'นพ.ประดิษฐ'ปรับค่ารักษา รพ.รัฐเพิ่มในรอบ 9 ปี รวมปรับเพิ่ม 2 พันกว่ารายการ ย้ำไม่กระทบผู้ป่วย 3 กองทุน แต่มีผลผู้ป่วยต่างชาติ ด้าน ร.ร.แพทย์จ่อเพิ่มด้วย
เมื่อวันที่ 28 มกราคม นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวหลังประชุมพิจารณาปรับปรุงอัตราค่าบริการสถานบริการในสังกัด สธ. ว่า การปรับปรุงอัตราค่าบริการทำขึ้นตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งใช้มานานร่วม 8-9 ปี จึงต้องมีการปรับปรุงใหม่ในปี 2556 โดยจะปรับขึ้นอีกประมาณร้อยละ 10-15 เกณฑ์ในการพิจารณาปรับค่าบริการเพิ่ม มีทั้งต้นทุนค่าแรง ต้นทุนค่ายาและวัสดุต้นทุนค่าครุภัณฑ์และอื่นๆ มีรายการบริการใหม่ที่เพิ่มขึ้น 758 รายการ จากเดิมมี 1,955 รายการ รวมทั้งหมด 2,713 รายการ ส่วนใหญ่จะไปที่กลุ่มค่าตรวจรักษาโรคโดยวิธีพิเศษ เพิ่มร้อยละ 53 เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นเทคโนโลยีใหม่ รองลงมาคือค่าบริการรังสีวินิจฉัย เวชศาสตร์นิวเคลียร์และรังสีรักษา เพิ่มร้อยละ 23 และค่าบริการเทคนิคการแพทย์ ร้อยละ 8
นพ.ประดิษฐกล่าวว่า ขอย้ำว่าจะไม่กระทบต่อผู้ป่วย 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ คือ 30 บาทรักษาทุกโรค ประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการข้าราชการ เพราะจะไปชาร์จเพิ่มในแต่ละกองทุนมากกว่า ซึ่งในความเป็นจริงก็ไม่ได้รับผลกระทบมาก แต่กลุ่มที่อาจได้รับผลกระทบ คือ ชาวต่างชาติที่เข้ารับบริการ เพราะต้องจ่ายเอง รวมถึงประชาชนที่เข้ารับบริการแบบไม่ใช้สิทธิ ทั้งนี้ จะมีการหารือร่วมกับกรมบัญชีกลาง คาดว่าจะประกาศใช้ใน 1-2 สัปดาห์
ทั้งนี้ ค่าบริการที่จะปรับเพิ่มขึ้นแยกเป็นประเภท เช่น หัตถการที่มีราคาผ่าตัดสูง เช่น การเปลี่ยนปอด จากราคา 45,000 บาท เป็น 64,000 บาท ค่าเปลี่ยนหัวใจจากราคา 45,000 บาท เป็น 64,000 บาท ค่าเปลี่ยนตับจากราคา 40,000 บาท เป็น 54,000 บาท รายการตรวจรักษาโรคโดยวิธีการพิเศษที่มีราคาสูง เช่น ค่าใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจแบบถาวรราคา 80,000 บาท ต่อครั้ง ค่าใส่สายสวนหัวใจราคา 15,000 บาทต่อครั้ง เป็นต้น
ศ.เกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า โรงพยาบาล (รพ.) ศิริราช คงไม่ปรับตาม สธ. แต่จะปรับตามความเป็นจริง เช่น เดิม รพ. คิดเพียงค่ารักษาพยาบาล แต่ไม่รวมเรื่องค่าอุปกรณ์และค่าเครื่องมือทางการแพทย์ ซึ่งอนาคตจะรวมด้วย เพราะที่ผ่านมา รพ.ต้องแบกรับภาระการขาดทุนมาโดยตลอด จึงจำเป็นต้องปรับเพิ่ม เช่น ค่าการตรวจรักษาเบื้องต้นจะเก็บเพียงครั้งละ 80 บาทก็ปรับเพิ่มเป็น 120-150 บาท
รศ.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ รองผู้อำนวยการ รพ.จุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า กลุ่มโรงเรียนแพทย์ มีความเป็นไปได้ที่จะมีการทบทวนปรับอัตราค่าบริการ แต่จะปรับเพิ่มอย่างไรอยู่ที่เหตุผลของโรงเรียนแพทย์แต่ละแห่ง
รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า หากจะมีการปรับค่าบริการ รพ.รามาฯ จะไม่ปรับสูงเท่า รพ.เอกชน เพราะโดยหลักต้องถูกกว่าร้อยละ 30
นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า การปรับอัตราค่าบริการของ รพ.รัฐนั้น เป็นเรื่องของการขึ้นราคาเพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงเพื่อลดภาระขาดทุนที่สะสมไว้มากกว่า ซึ่งไม่เกี่ยวกับ รพ.เอกชน ว่าจะต้องปรับอัตราค่าบริการขึ้นตาม เพราะการคิดอัตราค่าบริการของ รพ.เอกชนเป็นไปตามต้นทุนของแต่ละแห่ง
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 29 มกราคม 2556
- 190 views