คนไข้อ่วม"กระทรวงสาธารณสุข" เตรียมขึ้นราคาค่ารักษาพยาบาลโรงพยาบาลในสังกัดอีก 10-15% โรคปอด-หัวใจพุ่งเฉียดหัวละ 2 หมื่นบาทกลายเป็นภาระอันหนักอึ้งของประชาชนตาดำๆอีก แต่ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข "นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์"กลับระบุว่าการขึ้นราคาค่ารักษาไม่กระทบกับประชาชน เพราะส่วนใหญ่เข้าไปอยู่ในหลักประกันสุขภาพของรัฐบาลอยู่แล้ว
วันนี้เรามาลองรับฟังความคิดเห็นจากวุฒิสมาชิกที่เป็นแพทย์กับผู้ที่ทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคกันดูว่าจะมีผลกระทบต่อประชาชนหรือไม่อย่างไรและควรหาทางออกอย่างไรบ้าง
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว.สรรหา
"ไม่มีอะไร ในหลักการแล้ว ปัจจุบันนี้ประชาชนเขาก็ไม่ได้รับผลกระทบอะไรประชาชนเขาไม่ต้องจ่ายเงินอยู่แล้วในการไปรับบริการจากโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข ขึ้นราคาปรับราคาจะกระทบกับกองทุน เช่น กองทุนประกันสังคม กองทุนสวัสดิการข้าราชการหรือว่า งบประมาณ 30 บาทรักษาพยาบาล ประชาชนไม่ได้เสียอะไรเพราะว่าประชาชนไปใช้บริการฟรีอยู่แล้ว โดยที่ประชาชนขึ้นอยู่กับ 3 กองทุนหลักนี้เกือบทั้งหมด 100%
อย่างกรณีของในจังหวัด สมมติว่าในจังหวัดหนึ่ง สมัยก่อนก็จะมีที่เขาเรียกว่าใกล้บ้านใกล้ใจ คือว่ารักษาฟรีเฉพาะอยู่ใกล้บ้าน แต่ตอนนี้นโยบายของกระทรวงสาธารณสุขก็คือในจังหวัดก็ถือว่าเป็นเขตเดียวกัน เพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องเสียเงิน ฉะนั้นสามารถไปใช้บริการได้เสีย 30 บาท อย่างอื่นยกเว้นทั้งหมดนั้นก็แทบจะฟรีอยู่แล้ว
สมมติว่าประชาชนคนนั้นข้ามารักษาที่จังหวัดอื่น ถ้าหากว่าเป็นเรื่องของฉุกเฉินก็สามารถไปใช้บริการจากทุกโรงพยาบาลไม่ว่าจะเป็นของกระทรวงสาธารณสุข หรือของมหาวิทยาลัย โรงเรียนแพทย์ได้หมด แล้วทางสปสช.เขาจะมีเคลียริ่งเฮาส์ หน่วยงานที่จะตามจ่ายฉะนั้นเขาก็ไม่ได้เสียอะไรอีก นอกจากว่ากรณีที่เขาข้ามเขตแล้วเขาเจ็บป่วยธรรมดา อันนั้นไปรักษาที่โรงพยาบาลซึ่งก็อาจจะกระทบบ้างในกรณีอย่างนี้
สมมติว่าคนอีสาน บ้านอยู่อีสานถ้ามาทำมาหากินในกรุงเทพฯ แล้วไปรักษาที่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ในกรณีที่ไม่ฉุกเฉิน เช่นเป็นหวัด ท้องเสีย ซึ่งปกติก็ส่วนใหญ่เขาจะไปซื้อยากินเองอยู่แล้ว
ทีนี้เหตุผลที่ขึ้นค่าบริการ เพราะว่าไม่ได้ปรับราคามานานมากเป็น 10 ปีเพราะฉะนั้น ทางกระทรวงสาธารณสุขทางโรงพยาบาลก็ขาดทุนเพราะว่าต้นทุนสูงขึ้น เมื่อคิดราคากับทางสวัสดิการข้าราชการเช่นกรมบัญชีกลาง หรือคิดราคากับประกันสังคม ปรากฏว่าขาดทุนเพราะค่ายาและค่าอะไรต่ออะไรขึ้นฉะนั้นสรุปแล้วประชาชนแทบจะไม่ได้รับผลกระทบอะไรเลย เพราะว่ามีกองทุน30 บาทเข้าช่วยอยู่แล้ว
สำหรับคนที่ต้องเสียก็อาจจะเสียครั้งเดียว เช่นว่าอยู่ต่างจังหวัดแล้วเข้ามารักษาโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ คือถ้าเป็นโรคเรื้อรังก็สามารถย้ายทะเบียนบ้านมาได้แล้วก็รักษาฟรี อันนี้ก็ไม่ต้องเสียอะไร ในกรณีที่เราเป็นโรคเรื้อรังนะ
ทีนี้ในกรณีที่เจ็บป่วยครั้งเดียว แต่ไม่ฉุกเฉิน ซึ่งก็ไม่ค่อยมีเช่นเป็นหวัด ท้องเสีย เป็นกรณีที่ไปโรงพยาบาลแล้วมันฉุนเฉินไหม คือเราอาจจะเหมือนกับไปมั่วว่าเป็นฉุกเฉินเจ้าหน้าที่เขาก็ปฏิเสธยาก เช่น อาจจะเป็นความดัน อาจจะเป็นเบาหวาน ในกรณีนี้ไม่ได้เป็นฉุกเฉินแต่เป็นโรคเรื้อรังก็สามารถย้ายทะเบียนบ้านมาได้ก็จบ ไม่ต้องเสียเงิน
ส่วนค่าเปลี่ยนอวัยวะต่างๆ อะไรนั้น ทางโรงพยาบาลเขาไปคิดกับกองทุนไง นี่ชาวบ้านไม่ได้รับผลกระทบเลยสมมติว่าเราเป็นเส้นเลือดหัวใจตีบจะต้องผ่าตัด เราก็คงไม่ได้อยู่ดีๆ แล้วเดินเข้าโรงพยาบาลไปรักษาแล้วไปเสียเงินค่าโรงพยาบาล ถ้าเราไปโรงพยาบาลของรัฐเราก็ย้ายชื่อมาแล้วไปใช้สิทธิตรงนั้นก็ได้ หรือไม่เราทำเรื่องให้ทางโรงพยาบาลส่งเรื่องส่งต่อคนไข้มารับการรักษาที่กรุงเทพฯ เช่นสมมติว่าอยู่หนองคาย ก็ทำเรื่องมารักษาที่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลโรคทรวงอก ไปผ่าตัดอันนี้ก็ตามจ่ายเป็นการส่งต่อคนไข้ก็ไม่ต้องเสียเงินอีก
ประชาชนไม่ได้รับผลกระทบ หรือกระทบน้อยมาก น่าจะเป็นแค่ 1% ซึ่งจะไมได้รับผลกระทบอย่างที่คิด"
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
"คิดว่ามันมีผลกระทบต่อผู้บริโภคที่ใช้บริการโรงพยาบาลแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน เราเห็นว่าการที่กระทรวงสาธารณสุขขึ้นราคาโดยที่ไม่ได้สอบถามความเห็นขององค์กรผู้บริโภค น่าจะขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 61 ถือว่าจริงๆการขึ้นราคานั้นเป็นมาตรการหนึ่งที่เกี่ยวพันถึงผู้บริโภค จึงต้องมีขบวนการรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานนักวิชาการหรือใครที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เพื่อที่จะอย่างน้อยขอข้อมูลผู้บริโภคว่าขณะนี้มีปัญหาเกิดขึ้นจากค่ารักษาพยาบาลนี้อยู่ยังไงซึ่งพบว่าเรื่องร้องเรียนจำนวนไม่น้อยที่เกี่ยวข้องกับค่ารักษาพยาบาล หรือไปถามรัฐมนตรีก็ได้ว่าเรื่องร้องเรียนที่ประกอบโรคศิลป์นั้นมันมีมากน้อยเพียงใด
ซึ่งคิดว่าอันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ เมื่อขึ้นราคานี่ คิดว่า อันที่หนึ่งขั้นตอนไม่ถูกต้อง คือไม่ได้รับฟังความคิดเห็นของใครเลย เรื่องที่สองที่บอกว่าไม่กระทบเพราะว่าทุกคนมีระบบประกันสังคมคุ้มครองอยู่หมดแล้วนี่ อาจจะไม่จริง เนื่องจากว่าพอกระทรวงสาธารณสุขขึ้นราคา มันก็จะไปกระทบกับค่าใช้จ่ายต่อโรคในการรักษาพยาบาล นั้นคือจะมีผลกระทบต่อเงิน ค่าหัวทั้ง 3 ระบบ ซึ่งถ้าเราไม่ขึ้นค่าหัว คุณภาพมันก็จะแย่ลง ฉะนั้นพอขึ้นคาหัว มันก็จะกระทบกับงบประมาณ
ส่วนที่สองที่ถือว่ากระทบ เพราะว่าราคาของกระทรวงสาธารณสุข ถือว่าเป็นราคากลาง พอขึ้นราคานี่ ทางโรงพยาบาลเอกชนก็จะขึ้นราคาแน่นอนเพราะว่าเราไม่ได้มีการควบคุมราคาการใช้บริการของโรงพยาบาลเอกชนฉะนั้นเมื่อราคากลางมันขึ้น โรงพยาบาลเอกชนก็ขึ้น ซึ่งก็จะเป็นการกระทบกับผู้บริโภคแน่นอน ที่บอกว่ากระทรวงสาสธารณสุขแล้วไม่มีผลกระทบเพราะว่าทุกคนอยู่ในระบบประกันสุขภาพหมดนั้น ไม่จริง เพราะผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยไปใช้บริการที่เราคิดว่าฉุกเฉิน แต่โรงพยาบาลบอกว่าไม่ฉุกเฉินเราก็ต้องจ่ายเงินเอง พอจ่ายเงินเอง โรงพยาบาลขึ้นราคา มันก็จะต้องจ่ายเงินจากกระเป๋ามากขึ้น
อันนี้ เราเชื่อว่าส่งผลกระทบเพราะฉะนั้นเราอยากเห็นกระทรวงสาธารณสุขนั้นทบทวนแล้วมารับฟังความเห็นจากทั้งนักวิชาการ องค์กรผู้บริโภค จากคนที่ไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนให้รอบคอบก่อนตัดสินใจในเรื่องนี้ เพราะว่าจริงๆ เราก็ไม่อยากไปฟ้องร้องคดี แต่เราเชื่อนี่เราถือว่าเป็นกลไกตามรัฐธรรมนูญที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการทำเรื่องพวกนี้เราคิดว่าการฟ้องคดีไม่ได้เป็นทางออกกลไกนี้เขาเขียนไว้ให้ความเห็นก่อนที่จะดำเนินการ
สำหรับขั้นตอนต่อไปทางมูลนิธิจะทำอย่างไรนั้น ตอนนี้เราอยากให้กระทวงสาธารณสุขทบทวนแล้วจัดเวทีให้นักวิชาการ คนที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้มีโอกาสให้ความเห็น เพื่อที่จะดูว่าจริงๆ แล้วสมควรที่จะขึ้นหรือไม่สมควร
อีกอย่างหนึ่งที่คิดว่ากระทรวงสาธารณสุขน่าจะทำ คือการกระจายราย ได้ในโรงพยาบาล คือว่าจริงๆ ต้องยอมรับว่าการกระจายรายได้ในโรงพยาบาลไม่ค่อยเป็นธรรม เช่นค่ารักษาพยาบาลที่แพงขึ้น ไม่ได้เป็นผลดีต่อคนงานที่กวาดพื้น ไม่ได้มีผลต่อคนงานระดับล่าง
ฉะนั้น ที่บอกว่าการขึ้นค่าบริการแล้วจะไม่กระทบนั้น จากเรื่องร้องเรียนเข้ามา เราคิดว่า น่าจะกระทบแน่นอนเช่นการใช้บริการกรณีฉุกเฉินก็ดี การใช้บริการโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนก็น่าจะส่งผลกระทบแน่นอน ไม่ใช่ไม่มีผลกระทบอย่างที่รัฐบาลพูด จึงอยากให้มีการทบทวนแล้วจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของหลายๆ ฝ่าย ส่วนมูลนิธิจะดำเนินการอะไรอีกบ้างนั้น เราคงต้องมีการพูดคุยกันก่อน แต่ไม่อยากฟ้องคดี เพราะคิดว่าเรื่องนี้น่าจะพูดคุยกันได้กับทางกระทรวงสาธารณสุข"
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ วันที่ 31 มกราคม 2556
- 1 view