TCELS เร่งพัฒนาหุ่นยนต์ทางการแพทย์ ตั้งเป้าอีก 7 ปี ลดการนำเข้าได้ครึ่งหนึ่ง เตรียมพร้อมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์ของอาเซียน
ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) กล่าวว่า เนื่องจากไทยมีศักยภาพทั้งมีบุคลากรทางการแพทย์ที่เก่ง และสามารถผลิตหุ่นยนต์ได้ ดังนั้นจึงน่าจะเอาทั้ง 2 ส่วน มาต่อยอดในโลกของการแข่งขันและเชื่อมโยงสู่นโยบายของรัฐบาล เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค หรือการเตรียมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ทั้งนี้โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายผลิตและบริการคนไทยในราคาที่เหมาะสม หรืออีก 7 ปีข้างหน้าจะสามารถลดค่าใช้จ่ายจากการนำเข้าหุ่นยนต์ทางการแพทย์ที่นำเข้าตัวละ 100 ล้านบาท ได้ร้อยละ 50 และเป็นศูนย์กลางการรักษาพยาบาล การแพทย์ฉุกเฉิน และการดูแลฟื้นฟูผู้ป่วย ผู้สูงอายุในระดับแนวหน้าของอาเซียน โดยจะมีการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างกระทรวงมากขึ้น เช่น กระทรวงวิทยาศาสตร์กับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์
ปัจจุบันเราส่งออกอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างถุงมือและคอนดอม ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มไม่สูงมาก ตลาดไม่แน่นอน ดังนั้นหากมีการผลิตหุ่นยนต์ขึ้นได้เองก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้ และมองไปถึงการส่งออกในอนาคต โดยเริ่มจากการผลิตหุ่นที่ไม่มีกฎเกณฑ์มากนัก สำหรับงบประมาณของการพัฒนาศูนย์ประมาณ 2,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามจากการประเมินสภาพของปัญหาพบว่า แม้ว่าเราจะผลิตบุคลากรด้านนี้ได้ แต่ยังขาดเส้นทางวิชาชีพให้อยู่ได้นานพอ ทั้งระบบทดสอบ ระบบรับรองมาตรฐาน เพราะเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของชีวิต
--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 23 ม.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 4 views