ท่ามกลางวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทยที่เปลี่ยนแปลงไป มีความเร่งรีบในชีวิตประจำวัน ต้องการสินค้าที่ตอบสนองความต้องการได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาททุกอณูของชีวิต ระบบสาธารณสุขของไทยที่ดีขึ้น ส่งผลให้ประชากรมีอายุยืนขึ้น
ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดกระแสสุขภาพของคนไทยใหม่ๆ รวมทั้งโอกาสของการดำเนินธุรกิจในอนาคต
เริงฤทธิ์ จินดาพร ผู้อำนวยการวางแผนและพัฒนาธุรกิจ มายด์แชร์ กล่าวถึง 8 เทรนด์สุขภาพของคนไทยในปีนี้ที่ได้จากผลศึกษา"เฮลท์ แอนด์ เวลล์เนส 2013" ว่า เทรนด์แรกที่เกิดขึ้น คือ ความอ้วนกลายเป็นปัญหาที่พบทั่วไปสำหรับคนไทยและคาดว่าปี 2558 ประเทศไทยจะมีผู้มีปัญหาความอ้วนเพิ่มขึ้นเป็น 24 ล้านคน จากเมื่อปี2553 มีคนอ้วน22 ล้านคน
แนวโน้มดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ ที่เจาะกลุ่มคนอ้วน อาทิ "แดนซ์ ยัวร์แฟต ออฟ" รายการแข่งขันเต้นของคนอ้วนหรือกระทั่งการขยายธุรกิจสถาบันลดน้ำหนักสู่ต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น จากเดิมจะกระจุกอยู่ในกรุงเทพฯ โดยการทำตลาดคนอ้วน คอนเซปต์สินค้าต้องง่าย สบาย เพราะพฤติกรรมนี้จะยอมแลกกับความอร่อย และเพื่อนเป็นผู้กระตุ้นการซื้อสินค้า แบรนด์จึงต้องวางตำแหน่งเป็นเพื่อนเช่นกัน
สำหรับเทรนด์ที่ 2 ความเครียดที่กลายเป็นปัญหาที่น่ากังวลกว่าความอ้วน จากผลสำรวจไทยเป็นประเทศที่มีผู้บริหารมีความเครียดอยู่ในอันดับ 5 จาก 39 ประเทศ มี กรีซเป็นอันดับ 1 ตามด้วยจีน ไต้หวัน เวียดนามและไทย โดยมาจากปัญหาการเงิน หน้าที่การงาน ความไม่แน่นอนการเมือง ปัญหาครอบครัว และสิ่งแวดล้อม
ขณะเดียวกันยังพบว่า เด็กวัยรุ่นไทยมีความเครียด โดยจากการวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เมื่อปลายปีที่ผ่านมามีวัยรุ่นกว่า 1 ล้านคน รู้สึกซึมเศร้าอย่างไม่มีสาเหตุ และกว่าครึ่งล้านคนมีความเครียดสูงจนเกิดอาการปวดท้อง อาเจียน และ 1 ใน 3 ของเด็กวัยรุ่นใช้ยาลดน้ำหนัก และทำศัลยกรรมความงามเพื่อให้ผอมและดูสวยงาม
"พฤติกรรมของกลุ่มคนเครียดจะหมกมุ่นแต่ยอมจ่ายเงินเพิ่มขึ้น หากสินค้าใช้แล้วได้ผลดี การทำตลาดของสินค้าต้องสร้างแบรนด์เป็นผู้เชี่ยวชาญ มีความน่าเชื่อถือของสินค้า"เทรนด์ที่ 3 กลุ่มผู้สูงอายุจะเป็นกลุ่มหลักในกระแสสุขภาพเพราะคนไทยมีแนวโน้มอายุยืนขึ้น อีก 8 ปีไทยจะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุพลังการซื้อจะอยู่ที่กลุ่มนี้ เพราะเป็นผู้ที่มีกำลังการซื้อสูง การตัดสินใจซื้อง่าย ต้องการสุขภาพที่ดี
กลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพจะเติบโตจาก6.1 หมื่นล้านบาทเป็น 7.7 หมื่นล้านบาทในอีก3 ปีข้างหน้านี้ โดยจะมีแคมเปญการตลาดเจาะกลุ่มเบบี้ บูมเมอร์ สิ่งที่น่าจับตา คือ ธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ เช่น โรงพยาบาล การดูแลสุขภาพ อาหารเสริม ประกัน คาดว่ามูลค่าธุรกิจเติบโตสูงถึง 20-30% และในปี 2563 ตลาดต้องการนักกายภาพบำบัด นักประชาสงเคราะห์ เพื่อดูแลผู้สูงอายุถึง4 หมื่นคน
สำหรับเทรนด์ที่ 4 จะเกิดแนวโน้มประชากรโสดอยู่คนเดียว และดูแลตัวเองเพิ่มขึ้น จากการศึกษาพบว่า 37% ของคนไทยมีสถานะโสด หย่า และม่าย และ 45% ไม่มีลูก ส่งผลให้คนไทยหันมาใส่ใจการเป็นอยู่ในรูปแบบที่ต้องการของตัวเองมากขึ้น เอื้อต่อธุรกิจคอนโดมิเนียม กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ให้เติบโตเพิ่มขึ้น
และจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบคนเมือง ต้องการความสวยความงาม ทำให้เกิดเทรนด์ที่ 5 คือ กระแสความงามและสุขภาพดีแบบไม่ต้องรอซึ่งเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกถือว่าเป็นยุคทองของความงามแบบสั่งซื้อได้ไม่ต้องรอ และสวยทันตา ธุรกิจความงามและศัลยกรรมใบหน้า โดยเฉพาะศัลยกรรมเกาหลีเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด มีการจัดทริปเพื่อบินไปผ่าตัดหรือกระทั่งการผ่าตัดในไทย
"การทำตลาดกลุ่มทำศัลยกรรมหรือความงาม การใช้เซเลบริตีเป็นกุญแจแห่งความสำเร็จ เพราะเป็นผู้ที่ทรงอิทธิพลและมีผลต่อการตัดสินใจสูง แต่สินค้าต้องทำให้สวยเร็ว ง่าย สะดวก มีนวัตกรรมแปลกใหม่"
นอกจากนี้ พบว่าคนไทยหันไปให้ความสนใจกับผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติมากขึ้น จึงเกิดเทรนด์ที่ 6 คือ สูงสุดคืนสู่สามัญส่งผลให้ตลาดสมุนไพรจากโอท็อปมูลค่าเพิ่มจาก 1.2 หมื่นล้านบาทเป็น 1.4 หมื่นล้านบาทในปี 2558 ในแง่การทำตลาดสินค้าต้องผลิตจากธรรมชาติ และได้รับการยอมรับจากผู้เชี่ยวชาญว่าปลอดภัยและได้ผลเทรนด์ที่ 7 ผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพจะเข้าใกล้ผลิตภัณฑ์ที่เราใช้ชีวิตประจำวันซึ่งที่ผ่านมาจะพบว่า เครื่องดื่มต่างๆผสมวิตามินเข้าไปกับผลิตภัณฑ์ อาทิ ฟังก์ชันนอลดริงก์หลากหลายแจ้งเกิดในตลาด การทำตลาดกลุ่มนี้การสื่อสารแบรนด์ต้องมีนวัตกรรมใหม่ๆ
ทั้งนี้ ผลจากการที่คนไทยใช้อินเทอร์เน็ต 22 ล้านคน และเข้าอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ50% ดังนั้นจึงเกิดเทรนด์ที่ 8 เทคโนโลยีเอื้อต่อการรักษาสุขภาพที่ดีของประชากรด้วยตัวเองโดยคนไทยเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพได้ง่าย ออนไลน์จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งสำหรับการจำหน่ายสินค้าเพื่อสุขภาพจากเดิมการซื้อสินค้าทางออนไลน์จะเป็นกลุ่มอาหาร การกิน
อย่างไรก็ตาม จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีความหลากหลาย ดังนั้นแม้จะเกิด 8 เทรนด์สุขภาพคนไทย นักการตลาดต้องศึกษาถึงความต้องการ การสื่อสารช่องทางการตลาดหรือกระทั่งใครเป็นผู้ทรงอิทธิพลสำหรับคนกลุ่มนี้ เพราะนั่นจะทำให้แบรนด์หรือสินค้าชิงชิ้นเค้กมูลค่าอันมหาศาล 7.7 หมื่นล้านบาทในปี 2559
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 25 มกราคม 2556
- 241 views