ชี้การแต่งตั้งรองเลขาฯ สปสช. 2 ตำแหน่ง เป็นใบสั่งการเมืองชัด หวังควบคุมทิศทางการทำงาน สปสช.ให้สนองนโยบายทางการเมืองอย่างเต็มระดับ อีกทั้งเป็นการขู่เลขาฯ คนปัจจุบันในที หากแข็งข้อ ออกนอกลู่คำสั่ง มีสิทธิ์ถูกเสียบจากรองเลขาฯ คนใหม่ได้ทันที "หมอวิชัย" จวกเละ ทำลายหลักคุณธรรม ผิดหลักการที่ต้องเปิดโอกาสให้คนใน
แหล่งข่าวระดับสูงในสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ในการเสนอให้มีการแต่งตั้งรองเลขาธิการ สปสช. เพิ่ม 2 ตำแหน่งนั้นเพื่อทำหน้าที่การเป็นศูนย์กลางการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของ 3 กองทุนสุขภาพ อันได้แก่ กองทุนประกันสังคม กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ เคลียริ่งเฮาส์ และทำงานด้านต่างประเทศ ซึ่งปกติแล้วงานเหล่านี้เป็นงานประจำที่คนใน สปสช.ต้องทำอยู่แล้ว ส่วนของการเป็นเคลียริ่งเฮาส์ จะมีนางสาวเนตรนภิส สุชนวนิช ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. เป็นผู้วางระบบไอที และตัวกำกับดูแลเรื่องการเบิกจ่ายและปัจจุบันก็เป็นคนทำอยู่ ส่วนงานด้านต่างประเทศนั้น สปสช.มีทีมใหญ่ที่คอยประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งจะทำหน้าที่ประสานงานกับองค์การอนามัยโลก และทำหน้าที่ประสานงานกับต่างประเทศโดยตรง ซึ่งเชื่อว่าไม่มีใครมีความเชี่ยวชาญด้านต่างประเทศเท่ากับบุคลากรกลุ่มนี้อีกแล้ว
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ทั้งนี้โดยงานด้านหลักประกันสุขภาพดูแลเงินงบประมาณกองทุนประมาณ 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งงบประมาณมหาศาลดังกล่าวนี้ สามารถทำเป็นนโยบายที่จะทำประโยชน์ให้กับกลุ่มไหนได้ทั้งนั้น โดยเฉพาะผลประโยชน์ทางด้านการเมือง สามารถที่จะออกเป็นนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้กับโรงพยาบาลภาครัฐ เอกชน กลุ่มไหนได้ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น สปสช.จึงมีความสำคัญมาก ทั้งด้านนโยบายและการบริหารงบประมาณ ดังนั้น การที่มีความพยายามตั้งรองเลขาธิการเพิ่มอีก 2 คน จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 3 คน เป็นการทำตามใบสั่ง โดยรองเลขาฯ ที่จะเพิ่มอีก 2 ตำแหน่ง คาดว่าจะเข้ามามีบทบาท 2 ด้าน คือ 1.เพื่อมีส่วนในการกำหนดการบริหารจัดการภายใน สปสช. 2.เป็นการขู่เลขาธิการคนปัจจุบัน ถ้าไม่เดินไปตามนโยบายที่รัฐบาลกำหนดไว้ก็จะถูกปลดได้ 3.เป็นการเตรียมการให้รองเลขาฯ สปสช.ที่มีใบสั่งการเมือง ขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สปสช.คนต่อไป เมื่อคนปัจจุบันหมดสมัยลง
"อดีตที่ผ่านนโยบายของ สปสช.คือ สนองตามนโยบายของรัฐบาล แต่ต้องไม่เอียงข้างใดข้างหนึ่ง และพยายามวางระบบการบริหารนี้เอาไว้ เพราะ สปสช.ถือว่ามีความสำคัญสำหรับประเทศที่ต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกพรรคการเมือง ไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นรัฐบาลก็ตาม ต้องทำงานร่วมได้ และต้องไม่เอียงข้าง" แหล่งข่าวระบุ และว่า รายชื่อที่ถูกส่งเข้ามาคัดเลือก2 คน คือ นพ.อรรถสิทธิ์ กาญจนสินิทธ์ อดีต ส.ส.พรรคไทยรักไทย, นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย(สวปก.) ทั้งนี้ เพื่อให้ภาพออกมาดูสวยงามมีความหลากหลาย แต่ก็คือเข้ามาเพื่อให้เกิดการต่อรอง
ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อห้ามของผู้ที่จะเข้ามาเป็นรองเลขาธิการ คือ ต้องไม่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาก่อน แหล่งข่าวกล่าวว่า จริงๆ เรื่องการแต่งตั้งรองเลขาธิการ สปสช.นั้น เกิดขึ้นเป็นปกติ ที่ผ่านมาก็มีการแต่งตั้ง 2 คน และไม่มีการตรวจสอบ และตำแหน่งดังกล่าวถือเป็นตำแหน่งประจำ จึงไม่มีข้อห้ามว่าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองหรือข้อห้ามใด ทั้งในกฎหมาย และข้อประกาศ หรือระเบียบการรับสมัครก็ไม่มี เพราะเมื่อได้รับการแต่งตั้งก็แค่ลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้นเอง แต่ที่ข่าวออกมาห้ามนั้น อาจจะเป็นเพราะยังไม่สามารถประกาศผลได้มากกว่า เพราะยังตอบสังคมไม่ได้ว่ามีความเหมาะสมอย่างไร และคนที่เข้ามามีคุณสมบัติดีกว่าคนในอย่างไร
ด้าน นพ.วิชัย โชควิวัฒน กรรมการสปสช. กล่าวว่า ตามหลักการแล้ว ตำแหน่งรองเลขาฯ ควรคัดเลือกมาจากผู้ช่วยรองเลขาฯ เป็นตำแหน่งภายใน บุคคลในสำนักงาน ไม่ควรเป็นบุคคลภายนอก ซึ่งถือว่าเป็นไปตามระบบคุณธรรม 4 หลัก 1.ความเสมอภาค 2.ความสามารถ ไม่ใช่เด็กฝาก 3.ความมั่นคง ไม่ใช่ถูกกลั่นแกล้งให้ออกไปง่ายๆ และ 4.ความเป็นกลางทางการเมือง ซึ่งเป็นหลักสากลในทั่วโลก แต่การกำหนดให้มีรองเลขาฯ สปสช.โดยกระบวนกดดันให้เป็นคนของฝ่ายการเมืองนั้น ไม่ใช่หลักการของความเสมอภาคแน่นอน ไม่ใช่ระบบคุณธรรม เพราะฉะนั้นถ้าพูดในหลักการย่อมเป็นการผิดอย่างแน่นอน
"ผลการคัดเลือกจะออกมาอย่างไร เมื่อไหร่นั้น ผมไม่ทราบ ผมไม่ตามด้วย เพราะถือเป็นเรื่องที่ฉ้อฉล และไม่ชอบ เพราะฉะนั้นถ้าทำอะไรไปก็ต้องรับผิดชอบเอง ส่วนจะเคลื่อนไหวอะไรหรือไม่นั้นต้องดูก่อน เพราะตอนนี้ยังไม่อยากไปติดตาม แค่คอยฟังข่าวว่าจะออกมาอย่างไร" นพ.วิชัยกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับผู้สมัครที่เข้ารับการสัมภาษณ์ประกอบด้วยบุคลากรในองค์กร ได้แก่ ภญ.เนตรนภิส สุชนวนิช ผู้ช่วยเลขาธิการสปสช. นพ.กรรชิต คุณาวุฒิ ผู้ช่วยเลขาธิการสปสช. ส่วนบุคคลภายนอกองค์กรคือ นางโสภาพันธ์ สะอาด หัวหน้างานฐานข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี, นพ.อรรถสิทธิ์ กาญจนสินิทธ์ อดีต ส.ส.ขอนแก่น พรรคไทยรักไทย, นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ ผอ.สำนักวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) และ น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 21 มกราคม 2556
- 5 views