เอ็มเทค ร่วมกับ เนคเทค และ สวทช.เปิดตัว โรงงานต้นแบบผลิต “นวัตกรรมดิจิทัลเอกซเรย์” ที่ได้มาตรฐานระดับโลกแห่งแรกของไทย ด้าน TCELS หนุนงบ 19.7 ล้าน ผลิตเครื่องเดนตีแสกนรุ่นใหม่ ประสิทธิภาพสูงกว่าเดิม เตรียมขยายผลใน 4 โรงพยาบาลรัฐ
นายนเรศ ดำรงชัย
นายนเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้เปิดตัว โรงงานต้นแบบผลิต “นวัตกรรมดิจิทัลเอกซเรย์” ที่ได้มาตรฐานระดับโลกแห่งแรกของไทย หลังจากก่อนหน้านี้ได้พัฒนาและทดลองใช้เครื่องเอกซเรย์ทางทันตกรรมหรือที่รู้จักกันในนามของ เดนตีสแกน ที่ประสบความสำเร็จทั้งด้วยราคาที่ถูกกว่าการนำเข้า นับได้ว่าเป็นการยกระดับวงการเครื่องมือแพทย์ของไทย
“TCELS ได้สนับสนุนงบประมาณจำนวน 19.7 ล้านบาทในการผลิตเครื่องเดนตีสแกน 2.0 สำหรับใช้ในงานทันตกรรมอีก จำนวน 4 เครื่อง โดยมี สวทช.เป็นผู้ผลิต ณ โรงงานต้นแบบฯ ที่ได้รับมาตรฐานกระบวนการผลิตเครื่องมือแพทย์ตามมาตรฐานสากล ISO 13485 ให้การรับรองโดย TUV SUD เครื่องดังกล่าว จะมีความพิเศษกว่ารุ่นเดิมที่ความเสถียรสูงขึ้น มีขนาดเล็กลงเหลือแค่ขาตั้งเดียว สามารถถ่ายภาพได้ดีกว่าจนสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการแพทย์ด้าน หู คอ จมูกได้ด้วย โดยจะมีการขยายผลในการใช้งานไปยังโรงพยาบาลที่คาดว่าจะเข้าโครงการทั้ง 4 เครื่อง ได้แก่
โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จ.เชียงราย
สถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
โรงพยาบาลสกลนคร จ.สกลนคร
โรงพยาบาลทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช หรือโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี จ.สุราษฎร์ธานี
นับเป็นการขยายผลการใช้งานผลงานวิจัยและพัฒนาเครื่องมือแพทย์ที่พัฒนาโดยนักวิจัยไทย โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง TCELS และ สวทช.” นายนเรศ กล่าว
สำหรับเครื่องเดนตีสแกนนั้นได้พัฒนาแล้วทั้งสิ้น 2 รุ่น รุ่นแรกชื่อว่า เครื่องเดนตีแสกน 1.1 ถูกติดตั้งแล้ว 3 แห่งที่ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี 2554 ศูนย์ทันตกรรมเอสดีซี ตั้งแต่ปี 2554 และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ตั้งแต่ปี 2556 โดยมีจำนวนการใช้งานทั้งไม่ต่ำกว่า 3,000 ครั้ง ซึ่งขณะนี้ได้หยุดผลิตและพัฒนามาเป็นเครื่องเดนตีแสกนรุ่นที่ 2 เป็นที่เรียบร้อย ส่วนรุ่นใหม่ คือเครื่องเดนตีแสกน 2.0 ที่ TCELS ให้การสนับสนุน
- 3 views