รายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์ พบประชาชน วันเสาร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2556 เป็นการสัมภาษณ์ นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กรณีการปรับค่ารักษาพยาบาล
รมว.สธ. กล่าวชี้แจงว่า ในอดีต ตั้งแต่ปี 2547 ยังไม่ได้มีการปรับขึ้นค่ารักษาพยาบาล ไม่ได้มีการอัพเดทบัญชีต่างๆ ต้นทุนยังเป็นของเก่าอยู่ แต่ในปัจจุบันมีระบบเทคโนโลยีต่างๆขึ้นมาเยอะ พอไปอัพเดทจะมีรายการค่ารักษาพยาบาลวิ ธีการรักษาขึ้นมา 700 กว่ารายการ ข้าราชการก็จะได้สิทธิ์ขึ้นมาจากเดิมที่เบิกไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ในแง่ของผลกระทบนั้น เนื่องจากประชาชนทั้ง 3 ระบบในประเทศไทย คือ ทั้งข้าราชการ ระบบประกันสังคม ระบบ 30 บาทรักษาทุกโรค ไม่ได้รับผลกระทบ เพราะไม่ได้ไปจ่ายอยู่แล้วในระบบ
"ถ้าอยู่ในระบบอยู่แล้ว ก็มีระบบหักจ่ายหรือเบิกจ่ายกันเองอยู่แล้ว เพราะจริงๆการปรับครั้งนี้มีทั้งขึ้นและลงเป็นเรื่องภายในระหว่างหน่วยงานบริหารราชการด้วยกันเอง ครั้งนี้เรากำลังทำต้นทุนที่แท้จริง ไม่ต้องมาอุดหนุนทางอ้อม เป็นการทำระบบต้นทุนให้ถูกต้องเท่านั้น "รมว.สธ.กล่าว
รมว.สธ. กล่าวถึง กลุ่มที่ได้รับผลกระทบ กลุ่มแรกคือ คนต่างชาติที่มารักษาพยาบาลในประเทศไทย เพราะมีต่างชาติเข้ามารักษาพยาบาลเยอะมาก ถ้าคิดค่ารักษาต่ำว่าทุนก็เหมือนไปอุดหนุนก็ต้องคิดค่าธรรมเนียมให้ถูกต้อง กลุ่มที่สองคนต่างชาติที่มีวีซ่าเข้าประเทศแต่ไม่มีค่ารักษา ซึ่งรัฐบาลมีแนวคิดว่าอาจจะต้องมีการซื้ออินชัวรันส์ กลุ่มที่สาม คือกลุ่มแรงงานต่างด้าวหรือผู้ติดตาม จะทำเป็นระบบประกันเข้ามามีการคิดค่าธรรมเนียมรายปี ถ้าไม่คิดค่าธรรมเนียมที่ถูกต้องก็ขาดทุนไปอีก
นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวต่อถึง กระบวนการดำเนินการปรับค่ารักษาพยาบาลว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนตรวจสอบบัญชีทั้งหมด และต้องตกลงกับทางกรมบัญชีกลาง กว่าจะตกลงกันได้คาดจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การปรับค่ารักษาพยาบาลดังกล่าว จะไม่กระทบกับค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชน และก็ไม่ควรฉวยโอกาสขึ้นราคาจากข้ออ้างที่ภาครัฐจะปรับค่ารักษาพยาบาล และระบบประกันก็ไม่น่าจะขึ้นเบี้ยประกัน เพราะต้นทุนโรงพยาบาลเอกชนก็เป็นต้นทุนปัจจุบันอยู่แล้ว ไม่ได้เป็นการขึ้นต้นทุน และค่าธรรมเนียมต่างๆก็เป็นค่าธรรมเนียมปัจจุบันอยู่แล้ว
ในส่วนของมาตรฐานการรักษา ที่ผ่านมาได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องปรับราคา ปีนี้เราก็ทำเรื่องเจ็บป่วยฉุกเฉิน หรือขยายเวลาตรวจที่ประชาชนสามารถไปตรวจได้ทั้งวัน การย้ายสิทธิการรักษาพยาบาลได้ปีละ 4 ครั้ง ที่เราจะดู คือ ปัญหาในการใช้สิทธิ์ในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล เราพบว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีปัญหา เพราะเดิมองค์กรจ่าย ถ้ามีเงินไม่พอก็ล้มละลายไป ก็จัดระบบให้อปท.ได้รับการรักษาเทียบเท่าข้าราชการ ถือหลักเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขกัน หรือกรณีการเข้าถึงการรักษาพยาบาล เช่น การเจ็บป่วยของคนกรุงเทพ พบว่า 72% ซื้อยากินเอง อาจมีปัญหาในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล เราเองมองว่าทำไมดูด้อยกว่าคนต่างจังหวัดอีก ก็จะคุยกับทางกทม.ให้คนกรุงเทพฯเข้าถึงการรักษาพยาบาลให้มากที่สุด ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะประชาชนต้องเข้าถึงการรักษาพยาบาล เพื่อลดภาระทางการเงินของประชาชนลง ไม่ต้องไปเสียเงินซื้อยากินเอง
ส่วนในต่างจังหวัดมีพอแล้ว เราเน้นเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ เพราะในต่างจังหวัดพบว่าเรื่องที่เป็นปัญหา คือ การเจ็บป่วยเรื้อรังหรือเกิดจากพฤติกรรมเราเอง เราเน้นเรื่องการป้องกันและลดปัญหาจากพวกนี้ สิ่งที่จะทำต่อไปคือแนวโน้มของประเทศที่จะมีคนชรามากก็จะดูว่าจะเข้าไปดูแลอย่างไร
- 1 view