ประเด็นร้อนร่างกรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (เอฟทีเอไทย-อียู) ถึงแม้จะผ่านความเห็นชอบจากสภาแล้วก็ตาม แต่ก็ยังเป็นข้อถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง เนื่องจากเห็นว่า การเจรจาครั้งนี้ฝ่ายไทยจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบในหลายๆด้าน "คม ชัด ลึก" จัดเสวนาเรื่อง "ติดกรอบเอฟทีเอ ..ติดกับอียู ?

โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย เภสัชกร ทัฬห ปึงเจริญกุล ผู้อำนวยการบริหารสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน ดร.ปิติ ศรีแสงนาม รองผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรี ภาคประชาชนเอฟทีเอ วอทช์

ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมเสวนาต่างเป็นห่วงใน 3 เรื่องหลัก นั่นก็คือ เรื่องยา เรื่องสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ เรื่องการลงทุน

ในขณะที่ทางภาคอุตสาหกรรมยา เป็นห่วงในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิบัตรยาที่มีการเจรจากับสหภาพยุโรปในครั้งนี้ด้วยสำหรับเรื่องยาแล้ว น่าเป็นห่วงอย่างมากเพราะเชื่อว่า จะส่งผลให้ราคายาแพงมากขึ้นทั้งๆที่ประชาชนควรจะซื้อยาได้ในราคาถูก ประชาชนต้องสามารถเข้าถึงยาได้มากขึ้น อย่างเช่น ยาบางชนิด ประชาชนควรจะจ่ายเพียงแค่เม็ดละ 1 บาทเท่านั้น แต่กลับต้องจ่ายเงินเม็ดละ 35 บาท ดังนั้น การไปเจรจาต้องระวังให้ดีถึงผลกระทบที่จะตกแก่ประชาชน

ขณะที่ผู้เข้าร่วมเสวนาต่างตั้งคำถามว่าผู้ที่จะไปเจรจา ต้องเข้าใจและตระหนักถึงผลกระทบ โดยเฉพาะหรือยัง?

นอกจากนี้ ในการเจรจาการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป ยังมีเรื่องของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ และการลงทุนอีกด้วย ซึ่งในเรื่องนี้ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากหากผลการเจรจาไปอย่างที่ฝ่ายสหภาพยุโรปต้องการ นั่นหมายถึงผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนไทย

อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าร่วมเสวนาทั้งสามต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่ได้คัดค้านหรือขัดขวางการเจรจาดังกล่าว แต่ต้องการให้มีการร่างกรอบการเจรจาด้วยความระมัดระวัง และเป็นไปอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะไม่อยากเห็นไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบ

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 31 มกราคม 2556