การประชุมเผยแพร่ผลการศึกษาโครงการวิจัยประเมินผลแผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้านสุขภาพ เพื่อเตรียมรับแผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ฉบับที่ 3 จัดโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เมื่อวันที่14 ม.ค.พบว่า การถ่ายโอนภารกิจด้านสุขภาพให้ อปท.ทั่วประเทศยังล่าช้ามาก
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมาจนถึงขณะนี้มีการถ่ายโอนสถานีอนามัยให้ อปท.ดูแลทั้งสิ้น 39 แห่ง หรือคิดเป็น 0.4%ของสถานีอนามัยทั่วประเทศ 9,762 แห่งเท่านั้น สะท้อนว่านโยบายถูกขับเคลื่อนไปอย่างล่าช้าหรือหากคิดสัดส่วนจากสถานีอนามัยที่เสนอขอรับการถ่ายโอนทั้งหมดในปี 2553 จาก173 แห่ง ภารกิจถ่ายโอนคืบหน้าเพียง 22.54% เท่านั้น
ทีมวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหามาจากเจ้าของอำนาจเดิมคือกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยังคงมอง อปท.ในฐานะนักการเมืองที่ต้องการต่อรองทางการเมือง ทั้งระดับชาติและระดับพื้นที่ที่แทรกแซงการทำงานได้ ขณะเดียวกันแพทย์และบุคลากรก็กังวลว่า ค่าตอบแทนที่เคยได้จาก สธ.และสวัสดิการเดิมที่เคยได้รับอาจหดหายไปด้วย และที่สำคัญที่สุดก็คือ คณะกรรมการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ก็ไม่มีอำนาจบังคับให้กระทรวงต้องถ่ายโอนอำนาจให้ อปท.อย่างที่ตั้งใจไว้
ขณะที่ผู้รับถ่ายโอน ทีมวิจัยพบว่า คณะกรรมการการกระจายอำนาจระดับพื้นที่ในหลายพื้นที่ก็ยังคงคลางแคลงใจกับระบบเดิม เพราะคณะกรรมการประเมินที่กำหนดให้ 3 คนเป็นตัวแทน สธ. 3 คน เป็นตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิ และอีก 3 คนเป็นตัวแทน อปท. กลับประเมินว่าหลายแห่งไม่ผ่าน ทั้งที่มีความพร้อมอย่างเต็มที่
ณรงค์ เชื้อบุญช่วย นักวิเคราะห์นโยบายและแผนสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระบุว่า สถานีอนามัยที่ถูกถ่ายโอนทั้ง 39 แห่ง ทั้งหมดล้วนมีประชาชนในท้องถิ่นเข้าไปใช้บริการจำนวนมาก ซึ่งเกณฑ์การประเมินจาก สธ.ก็พบว่าอยู่ในคุณภาพที่ดีและผู้บริหารของ อปท. ที่พัฒนาสถานีอนามัยจนโดดเด่น ส่วนใหญ่ก็ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นสมัยที่ 2 เกือบทั้งหมด
ณรงค์ ย้ำว่า การกระจายอำนาจให้ อปท.ดูแลแทนจะช่วยลดปัญหาลูกจ้าง สธ.ที่เรียกร้องขอบรรจุเป็นข้าราชการ ซึ่งมีจำนวนมาก เนื่องจากดูแนวโน้มอนาคตสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) คงไม่สามารถอนุมัติตำแหน่งทั้งหมดให้ได้ในเวลาอันใกล้ เพราะขัดแย้งกับหลักการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น
ในทางกลับกัน อปท.สามารถรับลูกจ้างเหล่านี้เข้าเป็นข้าราชการ อปท.แทน เพื่อแก้ปัญหาได้อีกด้วยโดยหลังจากนี้จะต้องนำข้อมูลในงานวิจัยไปหารือกับ สธ.เพื่อดูปัญหาและนำมาผลักดันให้การถ่ายโอนมีช่องโหว่ให้น้อยที่สุด
ด้านนพดล แก้วสุพัฒน์ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบล กล่าวว่า รูปแบบการกระจายอำนาจโดยการโอนสถานีอนามัยให้ อปท.ดูแลนั้น ตัวเลขนิ่งอยู่ที่ 39 แห่งมาเกือบ 3 ปีแล้ว สะท้อนชัดว่า สธ.ไม่ต้องการถ่ายโอนอำนาจลงไปเพิ่มเติมจึงได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)ดูแลการจัดการสุขภาพในท้องถิ่น โดย สปสช.และท้องถิ่นรับผิดชอบกองทุนสุขภาพหน่วยงานละครึ่ง
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรมป้องกัน สำนักวิชาการสาธารณสุข ยอมรับว่า แผนการกระจายอำนาจด้านสุขภาพที่ผ่านมาล้มเหลว นอกจากจะถ่ายโอนเพียง 0.4% ของทั้งหมดแล้ว อปท.ก็ยังขาดความเข้าใจการดูแลประชาชนในระดับปฐมภูมิ ระบบการดูแลผู้ป่วยอุบัติเหตุ หรือระบบการส่งต่อผู้ป่วย ขณะที่ระบบเดิมของ สธ.เองก็มีความซับซ้อน
"โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลระดับทุติยภูมิ โรงพยาบาลตติยภูมิก็มีความเชื่อมโยงระหว่างกันทั้งในด้านข้อมูลบุคลากร และการประสานความร่วมมือผ่านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ
ซึ่งในบางเรื่องอปท.ยังไม่สามารถทดแทนได้ ขณะเดียวกันการกระจายอำนาจทั้งหมดลงไปก็อาจเกิดปัญหาอย่างในอินโดนีเซียที่เมื่อโอนการจัดการทั้งหมดให้อปท.ไปแล้ว รัฐบาลก็ไม่เหลือข้อมูลอะไรเพื่อนำมาวางนโยบาย"นพ.ศุภกิจ ระบุ
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 15 มกราคม 2556
- 8 views