สธ. สปสช. เตรียมลงเอ็มโอยูร่วมมือกับ อปท. กระทรวงมหาดไทย ตั้งกองทุนค่ารักษาพยาบาลข้าราชการพนักงานส่วนท้องถิ่นและครอบครัวจำนวนกว่า 5.3 แสนคนทั่วประเทศ ในวันที่ 6 ก.พ. 2556 สิทธิทัดเทียมกับข้าราชการพลเรือนรักษาโรงพยาบาลรัฐได้ทุกแห่ง ไม่ต้องสำรองจ่ายล่วงหน้า โดยท้องถิ่นเตรียมงบประมาณเบื้องต้น 6,000 ล้านบาท ก่อนส่งเข้า ครม. อนุมัติรับรองก่อนดำเนินการในปีงบประมาณ 2557
นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่าในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2556 นี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือหรือเอ็มโอยู(MOU) ระหว่าง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ สปสช. กระทรวงสาธารณสุข กับกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กระทรวงมหาดไทย ในการตั้งกองทุนกลางค่ารักษาพยาบาลข้าราชการส่วนท้องถิ่น หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น สมาพันธ์และเครือข่าย ได้หารือกันอย่างต่อเนื่อง ในการหาแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพด้านการจัดบริการการรักษาพยาบาลกลุ่มข้าราชการ พนักงานและครอบครัว ที่อยู่ในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล
นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า ในการจัดตั้งกองทุนกลางค่ารักษาพยาบาลข้าราชการส่วนท้องถิ่นดังกล่าว กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นจะขอตั้งงบประมาณจัดตั้งกองทุนเบื้องต้น 6,000 ล้านบาท โดยโอนไปให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจัดเป็นกองทุน เพื่อดูแลข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น ลูกจ้างประจำและครอบครัว สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด 76 แห่ง เทศบาล 1,900 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล 5,693 แห่ง รวมจำนวนทั้งหมด 537,692 คน เฉลี่ยประมาณรายละ 12,000 บาท ซึ่งสิทธิประโยชน์จะทัดเทียมระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการพลเรือน ไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษา สามารถรักษาที่โรงพยาบาลรัฐได้ทุกแห่ง โดยหลังลงนามบันทึกความร่วมมือแล้ว จะมีการยกร่างพระราชกฤษฎีกาภายใต้มาตรา 9 ของพระราช บัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก่อนนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อให้มีผลในปีงบประมาณ 2557 ต่อไป
“ที่ผ่านมา การจัดบริการการรักษาพยาบาลกลุ่มข้าราชการ พนักงานและครอบครัว ที่อยู่ในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล ทุกคนต้องสำรองจ่ายการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง ไม่มีสิทธิเบิกตรงเหมือนข้าราชการพลเรือน ระยะเวลาเบิกจ่ายค่อนข้างนาน กระทบกับข้าราชการชั้นผู้น้อย รวมทั้งมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็กบางแห่ง มีงบประมาณน้อย แต่เสียค่ารักษารักษาพยาบาลจำนวนมาก ต้องจ่ายเพิ่มเอง ซึ่งการจัดตั้งกองทุนกลางมาดูแลในครั้งนี้ จะช่วยสร้างความมั่นคงสิทธิด้านการรักษาพยาบาลสำหรับข้าราชการ/พนักงานส่วนท้องถิ่นและครอบครัวให้ได้รับบริการที่เสมอภาคกับสิทธิอื่น ๆ ยิ่งขึ้น” นายแพทย์ประดิษฐกล่าว
- 28 views