"รมว.สาธารณสุข" จ่อลงนามประกาศอัตรา ค่าโรงหมอ ฉบับใหม่ ยันไม่กระทบคนไทย เพราะมีสิทธิรักษาพยาบาล ยกเว้นชาวต่างชาติหรือผู้ไม่ได้ใช้สิทธิตามระบบ คาดมีผลใช้ใน 1-2 สัปดาห์นี้ เผยเตรียมตั้งอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เป็นประธานคณะกรรมการไกล่เกลี่ยดูแลค่ารักษา รพ.เอกชน ให้สมเหตุสมผล หลังมีประชาชนร้องเรียนค่าใช้จ่ายสูง ด้าน "นายกสมาคม รพ.เอกชน" ชี้ตั้งราคาตามต้นทุน ไม่เกี่ยว สธ.ปรับรักษา
เมื่อวันที่ 28 ม.ค. นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงการปรับปรุงอัตราค่าบริการของสถานบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ปี 2556 ว่า ในการประชุมผู้บริหาร สธ. ได้รับรายงานเรื่องดังกล่าว ซึ่งเป็นการปรับตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของค่าแรงและค่าอะไรต่าง ๆ เพราะไม่ได้ปรับมาหลายปีแล้ว อัตราค่าบริการมีทั้งปรับขึ้นและปรับลง เพราะหัตถการบางอย่างถูกลง บางอย่างแพงขึ้น โดยทั่วไปขึ้นประมาณ 10-15% แต่ไม่เกิดผลกระทบต่อประชาชนเพราะคนไทยทุกคนอยู่ภายใต้ระบบบริการสุขภาพของประเทศทั้ง 3 ระบบอยู่แล้ว ผลที่จะเกิดคือเป็นการคิดค่าบริการภายในกองทุนเท่านั้น อย่างไรก็ตามผู้ได้รับผลกระทบคือไม่ได้ใช้สิทธิตามระบบ เช่น ชาวต่างชาติ ประชาชนที่ไม่ได้ใช้สิทธิตามขั้นตอนโดยจะใช้เวลาพิจารณา ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ก่อนลงนามประกาศอัตราค่าบริการฉบับใหม่ และไม่ต้องของบเหมาจ่ายรายหัวเพิ่มเพราะมีการคำนวณเรียบร้อยแล้ว
นพ.ประดิษฐ กล่าวต่อว่า ส่วนที่มีหลายฝ่ายเป็นห่วงว่า โรงพยาบาลเอกชน อาจมีปรับค่าบริการตาม สธ. นั้น เขามีสิทธิที่จะปรับขึ้น เพราะการรักษาพยาบาลยังไม่ได้เป็นสินค้าควบคุม ตอนนี้ สธ. จะเข้าไปดูแลผู้บริโภค โดยในเร็ว ๆ นี้จะตั้งคณะกรรมการไกล่เกลี่ยขึ้นมา ภาษาอังกฤษเรียกว่า เมดิเอเตอร์ (mediator) ส่วนชื่อภาษาไทยกำลังหาคำที่เหมาะสมอยู่ โดยมี น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เป็นประธาน สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาลเป็นเลขานุการ คณะกรรมการชุดนี้จะมีถาวรตลอดไป มีเบอร์โทรศัพท์ มีสายด่วนให้บริการ โดยจะเข้าไปดูแลทั้งผู้บริโภคและผู้ให้บริการ เพราะที่ผ่านมามีการร้องเรียนว่า มีการเข้าไปรับการรักษาแล้วมีค่าใช้จ่ายที่สูงที่ผู้บริโภคคิดว่าไม่สมควรก็มาที่จุดนี้ก่อน จุดนี้จะเข้าไปดูทางวิชาการก่อนว่า การรักษาที่ได้เป็นการรักษาที่สมเหตุผลหรือไม่ ถ้าสมเหตุผลก็มาดูว่าราคาต่อหน่วยสูงเกินไปหรือไม่ เพราะมีราคาอ้างอิง เช่น เป็นโรงพยาบาลเกรดซี แต่ไปคิดเกรดเอก็ไม่สมควร
รมว.สาธารณสุข กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้อาจมีนัยไปถึงหลาย ๆ เรื่อง เช่น บริษัทประกันภัย มีปัญหาเวลาเรียกเคลมก็ถูกตัดเงิน กรรมการชุดนี้จะทำงานวิชาการเพื่อเข้าไปดูว่า ค่าสินไหมทดแทนที่บริษัทประกันจ่ายให้นั้นสมควร ถูกต้องหรือไม่ เป็นการคุ้มครองผู้บริโภคอีกทางหนึ่ง ทางสถานพยาบาลเอกชนก็จะมีแรงผลักดันทำตัวให้เข้ากฎเกณฑ์มาตรฐาน เพราะเมื่อมีปัญหาก็อ้างได้ว่าทำตามกฎเกณฑ์ทุกอย่างสมเหตุผลหมด ประชาชนก็ได้สถานพยาบาลที่ดีขึ้น ไม่ต้องเผชิญหน้ากัน ส่วนบริษัทประกันชีวิตจะปรับขึ้นค่าเบี้ยประกันตามการปรับราคาหรือไม่นั้น สำหรับคนที่ซื้อประกันเป็นคนที่อยากได้ประกันเพิ่มขึ้นจากสิทธิที่ได้ตามระบบอยู่แล้ว ถือว่าเป็นสิทธิที่ทำได้และรับผิดชอบเอง แต่ไม่จำเป็นต้องไปซื้อประกันเลยในสายตารัฐบาล เพราะรัฐบาลดูแลอยู่แล้ว คือประกันอาจให้ค่าห้องพิเศษ แต่การครอบคลุมสิทธิ 30 บาทดีกว่าอยู่แล้ว มีที่ไหนเปลี่ยนหัวใจฟรี ถ้าไปทำประกันปีละ 2 หมื่นบาทรับรองว่าไม่ได้เปลี่ยนหัวใจฟรีแน่นอน
"เมื่อราคาถูกกว่าเอกชน หากมีคนจะมาใช้บริการมากขึ้น ประชาชนทั่วไปในระบบไม่มีปัญหาอยู่แล้ว ส่วนคนที่จ่ายเงินเองถ้ามาก็ดี เพราะเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ อย่างเดิมประชาชนใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน แล้วข้ามมาใช้บริการของโรงพยาบาลสังกัด สธ. อย่างเอ็มอาร์ไอใช้มาทำงาน 8 ชม. ถ้าให้เอกชนส่งคนมาตรวจแล้วคิดบริการกลับไปก็คุ้มค่ามากยิ่งขึ้น ทำงาน 24 ชม. ได้ก็ยิ่งกำไร" รมว.สาธารณสุข กล่าว
ด้าน นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวถึงกรณีที่ สธ. ปรับปรุงอัตราค่าบริการของสถานบริการในสังกัดใหม่ใน 8 หมวดว่า ไม่เกี่ยวข้องกับภาคเอกชนเท่าไหร่ คำถามคือถ้า สธ. ปรับค่าบริการใหม่แล้ว โรงพยาบาลเอกชนจะปรับค่าบริการหรือไม่ ขอไปเก็บข้อมูลก่อนว่า อัตราค่าบริการที่ สธ. จะปรับนั้นสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงหรือเปล่า แต่เข้าใจว่า สธ. พยายามสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงออกมา เมื่อถามว่า โรงพยาบาลเอกชนจะปรับค่าใช้จ่ายตาม สธ. หรือไม่ นพ.เฉลิม กล่าวว่า ไม่เกี่ยวข้องกันอยู่แล้ว เอกชนกำหนดราคาตามต้นทุน แต่ของกระทรวงสาธารณสุขพยายามโชว์ต้นทุนที่แท้จริงออกมา เพราะรัฐบาลรับค่าเหมาจ่ายรายหัว กรณี 30 บาทรักษาทุกโรค ประกันสังคม ข้าราชการ มีราคากลางอยู่แล้ว ที่ผ่านมาขาดทุน ทาง สธ. อาจต้องการสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง แต่โรงพยาบาลเอกชนตั้งราคาตามต้นทุนอยู่แล้ว คนละเรื่องกัน
ขณะที่ผู้สื่อข่าวรายงานจาก สธ. ว่า สำนักบริหารการสาธารณสุข ได้เสนอบทสรุปการปรับอัตราค่าบริการของสถานบริการในสังกัด สธ. ปี 2556 ต่อผู้บริหารกระทรวง ว่า วัตถุประสงค์เพื่อ 1. ปรับราคาให้เป็นปัจจุบันตามภาวะเศรษฐกิจ 2. เพิ่มรายการบริการใหม่ ๆที่ยังไม่ครอบคลุมในรายการของกองทุนต่าง ๆในปัจจุบัน เพื่อครอบคลุมต้นทุนที่แท้จริงในการให้บริการ เช่น ค่าแรง ค่ายา วัสดุ ค่าครุภัณฑ์ และ 3. ปรับเรื่องคำนิยามเพื่อแก้ไขปัญหาในการเบิกจ่าย สำหรับการปรับอัตราค่าบริการในครั้งนี้พบว่า มีการบริการใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น 758 รายการ จากเดิม 1,955 รายการ รวมเป็น 2,713 รายการ ส่วนใหญ่เป็นการตรวจทางพยาธิวิทยา และบริการเวชกรรมฟื้นฟู สำหรับค่าบริการมีทั้งเพิ่มขึ้น เท่าเดิม และลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีทางการแพทย์และต้นทุนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง หลังจาก สธ. ประกาศอัตราค่าบริการ สถานบริการจะนำไปพิจารณาเพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนของแต่ละสถานบริการ สามารถลดได้ แต่ไม่สามารถตั้งราคาเกินกว่านี้ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า การปรับปรุงอัตราบริการครั้งนี้ ไม่มีผลกระทบต่อประชาชน เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ มีความครอบคลุมหลักประกันสุขภาพอยู่แล้ว แต่จะส่งผลให้สถานบริการมีรายได้เพิ่มขึ้นจากชาวต่างชาติที่มาใช้บริการในสถานบริการของรัฐ และสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของสถานบริการในอนาคต หลังจากที่กองทุนต่าง ๆ นำไปปรับอัตราการจ่ายให้สถานบริการ สำหรับการบริการใหม่ ๆ ที่เพิ่มขึ้น 758 รายการประกอบด้วย 1. ค่ายาและบริการเภสัชกรรม 7 รายการ ค่าตรวจพยาธิวิทยา 309 รายการ 3. ค่าตรวจรักษาทางรังสีวิทยาแค่บริการตรวจรักษาทั่วไป 35 รายการ 4. ค่าตรวจรักษาโรคด้วยวิธีพิเศษ 27 รายการ 5. ค่าบริการทันตกรรม 10 รายการ 6. ค่าผ่าตัด วางยาสลบและยาชา 19 รายการ7. ค่าบริการด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 15 รายการ และ 8. ค่าบริการเวชกรรมฟื้นฟู 337 รายการ
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 29 มกราคม 2556
- 1 view