แม้เป้าหมายการเป็น "ศูนย์กลางบริการด้านสุขภาพนานาชาติ" หรือ เมดิคัล ฮับ (Medical Hub) ไม่ใช่สิ่งที่ประเทศไทยเพิ่งจะผลักดัน แต่เมื่อมีความชัดเจนในการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ความพยายามผลักดันไทยสู่จุดหมายดังกล่าวจากทั้งภาครัฐและผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ ดูจะทวีความร้อนแรงยิ่งขึ้น
สิ่งหนึ่งที่หลายฝ่ายกังวลตลอดมา นั่นคือปัญหา"สมองไหล" จากการเปิดเคลื่อนย้ายแรงงานวิชาชีพแพทย์อย่างเสรี เมื่อมีการรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะทำให้ไทย "ไม่พร้อม" กับการเป็น เมดิคัลฮับ ในที่สุด
สมศักดิ์ โล่เลขา ประธานที่ปรึกษาอนุกรรมการแพทยสภา ปฏิเสธอย่างหนักแน่นว่า ปัญหาสมองไหลในวิชาชีพแพทย์ไม่น่าจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย เพราะการกำหนดคุณสมบัติใน MRA ของวิชาชีพแพทย์ ระบุไว้แล้วว่าผู้จะเคลื่อนย้ายได้จำเป็นต้องมีประสบการณ์อย่างน้อย 5 ปี ไม่ใช่ใครๆ ก็ย้ายได้
"ที่สำคัญ แต่ละประเทศยังมีข้อกำหนดและวิธีคัดกรองแพทย์เข้าประเทศเพิ่มเติม ซึ่งแตกต่างกันเช่น ประเทศที่แพทย์ได้เงินเดือนสูงกว่าหรือใกล้เคียงเราอย่างสิงคโปร์และมาเลเซีย แม้จะไม่มีการสอบใบประกอบวิชาชีพแพทย์ แต่ดูคุณวุฒิจากสถาบันการศึกษาที่จบมา ซึ่งมาเลเซียไม่รับรองหลักสูตรแพทยศาสตร์ของไทยด้วยซ้ำ ส่วนสิงคโปร์ก็มีตำแหน่งงานน้อยมาก"
ขณะที่ประเทศซึ่งรายได้แพทย์ปกติน้อยกว่าไทยเช่น อินโดนีเซีย กัมพูชา ก็ต้องสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเป็นภาษาของเขา เรียกได้ว่ามีการกีดกันพอสมควร ขณะที่แพทย์เวียดนามกำลังพยายามเรียนภาษาไทย และไทยก็ถือว่ามีข้อกีดกันน้อยกว่าประเทศอื่นๆดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นตรงกันข้าม คือสมอง "ไม่ไหลออก" กลับ "ไหลเข้า" ด้วยซ้ำ
สมศักดิ์ ย้ำว่า หากเทียบในอาเซียน มั่นใจว่าไทยยังเป็นที่หนึ่งด้านการแพทย์ เพราะมีความพร้อมด้านเทคโนโลยี และมีแพทย์เฉพาะทางมากกว่าประเทศอื่นๆจึงทำให้ไทยบรรลุเป้าหมายการเป็นเมดิคัล ฮับ ได้ไม่ยาก อย่างไรก็ตาม ไทยยังต้องเร่งแก้ไข ปรับปรุง และพัฒนาในอีกหลายเรื่องเพื่อให้ได้มาตรฐานที่เป็นสากลมากขึ้น โดยอาจดูตัวอย่างจากมาตรฐานแพทย์สหรัฐ
เรื่องแรกที่ต้องดำเนินการคือการแก้ไขระเบียบการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมชั่วคราวสำหรับคนต่างชาติ เพื่อมาสอนคนไทย
"วิธีที่น่าสนใจ คือการนำแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐเข้ามาสอนคนไทย โดยให้ภาคเอกชนเป็นผู้นำเข้ามา เพื่อไม่กระทบต่องบประมาณภาครัฐวิธีนี้จะช่วยให้คนไทยเก่งขึ้น มีความรู้มากขึ้น ประเทศที่การแพทย์เจริญแล้วก็เริ่มต้นจากวิธีการนี้"
เรื่องที่2 คือการผลักดันหลักสูตรแพทยศาสตร์ภาคภาษาอังกฤษ ซึ่งเคยถูกคัดค้านมาตลอด เพราะหลายฝ่ายกังวลว่า จะทำให้แพทย์ไทยหันไปรักษาคนต่างชาติหรือทำงานในต่างประเทศมากขึ้น แต่ท้ายที่สุดเชื่อว่าเรื่องดังกล่าวจะควบคุมได้ส่วนเรื่องนักศึกษาต่างชาติก็จะเปิดให้เข้ามาเรียนด้วย แต่กำหนดสัดส่วนที่ชัดเจนเพื่อไม่ให้แย่งที่นั่งนักศึกษาไทย
เรื่องที่3 คือการจัดอันดับโรงเรียนแพทย์ในไทยซึ่งจะช่วยให้โรงเรียนแพทย์ไทยเป็นที่ยอมรับมากขึ้นสามารถทราบได้ว่าแต่ละแห่งมีความพร้อมด้านเครื่องมือและบุคลากรมากเพียงใด และเมื่อต่างชาติอยากเข้ามาเรียนในไทย หรือไทยออกไปทำงานในต่างชาติก็ใช้อ้างอิงถึงกันได้หมด นอกจากนี้จะช่วยกระตุ้นให้โรงเรียนแพทย์ไทยพัฒนาตัวเองเพื่อให้ได้อันดับที่ดี
เรื่องที่4 คือการปรับปรุงหลักสูตรและการสอบ ต่อจากนี้การสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม 3 ส่วน ส่วนที่ 1 และ 2 อาจปรับเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด จากเดิมที่มี 2 ภาษาคละกัน แต่ยังคงส่วนที่ 3 ที่เป็นการสื่อสารให้สอบเป็นภาษาไทย
เรื่องที่5 คือการพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาล ถือเป็นเรื่องสำคัญกว่าจำนวนแพทย์เพราะการส่งต่อผู้ป่วยในขณะนี้ยังขาดประสิทธิภาพ ต่อไปจะต้องมีการบริหารจัดการผู้ป่วยที่ดี เพื่อไม่ให้งานไปหนักอยู่ที่โรงพยาบาลส่วนกลาง
สมศักดิ์ มองว่า ทั้ง 5 เรื่องคือภารกิจของแพทยสภาที่จะต้องทำให้สำเร็จ สู่เป้าหมายเมดิคัลฮับและรองรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อย่างไรก็ตาม เขาไม่หนักใจเลยกับการเตรียมตัวก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556
- 7 views