ตั้ง 2 รองเลขาฯ สปสช.วุ่น! “หมอวินัย” เลื่อนประกาศผลคัดเลือก เหตุเจ้าของใบสั่งจองโควตา กรรมการคัดเลือกที่เหลือเตรียมไขก๊อกลาออกเพิ่ม ด้าน จนท.สปสช.-คนรักหลักประกันเตรียมใส่ชุดดำป้องอุดมการณ์หมอสงวน ขณะที่ผู้บริหารกว่าสิบคนชักแถวลาออก
จากกรณีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ประกาศรับสมัครรองเลขาธิการ สปสช.เพิ่ม 2 อัตรา เพื่อดูแลระบบเบิกจ่ายเงินในกองทุนหลักประกันสุขภาพ ซึ่งขณะนี้มีผู้สมัครทั้งสิ้น 7 คน โดยได้ผ่านการสัมภาษณ์จากคณะกรรมการคัดเลือก ที่ประกอบไปด้วยเลขาฯ และรองเลขาฯ แต่จนบัดนี้ยังไม่สามารถเลือกได้ ต้องเลื่อนการประกาศผลคัดเลือกจากวันที่ 14 ม.ค.ที่ผ่านมาออกไป เนื่องจากมีการคัดค้านจากกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพที่ว่า เป็นการล้วงลูกและมีใบสั่งจากผู้มีอำนาจทางการเมือง ทำให้เกิดข้อกังวลในเรื่องธรรมาภิบาลนั้น
แหล่งข่าวภายในสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ชมรมคนรักหลักประกันสุขภาพและเจ้าหน้าที่ สปสช.เตรียมใส่ชุดดำเพื่อแสดงจุดยืนให้ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.และผู้บริหารระดับสูง ร่วมกับเจ้าหน้าที่ปกป้องอุดมการณ์ของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ปกป้องหลักธรรมาภิบาลในการแต่งตั้งผู้บริหารและปกป้องกองทุนหลักประกันสุขภาพแสนสามหมื่นล้านบาทให้ปลอดภัยจากการถูกแทรกแซงของผู้มีอำนาจทางการเมือง นอกจากนี้ ยังมีกระแสข่าวว่า กรรมการคัดเลือก 2 ใน 3 คนที่เหลือเตรียมตัดสินใจไขก๊อกลาออก เพราะรับไม่ได้กับใบสั่งให้เลือกคนของนักการเมือง และล่าสุด ผู้อำนวยการ สปสช.เขต และผู้บริหารกว่า 10 คน จากเขตภาคอีสานและภาคกลาง ได้เขียนใบลาพร้อมออกจากราชการ เพื่อยืนยันปกป้องระบบธรรมาภิบาลขององค์กรและกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเช่นกัน
น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา อดีตบอร์ด สปสช.และหนึ่งในผู้สมัครรองเลขาธิการ เปิดเผยว่า รู้สึกผิดปกติที่มีการเลื่อนการคัดเลือกและประกาศผลหลายครั้ง โดยไม่มีการชี้แจงเหตุผลที่รับฟังได้ ขณะที่การสัมภาษณ์คัดเลือกก็ทำแบบคล้ายมีธงมีใบสั่งมาก่อน กรรมการที่เหลืออยู่ 3 คน ดูไม่ได้ตั้งคำถามต้องการคัดเลือกจริงจังอะไรมากนัก สอดคล้องกับข่าวลือว่างานนี้มีใบสั่ง
นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า การแทรกแซงกองทุนหลักประกันสุขภาพ เป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจทางการเมืองต้องการทำมาโดยตลอด การมีใบสั่งให้ตั้งอดีตนักการเมืองเป็นรองเลขาธิการ สปสช.เป็นแผนขั้นที่สองของแผนทำลายระบบบัตรทองที่มีการเตรียมการไว้ทั้งหมดสี่ขั้นตอน หลังจากยึดสำนักงานแต่งตั้งผู้บริหารได้แล้ว ปีต่อไปจะเริ่มแผนขั้นที่สามปรับระบบการเงินของ สปสช.ให้เอื้อกับธุรกิจเอกชน เพื่อนำไปสู่แผนขั้นที่สี่ คือ ยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปรับไปใช้ระบบสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยแทน ทำให้ระบบ สปสช.เป็นระบบอนาถาและปรับราคาค่าบริการสุขภาพให้สูงขึ้นเพื่อรองรับคนมีเงินร่วมจ่ายและกำลังซื้อจากต่างประเทศ นโยบายลดความเหลื่อมล้ำสามกองทุน ที่ประกาศไว้เป็นเพียงการหาเสียงทางการเมือง แต่ทำจริงๆ กับเพิ่มการเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวย และคนถือบัตรทองกับบัตรข้าราชการมากขึ้น
ที่มา : www.manager.co.th
- 5 views