"ศิริราช" เตรียมปรับอัตราค่าบริการเพิ่มภายในปี 2556 หลังจากต้นทุนค่าแรงปริญญาตรี-ลูกจ้างชั่วคราวพุ่ง 800 ล้านบาท บวกนโยบายลดค่าใช้จ่ายด้านยาทำขาดรายได้กว่า 1,000 ล้านบาท กระทบสถานะทางการเงิน ขณะที่เครือข่ายภาคแรงงาน คสรท.จี้รัฐตั้งกองทุนชดเชยเลิกจ้างให้แรงงาน ไม่เห็นด้วยกับมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจที่มากเกินไป แนะรัฐตรวจสอบนายจ้างสวมรอยกระทบ 300 บาท ปิดกิจการหวังโละลูกจ้างเก่า ด้านอธิการบดี มฟล. หวั่นค่าแรง 300 บาท -ปริญญาตรี 15,000 คุณภาพเท่าเดิม ส่งผลลูกจ้างตกงานมากขึ้น
ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า นโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน และเงินเดือนเริ่มต้นระดับปริญญาตรีที่ 15,000 บาท ของรัฐบาล ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2555 ส่งผลกระทบต่อ รพ.ศิริราช เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะด้านการเงินของโรงพยาบาล เนื่องจากงบประมาณที่รัฐบาลให้มาเพื่อใช้ในการปรับฐานเงินเดือนนั้นครอบคลุมเพียงแค่บุคลากรกลุ่มข้าราชการและพนักงานมหาวิทยาลัยเท่านั้น ไม่รวมถึงกลุ่มพนักงานที่ รพ.ศิริราชจ้างเอง ซึ่งมีอยู่ประมาณ 4-5 พันคน
คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รพ.ศิริราช กล่าวอีกว่า เมื่อมีการปรับเงินเดือนพื้นฐานให้แก่กลุ่มข้าราชการและพนักงานมหาวิทยาลัย พนักงานที่ศิริราชจ้างเองก็ต้องมีการปรับฐานเงินเดือนด้วยเช่นกันเพื่อความเท่าเทียม ซึ่งแต่ละปีจะต้องใช้งบประมาณเพิ่ม 700-800 ล้านบาท โดยที่ รพ.ศิริราชต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายตรงนี้เอง นอกจากนี้ นโยบายการลดค่าใช้จ่ายทางด้านยาที่ให้หันมาใช้ยาชื่อสามัญที่ผลิตเองภายในประเทศแทนการใช้ยาชื่อสามัญจากต่างประเทศนั้น ก็ส่งผลให้โรงพยาบาลขาดรายได้จากส่วนนี้ไป 900-1,000 ล้านบาท
"รพ.ศิริราช จะดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล และขอยืนยันว่า รพ.ศิริราช ไม่มีนโยบายการเลย์ออฟคนออกอย่างแน่นอน แม้จะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเพิ่มเป็นจำนวนมาก แต่จะดูแลบุคลากรไปจนถึงหลังวัยเกษียณในทุกๆ ด้าน ซึ่งแต่ละปีต้องใช้งบประมาณ 2-3 ล้านบาท" ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าว
ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าวว่า รพ.ศิริราชจะแก้ปัญหาดังกล่าวโดยการปรับอัตราค่าบริการ อาทิ ค่าเตียง ค่ารักษาพยาบาล เพิ่มขึ้น เนื่องจาก รพ.ศิริราชไม่ได้มีการปรับอัตราค่าบริการตามภาวะเงินเฟ้อมานานหลายปีแล้ว แต่จะปรับเพิ่มกี่เปอร์เซ็นต์นั้น ขณะนี้กำลังทำการศึกษาการเพิ่มอัตราค่าบริการของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งประกาศออกมาก่อนหน้านี้ โดยคาดว่าจะปรับอัตราค่าบริการเพิ่มขึ้นภายในปี 2556 อีกทั้ง รพ.ศิริราชจะพยายามประหยัดค่าใช้จ่ายและลดต้นทุนต่างๆ เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายลง และหารายได้เพิ่มขึ้น เช่น ร่วมมือกับเอกชนในการทำวิจัยต่างๆ
ด้าน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การปรับอัตราค่าบริการของโรงพยาบาลในสังกัด สธ.นั้น มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาเรื่องดังกล่าวนานแล้ว แต่ยังไม่มีการประกาศใดๆ ออกมาทั้งสิ้น โดยขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการทบทวนการปรับอัตราค่าบริการ อาทิ ค่าบริการผ่าตัดต่างๆ ซึ่งจะอาศัยการพิจารณาจากราคาต้นทุน ส่วนจะปรับอัตราค่าบริการเป็นอย่างไร ตนยังไม่ทราบรายละเอียด แต่เชื่อว่าคณะทำงานน่าจะสรุปผลได้ในเร็วๆ นี้มหาวิทยาลัยอ่วมพิษค่าจ้าง300บาท
ขณะที่ รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) กล่าวถึงนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท และการปรับเพิ่มฐานเงินเดือนข้าราชการ ระดับปริญญาตรี 15,000 บาทของรัฐบาล ว่า ทุกคนเห็นด้วยกับนโยบายนี้ เพราะอยากให้ผู้ใช้แรงงานตลอดจนข้าราชการที่จบปริญญาตรี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ประเด็นที่เป็นปัญหาตามมาก็คือ ถึงรายได้จะสูงขึ้นแต่คุณภาพยังคงมีเท่าเดิม ในส่วนของลูกจ้างนั้น มีแนวโน้มที่นายจ้างไม่เว้นแม้กระทั่งมหาวิทยาลัย จะปรับตัวด้วยการลดจำนวนแรงงานลงเพื่อคงรายจ่ายให้เท่าเดิม
ดังนั้นต่อจากนี้แรงงานจะต้องได้รับการพัฒนาทักษะฝีมือให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ต้องเร่งพัฒนาฝีมือแรงงานทุกระดับ ทั้งแรงงานระดับรับจ้าง คนงาน กรรมกร และแรงระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรือระดับ ป.ตรี เพราะหากเพิ่มค่าแรงโดยไม่เพิ่มคุณภาพฝีมือแรงงาน จะเป็นการทำร้ายผู้ประกอบการและตัวแรงงานด้วย
อธิการบดี มฟล.กล่าวต่อว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยได้รับผลกระทบจากนโยบายนี้มาก เนื่องจากสำนักงบประมาณจะให้อัตราค่าจ้างลูกจ้างรายวัน 300 บาท เฉพาะลูกจ้างที่จัดสรรให้ แต่มหาวิทยาลัยทุกแห่งมีลูกจ้างในอัตราที่เป็นเงินงบประมาณของตนเองอยู่จำนวนมาก ซึ่งรัฐบาลไม่ได้เพิ่มงบฯ ส่วนนี้ให้ ทำให้ในส่วนของ มฟล.ที่ได้รับงบฯ ไม่ถึง 1,000 ล้านบาท แต่ต้องจ่ายงบฯ ให้กับลูกจ้างรายวัน และป.ตรี ที่มีอยู่กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ หรือเกือบ 200 คน เพิ่มขึ้นอีกปีละ 38 ล้านบาท อาจจำเป็นต้องลดจำนวนการจ้างลง ในปีงบประมาณ 2557 เพื่อคงรายจ่ายไว้ ส่วนกลุ่มปริญญาตรี 15,000 บาทนั้น ถือเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยทุกแห่งอยู่แล้วที่จะต้องพัฒนาคุณภาพบัณฑิตให้เหมาะสมกับเงินจำนวนดังกล่าว หากทำไม่ได้คงต้องทบทวนตนเองเหมือนกัน ทั้งนี้เชื่อว่านโยบายดังกล่าวจะใช้เวลาเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยเป็นระบบประมาณ 3 ปี คสรท.จี้รัฐตั้งกองทุนชดเชยเลิกจ้าง
ขณะเดียวกัน วานนี้(23 ม.ค.) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เปิดแถลงข่าวเรื่อง "ข้ออ้าง 300 บาทกับการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม" โดยนายชาลี ลอยสูง ประธาน คสรท.ออกมาแถลงยื่นข้อเรียกร้องต่อกระทรวงแรงงาน จำนวน 5 ข้อ ได้แก่ 1.ให้กระทรวงแรงงานเสนอรัฐบาลตั้งกองทุนค่าชดเชยการเลิกจ้างตามกฎหมาย เพื่อจ่ายให้ลูกจ้างทันทีที่ถูกเลิกจ้างเมื่อไม่ได้รับค่าชดเชยจากสถานประกอบการ และให้กระทรวงแรงงานไปดำเนินการเรียกเก็บกับนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการเพื่อนำกลับเข้าคืนกองทุนต่อไป 2.ให้กระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่บริษัทหลบเลี่ยงกฎหมาย ไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าชดเชย โดยมีเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ จะต้องมีมาตรการในการดำเนินคดีอาญากับนายจ้างด้วย ไม่ใช่เพียงไกล่เกลี่ยให้ลูกจ้างรับเงินตามที่นายจ้างเสนอเท่านั้น
ส่วนข้อเรียกร้องที่ 3 คือ รัฐบาลไม่ควรปัดความรับผิดชอบในการให้ลูกจ้างต้องมาต่อรองสิทธิกับนายจ้างเพียงลำพัง โดยต้องมีมาตรการที่ชัดเจนและยั่งยืนในการช่วยเหลือในกรณีอย่างนี้ และเปลี่ยนทัศนคติต่อแนวคิดที่ว่า แรงงานสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ โดยต้องคำนึงและให้ความสำคัญต่อความผูกพันกับชุมชนและประเพณีในพื้นที่ด้วย 4.ให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดหางานหรืออาชีพให้กับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างทุกคนโดยทันที ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงสภาพการดำรงชีพที่ต้องไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
และ 5.ให้กระทรวงแรงงาน ตั้ง "คณะกรรมการตรวจสอบสถานประกอบการที่มีการเลิกจ้างคนงานและปิดกิจการ หลังจากมีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท" เพื่อตรวจสอบสถานการณ์และค้นหาข้อเท็จจริงของบริษัทแต่ละแห่งที่เลิกจ้างว่ามีสาเหตุมาจากอะไร มีเหตุจำเป็นถึงขนาดจะต้องเลิกจ้างหรือไม่ โดยคณะกรรมการฯที่ตั้งขึ้นจะต้องประกอบด้วย ผู้แทนภาครัฐ ผู้แทนนายจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง นักวิชาการด้านแรงงาน นักเศรษฐศาสตร์ ฯลฯ
ประธาน คสรท. กล่าวอีกว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา มีแรงงานสอบถามและร้องเรียนเข้ามาที่ คสรท.จำนวน 16 สาย คาดว่ามีแรงงานที่เกี่ยวข้องประมาณ 2,000 คน โดยส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างบริษัทซับคอนแทรคที่ทำงานในหน่วยงานราชการต่างๆ โดยโทรศัพท์เข้ามาสอบถาม เนื่องจากกังวลว่าจะไม่ได้รับค่าจ้างวันละ 300 บาท ส่วนกรณีร้องเรียน ได้แก่ กรณีที่แรงงานหญิงตั้งครรภ์ทำงานอยู่ในโรงงานฉีดสารพลาสติก จ.ฉะเชิงเทรา ถูกเลิกจ้างเมื่อวันที่ 5 มกราคมที่ผ่านมา แต่นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้เป็นอัตราค่าจ้างของปี 2555 และกรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าล่วงเวลา รวมทั้งนำสวัสดิการต่างๆ มารวมเป็นค่าจ้างด้วย ค่าชดเชยเลิกจ้างตามกฎหมายได้น้อยกว่า
ด้าน นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธาน คสรท. กล่าวว่า เหตุผลที่รัฐบาลต้องตั้งกองทุนค่าชดเชยการเลิกจ้างให้แรงงานที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่รับการจ่ายเงินค่าชดเชยจากนายจ้าง เพราะเมื่อลูกจ้างใช้สิทธิตามกฎหมายเพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของศาลแรงงาน โดยการยื่นแบบคำร้อง คร.7 จะได้รับเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง จำนวน 2 เดือนของค่าจ้าง ซึ่งน้อยกว่าเงินค่าชดเชยการเลิกจ้าง 10 เดือนที่นายจ้างต้องจ่ายตามกฎหมาย ทั้งนี้ การฟ้องร้องในชั้นศาลเพื่อทวงคืนเงินค่าชดเชยจากนายจ้างต้องใช้ระยะเวลานานหลายปี ทำให้ลูกจ้างเป็นฝ่ายเสียเปรียบ
นายยงยุทธ เม่นตะเภา ประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า คสรท.ไม่เห็นด้วยกับมาตรการการช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้าง 300 บาทของรัฐบาล เนื่องจากรัฐบาลใช้มาตรการช่วยนายจ้างมากเกินไป ซึ่งเงินที่นำไปช่วยมาจากภาษีประชาชนทั้งสิ้น นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัญหาที่รัฐบาลต้องตรวจสอบ คือการที่บริษัทใช้วิธีปิดกิจการ เพราะต้องการเลิกจ้างลูกจ้างเก่าทั้งหมด แล้วไปตั้งบริษัทใหม่เพื่อจ้างลูกจ้างรายใหม่แทน ทำให้ไม่เป็นธรรมกับลูกจ้างเก่า
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 24 มกราคม 2556
- 53 views