เมื่อวันที่ 16 มกราคม นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า ในการประชุมบอร์ด สปส. เมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา ที่ประชุมได้พิจารณาการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่โรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคม โดยมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการการแพทย์เสนอให้ยกเลิกการจ่ายเงินค่าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง จำนวน 300 ล้านบาท ซึ่งยืนยันว่าไม่มีผลกระทบต่อการรักษาพยาบาลผู้ประกันตน เนื่องจากงบในส่วนนี้เป็นการจ่ายซ้ำซ้อนกับการจ่ายค่ารักษาตามระดับความรุนแรงของกลุ่มโรค หรือดีอาร์จี (DRG) ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ให้ สปส.นำงบส่วนนี้ไปเพิ่มในส่วนของค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์แทน ซึ่งให้มีผลบังคับใช้ทันที
"สำหรับงบค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์นั้น สปส.ประมาณการว่าจะต้องเพิ่มอีก 41 ล้านบาท เนื่องจากมีแผนเพิ่มอุปกรณ์ทางการแพทย์ของ สปส.จากเดิมที่มี 50 รายการ เป็น 170 รายการ เพื่อให้มีมาตรฐานเท่าเทียมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกรมบัญชีกลาง จึงมีมติให้เพิ่มวงเงินรวมเป็น 341 ล้านบาท" นพ.สมเกียรติกล่าว และว่า ที่ประชุมยังได้พิจารณาการจ่ายค่ารักษา ผู้ประกันตนที่ป่วยเป็นโรคร้ายแรงต่างๆ ให้กับโรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคม และโรงพยาบาลคู่สัญญาที่มีศักยภาพสูงกว่า โดยมีมติหากผู้ป่วยมีระดับความรุนแรงของโรคตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไป สปส.จะจ่ายค่ารักษาให้โรงพยาบาลระดับละ 11,500 บาท ไปก่อน จากยอดวงเงินสูงสุดที่ตั้งไว้ระดับละ 15,000 บาท เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำกัน ขณะเดียวกัน สปส.จะตรวจสอบข้อเท็จจริงของการรักษา หากพบว่าโรงพยาบาลดังกล่าวรักษาผู้ป่วยระดับ 2 ขึ้นไปจริง สปส.จะจ่ายเงินค่ารักษาเพิ่มเติมให้ โรงพยาบาลนั้นจนครบยอดวงเงินสูงสุดในภายหลัง ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถสรุปยอดค่ารักษาโรคร้ายแรงในปี 2555 เสร็จภายในเดือนมีนาคมนี้
นพ.สมเกียรติกล่าวอีกว่า เร็วๆ นี้ จะหารือกับผู้บริหาร สปสช.เสนอให้ร่วมมือกันจัดตั้งศูนย์ประเมินอาการป่วยของผู้ป่วยโรคร้ายแรงในระบบประกันสังคมและระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยมีทีมแพทย์และบุคลากรผู้เชี่ยวชาญโรคร้ายแรงต่างๆ เข้าไปประเมินอาการผู้ป่วยทั้ง 2 ระบบ เพื่อลดปัญหาผู้ป่วยถูกโรงพยาบาลลอยแพไม่รับรักษาด้วย
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 17 มกราคม 2556
- 1 view