โวย สธ.ไม่เคยหารือปรับขึ้นค่าโรงหมอ ตั้งอนุฯพิจารณากันเองภายในกระทรวง.เมินเชิญหน่วยในสังกัดร่วมหารือด้วย
หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แสดงความไม่พอใจการพิจารณาปรับเพิ่มอัตราค่าบริการสาธารณสุขที่จะมีการประกาศใช้ในเร็วๆนี้ เนื่องจากมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นภายในกระทรวง โดยไม่เชิญหน่วยงานในสังกัดเข้าร่วมพิจารณาด้วย
ทั้งนี้ แม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะอ้างว่าได้คิดต้นทุนเพิ่มเติมจากอัตราเงินเฟ้อ ค่าแรง และค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงได้ย้ำว่าไม่กระทบกับประชาชนทั่วไป เพราะกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการข้าราชการ สามารถรองรับได้ แต่ก็ไม่ได้สอบถามหน่วยงานในสังกัดว่ามีต้นทุนอย่างไร
"เช่น สปสช. ต้องคำนวณการจ่ายเงินตามกลุ่มโรคร้ายแรง (ดีอาร์จี) ด้วยตัวเองจากต้นทุนทั้งหมด แต่ สธ.ไม่เคยหารือกับ สปสช.เพื่อนำข้อมูลต้นทุนไปร่วมพิจารณา แต่คิดเอาเองฝ่ายเดียว"แหล่งข่าวระบุ
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ด้วยเหตุนี้ สธ.จึงไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดการขึ้นค่าบริการที่จะประกาศได้ว่าค่าบริการเพิ่มขึ้นจากอะไร ใช้สูตรอะไรคำนวณ ทั้งที่ค่าบริการสาธารณสุขเหล่านี้เป็นต้นทุนที่ทำให้ 3 กองทุนสุขภาพต้องจ่ายสูงขึ้น
นอกจากนี้ จากการสำรวจของ สธ.เมื่อปี2554 พบว่าโรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่ มีกำไรค่ายาเฉลี่ยกว่า 110-120% ค่าเวชภัณฑ์กว่า 400% ค่าแล็บและค่าห้องที่สูงมากกว่า 200% เป็นต้นการปรับเพิ่มค่าบริการของ สธ.จึงอาจทำให้เอกชนปรับขึ้นค่าบริการขึ้นอีก
นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่านโยบายการปรับเพิ่มอัตราค่ารักษาพยาบาลของ สธ.ไม่มีผลกระทบต่อสปส. เนื่องจากใช้อัตราเหมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลเดิมต่อไปได้โดยไม่น่าจะต้องมีการปรับเพิ่ม
ด้าน นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข เปิดเผยว่า การรวมโรงพยาบาลในพื้นที่ใกล้เคียงกันให้บริการประชาชนจะแบ่งออกเป็น 12 เขตสุขภาพคล้ายกับการแบ่งเขตของ สปสช. โดยจะมีความชัดเจนเรื่องแนวทางปฏิบัติในวันที่1 เม.ย.นี้ จากนั้นจะใช้เวลาอีก 1-2 เดือนทำความเข้าใจกับบุคลากรของ สธ. ดังนั้นในอีก 3-4 เดือนจะเป็นรูปเป็นร่าง
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556
- 1 view