การประกาศปรับขึ้นค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลกว่า 800 แห่งของกระทรวงสาธารณสุข ได้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งสนับสนุนและไม่เห็นด้วย เกรงว่าการปรับขึ้นครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อภาระงบประมาณด้านสุขภาพรวมไปถึงส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย
ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยควรจะขึ้นราคาค่าบริการรักษาพยาบาล เพราะต้นทุกการรักษาพยาบาลสูงขึ้นต่อเนื่อง รัฐบาลก่อนรัฐบาลนี้ก็พยาบาลยกราคาค่ารักษาพยาบาลให้กับโครงการ 30 บาท ที่รัฐบาลต้องจ่ายให้ ขณะที่ประกันสังคมก็เคยจะปรับราคาขึ้น เพราะต้นทุนสูงขึ้น เงินเดือนของแ พทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ก็สูงขึ้นมานานแล้ว ส่วนการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทให้กับลูกจ้างก็เป็นส่วนที่ซ้ำเติมต้นทุนที่ยิ่งสูงขึ้นไปอีก "ที่ผ่านมาค่ารักษาพยาบาลไม่มีการขึ้นราคามานานกว่า 10 ปีแล้ว หากดูเฉพาะค่าพักห้องพิเศษในโรงพยาบาลของรัฐราคาถูกมาก อยู่ที่ราคา 800 บาทต่อคืน เพราะต้องการดึงให้ข้าราชการมารักษา ขณะที่โรงพยาบาลลงทุนมาก สร้างห้องพิเศษเพิ่ม ทั้งๆที่บางครั้งก็ปล่อยให้ว่าง เมื่อข้าราชการมารักษาโรงพยาบาลของรัฐก็สามารถเบิกค่ายาได้ไม่จำกัด เพราะกรมบัญชีกลางไม่ได้ควบคุมในส่วนนี้"ดร.อัมมารกล่าว
เขาบอกอีกว่า ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับผู้ป่วยสามัญ เช่น ไม่มีการจัดห้องพักให้กับผู้ป่วยสามัญ โดยเฉพาะโรงพยาบาลศูนย์ต่างๆ และโรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งไม่มีการพัฒนาห้องพักพิเศษสำหรับผู้ป่วยสามัญเลย ในขณะที่ห้องพิเศษ 800 บาทสำหรับข้าราชการมีการพัฒนาขยายเพิ่มขึ้น ดังนั้น เมื่อมีการปรับราคาค่าบริการรักษาพยาบาลแล้ว ขอเสนอว่ารัฐบาลควรจะให้งบประมาณมาดูแลผู้ป่วยสามัญ ทั้งที่อยู่ในส่วนที่กองทุนสุขภาพจ่ายให้และในส่วนที่ผู้ป่วยจ่ายเอง
และ สธ.ควรมีการจัดทำบัญชีที่ชัดเจน แม้ว่าที่ผ่านมามีความโปร่งใส แต่ก็ยังไม่รู้ว่าในแต่ละปีโรงพยาบาลได้กำไรหรือขาดทุนเท่าไหร่ เพราะที่ผ่านมา สธ.ทำบัญชีไม่ขาดทุนจากการบริการให้กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ สปสช. แต่ทำบัญชีให้การขาดทุนทั้งหมดไปตกอยู่ที่ สปสช. เพราะเขาเอาตามราคาที่เก็บเพิ่ม(ชาร์จ) ว่าเป็นต้นทุนในการรักษาคนไข้ 30 บาท แต่นั้นไม่ใช่ต้นทุนที่แท้จริง และเวลานี้ต้นทุนส่วนนี้ก็จะเพิ่มขึ้น และ 3. ทั้งหมดนี้จะมีผลว่า ราคาที่จะเพิ่มจากกรมบัญชีกลางก็จะเพิ่มขึ้นไปด้วยอย่างแน่นอน โดยส่วนนี้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคต้องเข้ามาดูในส่วนนี้ด้วย
"ต่อจากนี้ สคบ.ควรเข้ามาติดตาม สปสช.และประกันสังคมว่าได้ค่าหัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วยหรือไม่ ส่วนข้าราชการถ้าใช้หลักการเก็บค่ารักษาเพิ่มตามการให้บริการ และคนไข้นอกก็จะไม่มีปัญหา ส่วนคนไข้ในอาจจะมีปัญหา เพราะการคำนวณค่ารักษารายโรค หรือ ดีอาร์จี อาจจะนำมาร่วมในการคิดค่ารักษาพยาบาลเพิ่ม ซึ่งต้องมีมาตรการในการควบคุมรองรับด้วย เพราะที่ผ่านมาเมื่อโรงพยาบาลได้เงินเพิ่ม แพทย์และพยาบาลก็ได้รับเงินเดือนเพิ่มเช่นกัน ซึ่งผมมองว่ารัฐบาลควรกำหนดให้ชัดเจนว่าเงินส่วนที่ได้รับเพิ่มเข้ามาจะไปใช้ในส่วนใดบ้าง" ดร.อัมมารกล่าว
เขาบอกอีกว่า ปัญหาที่ผ่านมาของระบบการรักษาพยาบาลของไทย คือยังไม่มีระบบบัญชีในภาพรวมที่เป็นจริง เพราะการบริหารจัดการ แม้ว่า สธ.มีหน้าที่ควบคุมโรงพยาบาล แต่ก็ไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด ขณะที่โรงพยาบาลของรัฐ ไม่ใช่นิติบุคคล เป็นส่วนหนึ่งของกรมที่ใช้ระบบข้าราชการ ส่วนโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยก็เป็นส่วนของคณะแพทยศาสตร์ หรือเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย แต่ก็มีอิสระทางการเงินมาก เพราะเมื่อมีเงินเหลือแต่ละปี ไม่จำเป็นต้องส่งคืนกรมบัญชีกลางเหมือนข้าราชการ
ดังนั้น เงินที่คงเหลือ ก็สามารถใช้ได้มากกว่างบประมาณที่ได้ ทำให้ระบบบัญชีของโรงพยาบาลไม่เป็นระบบ ทำให้เกิดปัญหากับเงินในส่วนของ สปสช.เพราะโรงพยาบาลทำบัญชีเหมือนระบบข้าราชการ ไม่บอกชัดเจนว่าเงินที่ควรพึงรับจำนวนเท่าไหร่ แต่ระบุว่าเงินพึงรับเท่ากับราคาที่เก็บเพิ่ม ซึ่งขณะนี้ก็ได้เก็บเพิ่มแล้ว แต่จำนวนตามความเป็นจริงกลับไม่มีใครรู้
"ปัญหาในเรื่องของระบบงาน สธ.เองก็ไม่สามารถควบคุมโรงพยาบาลทั้งในสังกัดและเอกชนได้อย่างแท้จริง ทำให้ระบบการรักษาพยาบาลในภาพรวมทั้งหมดไม่มีใครดูแล แม้แต่ สปสช.ก็ดูแลได้บางส่วนในฐานะผู้ซื้อบริการ แต่ไม่สามารถควบคุมโรงพยาบาลได้ ดังนั้น เสนอว่าเมื่อมีการปรับขึ้นราคาค่ารักษาพยาบาล รัฐบาลควรมีนโยบายที่ชัดเจนในส่วนของระบบการรักษาพยาบาล อย่าปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ สธ. หรือหน่วยงานที่ดูแลโรงพยาบาลเท่านั้น เพราะจะทำให้การจัดทำระบบบัญชียิ่งล้มเหลว ดังนั้น ทำอย่างไรเราจะรู้ว่าเงินที่แต่ละโรงพยาบาลได้รับมานั้นจะใช้ในการบริหารจัดการใดบ้าง ส่วนการเก็บค่ารักษาพยาบาลเพิ่ม อาจจะต้องมีการพูดถึงงบประมาณรายหัวที่รัฐอาจจะต้องเพิ่มขึ้นด้วย" ดร.อัมมารกล่าว ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวานนี้(31ม.ค.) นพ.เธียรชัย สุวรรณเพ็ญ ส.ส.ตาก พรรคประชาธิปัตย์ ได้ถามกระทู้สดต่อ นายกรัฐมนตรี เรื่อง การปรับอัตราค่ารักษาพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ว่า กรณีที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศจะขึ้นราคาค่ารักษาพยาบาล เป็นเพราะปัญหาการบริการจัดการงบประมาณที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงสะท้อนว่ารัฐบาลของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการดูแลระบบสาธารณสุขของประเทศเนื่องจากจัดทำงบประมาณให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คิดเป็นจำนวน 2,755 บาท ต่อคนต่อปี ทำให้โรงพยาบาลต่างๆในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีปัญหาการเงิน จนไม่สามารถสั่งซื้ออุปกรณ์การแพทย์ที่มีประสิทธิภาพได้
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงแทนนายกฯ ว่า การประกาศปรับราคาค่ารักษาพยาบาล มีเหตุผล2 ประการ คือ 1.กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ปรับขึ้นตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งหลังจากมีระเบียบของกระทรวงปรากฏว่าการบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีบริการที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ 758 รายการที่ไม่ได้บรรจุไว้ในระเบียบดังกล่าว ดังนั้น ถ้าไม่ปรับค่าบริการแล้วจะทำให้การคิดค่าบริการของสถานพยาบาลของกองทุนต่างๆมีความคลาดเคลื่อน นอกจากนี้ จะไม่มีการคุ้มครองผู้มารับบริการ และ2.เหตุผลด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยพบว่าในรอบ10ปีมีต้นทุนเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ค่าแรง ราคาวัสดุ ค่าเสื่อมราคา และที่สำคัญระเบียบปี 2547ไม่เอื้ออำนวยต่อการเบิกค่าใช้จ่ายจากกองทุนต่างๆ
นพ.ชลน่าน ชี้แจงต่อว่า เหตุที่จัดงบประมาณต่อคนต่อปีของสปสช.ได้แค่ 2,755 บาท เนื่องจากอัตราค่าบริหารที่กำหนดมาตั้งแต่ปี2547 ไม่ได้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เพราะราคาค่ารักษาพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขคิดเฉพาะ ค่าแรง ค่าวัสดุ ค่าเสื่อมของครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้าง โดยไม่ได้คิดค่าการพัฒนาการ ทั้งที่ควรคิดในอัตราเพิ่มขึ้นอีก 20 - 25 %จึงมีความจำเป็นที่กระทรวงต้องคิดต้นทุนให้สะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น เพื่อให้มีผลต่อการคำนวณงบประมาณต่อคนในทุกประเภท ซึ่งจะเป็นธรรมแก่ประชาชนเอง
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556
- 7 views