ช่วงเดือนนี้เป็นเวลาที่อบอวลไปด้วยความรัก เพราะมีทั้งวันวาเลนไทน์และวันมาฆบูชา ได้อย่างไม่เสียอย่าง สัปดาห์นี้จึงอยากชวนคุณผู้อ่านให้มีรักที่รื่นรมย์ และผมคิดว่าเรื่องพื้นฐานที่จะทำให้ความรักรื่นรมย์ได้คือ "ความปลอดภัย" ครับ
ความปลอดภัยที่ว่ามี 2 เรื่องหลักๆ ครับ คือรักแล้วต้องไม่ถูกละเมิด หากไม่พร้อมที่จะมีเพศสัมพันธ์ก็ต้องยืนยันถึงความไม่พร้อมของเรา หรือเมื่อตกลงพร้อมใจที่จะมีเพศสัมพันธ์กันก็ต้องมั่นใจว่าจะไม่ถูกแอบถ่ายคลิปวิดีโอแล้วนำไปเผยแพร่ เคยเป็นข่าวกันอยู่หลายกรณีไม่ว่าจะดาราหรือคนดังทั้งหลายที่มีภาพหลุดออกมาจนทำให้อับอายและเสียชื่อเสียงซึ่งผมเชื่อแน่ว่าคงไม่มีใครอยากให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นแน่ๆ
ความปลอดภัยอย่างที่สองคือเรื่องความปลอดภัยจากผลกระทบที่จะตามมาหลังการมีเพศสัมพันธ์ไม่ว่าจะเรื่องโรคหรือเรื่องท้อง ข้อมูลจากการสำรวจพฤติกรรมในเด็ก ม. 2 ม.5 และ ปวช.ปี 2 โดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ปี 2550-2554 พบว่า การมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกส่วนใหญ่ใช้ถุงยางอนามัยเพียง 55.1% ส่วนปัจจัยที่มีผลต่อการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นพบว่า ส่วนใหญ่คุมกำเนิดไม่ถูกต้อง หรือไม่ได้ใช้วิธีการป้องกัน เนื่องจากขาดความรู้มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องเพศสัมพันธ์คิดว่าร่วมเพศครั้งเดียวไม่ตั้งครรภ์ การใช้ถุงยางอนามัยขัดขวางความรู้สึกทางเพศ และไม่รู้ว่าตนเองจะมีโอกาสตั้งครรภ์เมื่อใด
ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลจากกรมอนามัยที่พบว่า 53% ของผู้ป่วยที่ทำแท้งส่วนใหญ่เป็นเยาวชนโดย 30 % มีสถานภาพเป็นนักเรียนนักศึกษา และพบว่ามากกว่า 80% เป็นการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ และพอมีเรื่องโรค เรื่องท้อง ความรักก็เริ่มไม่รื่นรมย์เพราะทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะวัยรุ่นหรอกครับ วัยไหนๆ ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น ทีนี้...คำถามสำคัญต่อมาคือจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นกับเรา
ผมคิดว่ามีอยู่ 3 อย่างที่ต้องทำครับอย่างแรก...ต้อง "คุยกัน" หมายถึงว่า เราและคู่ต้องสื่อสารเรื่องเพศกันอย่างตรงไปตรงมาซึ่งรวมทั้งประสบการณ์ทางเพศด้วยเพื่อที่จะได้สามารถประเมินความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี/โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ แต่เชื่อว่าหลายคนคงบอกว่า "ไม่ง่าย" เท่าไหร่นักเพราะวัฒนธรรมบ้านเราไม่เอื้อให้คนคุยเรื่องเพศกันอย่างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะผู้หญิงหากพูดเรื่องเพศก็จะถูกมองว่า "ไม่งาม" แต่ผมอยากให้ลองชั่งน้ำหนักดูครับว่าระหว่างความ"ปลอดภัย" กับความ "ไม่งาม" เราจะให้น้ำหนักเรื่องไหนมากกว่ากัน
อย่างที่สอง...ต้องประเมินความเสี่ยงของตัวเองและหาทางเลือกที่เหมาะสมในการป้องกันครับ ถ้าเรามีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือการตั้งครรภ์ ก็ต้องหาวิธีป้องกันและต้องเป็นวิธีที่เราทำได้จริงนะครับ ไม่ใช่ว่าเรากับคู่ตกลงกันแล้วว่าจะใช้ถุงยางแต่พอถึงเวลาจริงๆ กลับไม่มีใครเตรียมเพราะไม่กล้าซื้อ ไม่กล้าพกแบบนี้ถือว่าล้มเหลวครับ และเรากับคู่ก็ต้องแบกรับความเสี่ยงกันเหมือนเดิม
อย่างที่สาม...ถ้าเสี่ยงไปแล้วต้องรู้ผลเลือดของตัวเองครับเพื่อที่เราจะได้จัดการตัวเองได้ถูกและทันกับสถานการณ์ อันนี้เป็นกรณีของเอชไอวีนะครับ เพราะถ้าเรารู้ว่าผลเลือดเราเป็นลบ (ไม่ติดเชื้อ) ก็จะได้ป้องกันตัวเองทำให้ผลเลือดเป็นลบตลอดไปหรือหากตรวจแล้วพบว่าผลเป็นบวก (ติดเชื้อ) ก็จะได้เข้าสู่กระบวนการรักษา สมัยนี้ "เอดส์รักษาได้" แล้วครับ
3 อย่างที่ว่ามา ผมเชื่อว่าจะช่วยทำให้คุณผู้อ่านปลอดภัยและส่งผลให้รักของคุณ"รื่นรมย์" ได้ สำหรับผู้ที่มีความกังวลหรือต้องการข้อมูลเรื่องเพศเรื่องเอดส์โทร.มาปรึกษาได้ที่1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์ เปิดบริการทุกวันตั้งแต่ 10.00-20.00 น. เรื่องรักที่ปลอดภัยและรื่นรมย์ พวกเราช่วยกันได้ครับ
ผู้เขียน : นายนิมิตร์ เทียนอุดม ถือเป็นเอ็นจีโอด้านสุขภาพระดับแนวหน้าคนหนึ่ง ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เลขาธิการชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน และเป็นกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฝ่ายภาคประชาชน
ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556
- 9 views