นำเม็ดเงินเข้าประเทศเพิ่มแต่เงินเหล่านี้ทำให้ผู้ถือหุ้นและกรรมการโรงพยาบาลเอกชนร่ำรวยขึ้นเท่านั้นพนักงานระดับล่างของโรงพยาบาล หรือประชาชนส่วนใหญ่ในระบบประกันสุขภาพไม่ได้ประโยชน์อะไร

น.ส.สุรีรัตน์ เสนอว่า นโยบายนี้ควรควบคุมต้นทุนที่แท้จริงของโรงพยาบาลเอกชนที่ได้ประโยชน์ ว่าค่ารักษาพยาบาลที่เป็นอยู่เหมาะสมหรือไม่ และจะต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้แพทย์ฝีมือดีในโรงพยาบาลรัฐถูกซื้อตัวไปรองรับเมดิคัลฮับ

"ที่สำคัญควรมีคำตอบชัดเจนว่า เงินจากเมดิคัลฮับทั้งในโรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลรัฐจะสะท้อนกลับมายังรัฐบาลเพื่อพัฒนาระบบประกันสุขภาพได้อย่างไร เพราะทุกวันนี้ไม่ว่าโรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย หรือโรงพยาบาลรัฐ ที่เป็นเมดิคัลฮับต่างก็มีวิธีบริหารจัดการของตัวเองที่เป็นอิสระ ไม่ได้นำเงินส่งรัฐบาล" น.ส.สุรีรัตน์ กล่าว

ด้าน นพ.อนันต์ อริยะชัยพาณิชย์ ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา กล่าวสนับสนุนนโยบายเมดิคัลฮับ เนื่องจากเห็นว่าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการรักษาพยาบาลจากทั่วโลกอยู่แล้ว การยกเว้นการตรวจวีซ่าให้แก่ชาวอาหรับและประเทศอื่นๆอีกรวม 21 ประเทศจะดึงดูดคนมารักษามากขึ้น และจะทำให้ประเทศได้ประโยชน์

"ถามว่าถ้ามีภัตตาคารแพงๆ อยู่ใกล้กับแผงลอย แล้วแผงลอยจะราคาขึ้นหรือไม่ อย่าไปมองในแง่ร้ายว่า เมดิคัลฮับจะดูดหมอทุกคนไปกินเงินเดือนแพงๆ" นพ.อนันต์ กล่าว

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข ชี้แจงว่า รัฐบาลส่งเสริมเรื่องนี้เพื่อนำรายได้เข้าประเทศรวมถึงชักจูงนักลงทุนด้านการแพทย์มาลงทุนในไทยและโฆษณาภาพลักษณ์ในระดับชาติด้านอื่นๆด้วย

"ยืนยันเงินลงทุนเมดิคัลฮับเป็นการลงทุนในโรงพยาบาลภาครัฐ และเป็นหน้าที่รัฐที่ต้องหารายได้เพื่อพัฒนาทางการแพทย์" รมว.สาธารณสุข ระบุ

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2556