"ไฮแทป"เตรียมเสนอแผนการตรวจสุขภาพสำหรับคนไทยใหม่ หลังผลการวิจัยพบโปรแกรมที่ใช้อยู่ บางโรคไม่มีความจำเป็น ซึ่งส่งผลกระทบกับสุขภาพ
ดร.นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ ประธานโครงการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ (HITAP) เปิดเผยถึงผลวิจัยเรื่องโครงการคัดกรองทางสุขภาพระดับประชากรในประเทศไทย พบว่ามีประเด็นที่น่าสนใจคือ โปรแกรมตรวจสุขภาพของคนไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่มีหลักฐานทางวิชาการมาสนับสนุน ทั้งบางประเภทกลับทำให้เสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น และได้รับอันตรายจากผลข้างเคียงจนถึงขั้นเสียชีวิต เช่น การ x-ray ปอด หากทำไปโดยไม่มีจุดมุ่งหมายอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและทำให้เสียชีวิตในที่สุด พบว่าการได้รับรังสีจะก่อให้เกิดการเสียชีวิตแต่ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นเปอร์เซ็นต์เท่าไหร่
นอกจากนี้การตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากก็ถือว่าไม่มีความจำเป็นเช่นกัน เพราะแท้จริงแล้วมะเร็งต่อมลูกหมากมี 2 ประเภท ประเภทแรกเป็นมิตร ไม่ได้ทำอันตรายต่อร่างกาย ซึ่งคนไทยเป็นอยู่ประมาณ 60 % และประเภทที่สองมีอาการรุ่นแรงสมควรได้รับการรักษา แต่เมื่อมีการตรวจคัดกรอง ไม่ว่าจะพบชนิดใดชนิดหนึ่งก็ต้องรักษา โดยขั้นตอนการตรวจรักษาทำให้เกิดผลข้างเคียง เพราะต้องฉายแสง เคมีบำบัด ฝังแร่ ทำให้อวัยวะบริเวณดังกล่าวไหม้ บางรายถึงขั้นเสียชีวิต ในขณะที่หลายประเทศได้ยกเลิกการตรวจคัดกรองไปแล้ว อย่างเช่น ประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา
ดร.นพ.ยศ กล่าวต่อไปว่า ขณะเดียวกันผลการศึกษายังพบกลุ่มโรคที่ส่งเสริมให้มีการตรวจคัดกรอง 12 ชนิด คือ โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวาน ไต โรคมะเร็ง โรคเอดส์ วัณโรค โรคหอบหืด โลหิตจาง ธาลัสซีเมีย ภาวะทุพโภชนาการ โรคพิษสุราเรื้อรังและอุบัติเหตุจราจร อย่างเช่นโรคมะเร็งตับที่เกิดจากเชื้อไววัสตับอักเสบ บี ควรส่งเสริมให้มีการตรวจทุกคน เพราะคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปอย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต ทั้งนี้ในวันที่ 4 มี.ค.นี้ ทางไฮแทปจะจัดประชุมใหญ่เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยดังกล่าวที่เมืองทองธานี ก็จะนำเสนอแผนคัดกรองโรคที่เหมาะสมเข้าไปด้วย
สำหรับไวรัสตับอักเสบ บี จะติดต่อกันทางน้ำคัดหลั่ง ทำไมผลการศึกษาถึงไม่แนะนำให้ตรวจคัดกรองในกลุ่มวัยเจริญพันธุ์ ดร.นพ.ยศ กล่าวว่า เนื่องจากไวรัสตับอักเสบ บี ถ้าได้รับตั้งแต่เด็ก จะส่งผลให้เกิดโรคมะเร็งตับ ในช่วงประมาณ อายุ 40 ปีขึ้นไป จึงแนะนำคนช่วงนี้ให้ไปตรวจ ถ้าเจอจะได้ทำการรักษาทัน แต่กับกลุ่มคนวัยเจริญพันธุ์นั้นจะมีการเปิดให้คำแนะนำเพื่อวางแผนครอบครัว และส่งเสริมให้ตรวจโรคติดต่อก่อนอยู่แล้ว
"เราจะเสนอชุดสิทธิประโยชน์ในการตรวจร่างกายใหม่สำหรับข้าราชการต่อกรมบัญชีกลาง หลังจากพบว่าชุดสิทธิประโยชน์ที่ทางกรมบัญชีกลางให้สิทธิแก่ข้าราชการมากกว่า 30 - 40 ปีนั้นไม่สามารถบอกได้ว่าสามารถป้องกันโรคอะไรบ้าง รวมถึงประชาชนทั่วไปด้วย"
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556
- 4 views