คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ยืนยันในความโปร่งใสการจัดซื้อยาโบเซนแทน (Bosentan) หรือชื่อทางการค้า เทรเคลียร์ (Tracleer) ซึ่งเป็นยารักษาโรคความดันเส้นเลือดในปอดสูง พร้อมทั้งได้ตั้งคณะกรรมการสืบหาข้อเท็จจริงแล้ว โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือน ภายหลังจากที่ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้เข้าตรวจสอบศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คณะแพทยศาสตร์ มข. ตามข้อร้องเรียนกล่าวหาของเจ้าหน้าที่ในศูนย์ว่ามีการจัดซื้อยาดังกล่าวในราคาแพงกว่าโรงพยาบาลแห่งอื่นๆถึงขวดละ 5 หมื่นบาท
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 มกราคม นพ.ภิเษก ลุมพิกานนท์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มข. กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ให้ข้อมูลและชี้แจงเรื่องดังกล่าวกับสื่อมวลชน ผู้บริหารมหาวิทยาลัย และประชาคม มข.แล้ว อีกทั้งบริษัทยาเองก็ออกมายอมรับว่ากระบวนการซื้อขายยามีปัญหา ซึ่งทางบริษัทยาได้รับผิดชอบโดยการชดใช้เงินค่าเสียหายมาแล้ว 1.5 ล้านบาท และปัจจุบันกระบวนการจัดซื้อยาของศูนย์หัวใจสิริกิติ์ก็มีความรัดกุมมากขึ้น โดยบริษัทยาจะต้องแนบราคามาให้ทางศูนย์ตรวจสอบก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำขึ้นอีก
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทาง มข.ได้ตั้งคณะกรรมการสืบหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว โดยคณะกรรมการได้สอบสวนบุคลากรที่เกี่ยวข้องไประดับหนึ่งแล้ว คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือนนี้ ส่วนที่คณะกรรมการสอบสวนของดีเอสไอจะสรุปสำนวนส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการต่อนั้น พร้อมชี้แจง เพราะมั่นใจว่ามีข้อมูลที่เป็นความจริงและตรวจสอบได้
"ในส่วนที่สงสัยว่าจะมีบุคลากรของศูนย์หัวใจสิริกิติ์เข้าไปเกี่ยวข้องนั้น ผมก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้ดำเนินการตามขั้นตอน คือตั้งคณะกรรมการสืบหาข้อเท็จจริงทันที แต่เรื่องนี้คงต้องใช้เวลาจึงจะสรุปได้ว่ามีใครเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ในช่วงการจัดซื้อยาดังกล่าวมีหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนจัดซื้อในราคาเดียวกัน แต่คงไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นที่ใดบ้าง ทั้งนี้ ทางศูนย์หัวใจสิริกิติ์ไม่ใช่เพิ่งจะซื้อยาตัวนี้ แต่ซื้อมาตลอด เพียงแต่เพิ่งมาทราบเรื่องซื้อแพงภายหลัง และได้เร่งแก้ปัญหาในทันที" นพ. ภิเษกกล่าว
--มติชน ฉบับวันที่ 20 ม.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 5 views