วัยรุ่นตั้งครรภ์และการตั้งครรภ์อย่างไม่พึงประสงค์หรือตั้งครรภ์ไม่พร้อม เป็นสาเหตุใหญ่ที่นำมาซึ่งการทำแท้ง โดยจะเห็นได้จากข่าวที่สะเทือนความรู้สึกของสังคมไทยและทั่วโลก เมื่อเดือนพฤศจิกายนเมื่อปี 2553 กับการพบซากของทารกที่ถูกทำแท้งจำนวน 2002 ศพในวัด 3 แห่งในกรุงเทพ
ด้วยปัญหาดังกล่าวมูลนิธิเพื่อสุขภาพและสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ของสตรี (แห่งประเทศไทย) ร่วมกับราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน และวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงจัดการประชุมนานาชาติ ครั้งที่ 2 เรื่อง "สุขภาพสตรีและการทำแท้งไม่ปลอดภัย" เพื่อส่งเสริมวิชาการและกระตุ้นความตระหนักของสังคมไทยและทั่วโลกในการดูแลสุขภาพผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นและผู้หญิงท้องไม่พร้อม เพื่อสร้างภาคีเครือข่ายระดับนานาชาติในการร่วมแก้ปัญหาสุขภาพของสตรีและการป้องกันการแท้งที่ไม่ปลอดภัย
นพ.กิตติพงศ์ แซ่เจ็ง ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่าปัญหาการป้องกันการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยของทุกประเทศ เป็นเรื่องของทัศนคติของผู้ให้บริการมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับเรื่องของการทำแท้ง และเรื่องการปรับทัศนคติ เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก แต่เราจะทำอย่างไรให้คนที่ตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ได้เข้าไปสู้กระบวนการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยได้ และถ้าสถานพยาบาลบางพื้นที่ไม่สามารถให้บริการได้ก็ควรจะมีการส่งต่อผู้ที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์ไปยังสถานพยาบาลที่ให้บริการ โดยในทางกฎหมายอาญาและข้อบังคับของแพทยสภามีการอนุญาตให้ยุติการตั้งครรภ์ได้ แต่ต้องเป็นไปตามกฎหมายข้อบังคับแพทยสภากำหนด
"ผู้ที่ตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ เช่น กรณีที่ถูกข่มขืน หรือพบว่าทารกในครรภ์อาจเป็นอันตรายต่อผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ก็สามารถเข้าสู่ระบบการให้บริการได้หากดำเนินการตามข้อกฎหมายและกฎระเบียบ ซึ่งจะสามารถป้องกันอันตรายจากการทำแท้งได้ แต่ที่ผ่านมาผู้ให้บริการยังมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อเรื่องของการทำแท้ง ก็อาจจะไม่ให้บริการ ทำให้บางกรณีมีอายุครรภ์เกินกว่าที่จะทำแท้งได้ คือ เลย 12 สัปดาห์ไปแล้วก็ไม่สามารถทำได้ จึงคิดว่าอยากให้มองถึงอนาคตของผู้หญิงที่เขาไม่พร้อมจะดูแลลูกจะเป็นอย่างไร หรือ เขาไปเข้าสู่วงจรทำแท้งเถื่อนซึ่งอันตรายต่อสุขภาพจะเป็นอย่างไร"
ขณะที่สถานการณ์ภาพรวมของไทยในเรื่องของการยุติการตั้งครรภ์ไม่พร้อมและการแท้งที่ไม่ปลอดภัยยังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ แม้ว่าขณะนี้ประชาชนมีสิทธิได้รับการบริการด้านสุขภาพอย่างถ้วนหน้า แต่โรคภาวะท้องไม่พร้อมและปัญหาการแท้งไม่ปลอดภัยเป็นโรคเดียวที่ไม่ได้รับการดูแลอย่างจริงจังและยังไม่มีระบบบริการสุขภาพรองรับ
ปัจจุบันยังพบวัยรุ่นและผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ท้องไม่พร้อม และการแท้งอย่างไม่ปลอดภัยอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งสถานบริการส่วนมากยังคงไม่มีการบริการคุมกำเนิดส่งผลให้ผู้หญิงเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลและการป้องกันอย่างถูกวิธี จึงทำให้เกิดการเสียชีวิตและบาดเจ็บจากการทำแท้งไม่ปลอดภัย โดยในแต่ละปีรัฐต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาการป่วยและตายจากการทำแท้งและการขูดมดลูกเป็นจำนวนมาก
"ในทางการแพทย์ไทยยังคงใช้วิธีเทคโนโลยีที่ล้าหลัง โดยเฉพาะการขูดมดลูกที่ถือเป็นทางออกหลักของการยุติการตั้งครรภ์หรือการรักษาการแท้งไม่ครบ รวมทั้งการรักษาผู้หญิงที่มีปัญหาอนามัยการเจริญพันธุ์"
ในด้านกฎหมายประชาชนยังไม่มีความรู้และยังเข้าไม่ถึงข้อมูล จึงควรต้องมีการให้ความรู้เรื่องกฎหมายอาญามาตรา 305 และข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการยุติการตั้งครรภ์แก่ผู้ให้บริการสุขภาพทุกระดับและกลุ่มวิชาชีพที่เกี่ยวข้องได้แก่ ฝ่ายการเมือง ผู้บริหาร แพทย์ เภสัช พยาบาล บุคลากรสาธารณสุข ตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษา นักสังคมสงเคราะห์ ครู นักเรียน นักศึกษารวมทั้งผู้หญิงและประชาชนทั่วไป อีกทั้งด้านการศึกษา สังคมและเศรษฐกิจยังคงต้องมีการพัฒนาหลักสูตรและทักษะผู้สอนในวิชาเพศศึกษา การให้ความรู้ สร้างความเข้าใจและทัศนคติที่ดีต่อปัญหาท้องไม่พร้อมและแท้งที่ไม่ปลอดภัยในทุกกลุ่มวิชาชีพที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกลุ่มของประชาชนทั่วไป
ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาในต่างประเทศ Phillip Darney ตัวแทนภาคีเครือข่ายจากประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ทั่วโลกให้ความสำคัญกับบทบาทของผู้หญิงอย่างมาก โดยผู้หญิงกว่า 80 %เป็นผู้ผลิตอาหารประกอบกิจการภาคเกษตรและฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และอีกกว่า 70% เป็นภาคแรงงาน ซึ่งจากของมูลปี 2551 ผู้หญิง 358,000 คนที่เสียชีวิตพบว่ามาจากการตกเลือดสูงถึง 35% ทำแท้งแบบไม่ป้องกัน 14% โรคความดันโลหิตสูง 11% โรคติดเชื้อ 10%และติดโรคเอดส์ 7% นอกจากนี้ยังพบว่าผู้หญิงกว่าครึ่งล้านคนตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์และต้องทนทุกข์ทรมานจากการติดเชื้อเอดส์ และ 5 ล้านคนเจ็บป่วยรุนแรงจากภาวะแทรกซ้อนจากการคลอดบุตร
"ยังพบว่าในแต่ละปีมีผู้หญิงจากทั่วโลกกว่า 20 ล้านคนหรือ 97% ทำแท้งอย่างไม่ปลอดภัย และในจำนวนนี้ 10 - 30 % เป็นผู้หญิงที่เสียชีวิตลงจากการทำแท้งอย่างไม่ปลอดภัยโดยเฉพาะประเทศที่ยากจน อย่างแอฟริกาและละตินอเมริกา เพราะยังไม่มีกระบวนการทำแท้งอย่างปลอดภัย"
เขาบอกว่า หลังจากอเมริกามีกฎหมายอนุญาตให้ทำแท้ง ตั้งแต่ปี 2510 อัตราการเสียชีวิตจากการทำแท้งไม่ปลอดภัยลดลง โดยจากการประชุมหารือในเวที Global Health Policy Summits ได้มีข้อเสนอ 5 ส่วนได้แก่ 1.ทุกประเทศต้องให้ความสำคัญกับสุขภาพของผู้หญิงเป็นประเด็นหลัก 2. ต้องหาแนวทางในการปฏิบัติที่เหมาะสมเพื่อที่จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลง 3. ต้องให้ทุกคนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของการดำเนินงานร่วมกันเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ 4. รัฐบาลและเอกชนต้องลงทุนด้านงบประมาณและ 5. ต้องมีการติดตามประเมินผลการทำงานเพื่อหาผู้ที่รับผิดชอบและให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อย่างไรของตาม Phillip ให้ความเห็นว่าการแก้ปัญหาการทำแท้งไม่ปลอดภัยแม้จะมีกฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งได้ แต่ยังช่วงรักษาชีวิตของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ได้น้อยกว่าการวางแผนครอบครัว ซึ่งจากข้อมูลการแก้ปัญหาการทำแท้ง พบว่า การวางแผนครอบครัวสามารถช่วยชีวิตผู้หญิงได้ถึง 107,000 คนหรือ 30% และการยุติการตั้งครรภ์ หรือการทำแท้งอย่างปลอดภัยช่วงได้เพียง 46,000 คน หรือ 13% โดยจากตัวอย่างของการวางแผนครอบครัวและการคุมกำเนิด ในสหรัฐอเมริกาและรัฐแคลิฟอเนีย เมื่อปี 2553 พบว่าอัตราการตั้งครรภ์ลดลงและอัตราการทำแท้งก็ลดลงไปด้วย
ขณะที่ Hamid Rashwan ผู้แทนจากประเทศอังกฤษกล่าวถึงภาพรวมวิวัฒนาการการทำแท้งของกฎหมายอังกฤษว่า กฎหมายการอนุญาตทำแท้งมีมานานแล้ว โดยในปี 2510 มีการร่างกฎหมายชื่อว่าAbortion Act และในปี 2511 ได้ประกาศใช้เพื่อช่วยลดจำนวนการตายของผู้หญิงที่ทำแท้งอย่างไม่ปลอดภัย จนอาจจะส่งผลต่อสุขภาพหรือเกิดโรคแทรกซ้อน ทำให้เรื่องของการทำแท้งเป็นเรื่องที่ถูกกฎหมาย โดยกำหนดให้ผู้หญิงที่สามารถทำแท้งได้ต้องมีอายุครรภ์ไม่เกิน 28 สัปดาห์
จากนั้นในปี 2533 มีการแก้ไขกฎหมายให้ลดอายุครรภ์ลงเหลือ 24 สัปดาห์ หากอายุครรภ์เกินแต่มีความจำเป็นต้องทำแท้ง กฎหมายจะยกเว้นให้เฉพาะกรณีที่ผู้หญิงมีปัญหาด้านสุขภาพ หรือพบว่าทารกในครรภ์มีความผิดปกติรุนแรง โดยเปลี่ยนชื่อของกฎหมายเป็น The Human Fertilisation and Embryology Act 2533 ซึ่งหลังจากมีกฎหมายถูกต้องแล้วพบว่าประเทศอังกฤษมีประชากรผู้หญิงที่ทำแท้งจำนวน 196,082 ครั้ง เป็นชาวอังกฤษ 189,931 คน แต่ก่อนมีกฎหมายกลับมีผู้หญิงทำแท้งไม่ปลอดภัยสูงเป็น 2 เท่าของผู้ที่ทำแท้งอย่างถูกกฎหมาย
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 25 มกราคม 2556
- 82 views