หากจำกันได้ช่วงกลางเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา รัสเซีย ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับที่ 9 ของโลก ถือเป็น “เซฟโซน” ที่โควิด-19 ตีไม่แตก แม้ประเทศข้างเคียงฝั่งยุโรป จะมีตัวเลขทะยานพุ่งสูงเป็นหมื่นคนกันหมดแล้ว และในอีกด้าน ฝั่งชายแดนจีน ก็มีผู้ติดเชื้อไม่น้อยเช่นกัน

ก่อนหน้านี้ กลางเดือน มี.ค. วลาดีมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย บอกว่า สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศ ถือว่าอยู่ภายใต้การควบคุม จากมาตรการที่เข้มข้นในระยะแรก ไม่ว่าจะเป็นการสั่งปิดชายแดนยาว 4,200 กิโลเมตรที่เชื่อมต่อกับจีน 1 สัปดาห์ หลังจีนปิดอู่ฮั่น ไปจนถึงการคุมเข้มไฟลท์บินจากจีน ตั้งแต่วิกฤตในระยะเริ่มแรก

ต้นเดือน มี.ค. รัสเซีย มีผู้ติดเชื้อเพียง 7 ราย และเพิ่งมีผู้เสียชีวิตครั้งแรกในวันที่ 19 มี.ค. หลังไทยนานกว่า 3 สัปดาห์ และในเวลานั้น รัสเซีย มีบทบาทสำคัญในการช่วยวิกฤตครั้งนี้กับทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการส่งหน้ากาก ส่งชุด PPE จำนวนมาก ไปช่วยสหรัฐอเมริกา

แต่สุดท้าย ก็โดนเสียเอง ล่วงเข้าสู่วันที่ 1 เม.ย. รัสเซีย มีผู้ติดเชื้อ 2,777 คน และตัวเลขล่าสุดคือวันที่ 15 เม.ย. ประเทศนี้ มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่า รวม 24,490 คน โดยตัวเลขเคส ที่เพิ่มขึ้นต่อวันนั้น ล่าสุดอยู่ที่ 2,775 ราย

“เรากำลังมีปัญหาหลายเรื่อง และยังไม่สามารถลดการ์ดลงได้ ที่สำคัญก็คือ เรายังไปไม่ถึงจุดพีค” ปูตินเปลี่ยนท่าทีอย่างชัดเจน ในการประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่ เมื่อวันที่ 13 เม.ย. ที่ผ่านมา

ในขณะที่ยุโรปกำลังผ่านพ้นจุดพีค แต่รัสเซียกำลังเพิ่งเริ่มต้น..

“หลังจากนี้ จะเป็นช่วงเวลาที่สำคัญในการลดความชันกราฟ และเตรียมส่งกองทัพลงมาช่วยจัดการ หากมีความจำเป็น” ปูตินระบุ

เกิดอะไรขึ้นที่รัสเซีย?

หนึ่งในมาตรการระยะแรกเริ่มที่รัสเซีย ที่ขึงขัง ได้รับความชื่นชมจากทั่วโลกก็คือการสั่งปิดชายแดนจีน ปิดการเชื่อมต่อทางการค้า - การลงทุน กับจีนทันที ในระยะเริ่มต้น แม้จะมีความสัมพันธ์อันดีมายาวนาน และจีนจะมีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจของเมืองตลอดแนวตะเข็บชายแดนกับจีน ก็ตามที

อย่างไรก็ตาม รัสเซีย กลับ “การ์ดตก” ในช่วงปลายเดือน ก.พ. - มี.ค. กลับไม่มีการควบคุมการเดินทางจากยุโรป และในช่วงที่ประเทศอื่นทั่วโลกเริ่มระงับไฟลท์บิน เริ่มจัดการกักกันตัวผู้ที่เดินทางมาจากยุโรปเรียบร้อยแล้ว รัสเซีย ยังปล่อยให้ผู้ที่มาจากยุโรป เดินทางไปมาในประเทศได้ตามปกติ นั่นทำให้ไวรัส ฝังตัวอยู่ในเมืองใหญ่เรียบร้อยตั้งแต่เดือน มี.ค. เพียงแต่รัฐบาลยังไม่รู้ตัว คิดว่าควบคุมได้ และเมื่อ “ไม่ตรวจ” ก็เท่ากับ “ไม่เจอ”

24 มี.ค. เซอร์เกย์ ซอบยานิน นายกเทศมนตรีมอสโคว์ เมืองหลวงของรัสเซีย รายงานให้ประธานาธิบดีปูตินบอกว่า สถานการณ์ในมอสโคว์ เริ่มจะแปลกๆ แล้ว หลังมีผู้ป่วยด้วยโรคปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุจำนวนมาก นั่นทำให้มอสโคว์ เริ่มสั่งปิดร้านอาหาร คาเฟ่ ผับ บาร์ ห้างสรรพสินค้า และสวนทันที ในวันที่ 28 มี.ค. เช่นเดียวกับรัฐบาลกลาง ก็มีคำสั่งปิดชายแดน ระงับไฟลท์บินเข้าออกจากทั่วโลก ยกเว้นไฟลท์ที่พาคนรัสเซียกลับประเทศ

ซอบยานิน บอกว่ามากกว่าครึ่งของคนที่มาจากต่างชาติ แวะพักที่มอสโคว์ และคนมอสโคว์จำนวนมาก ก็รักการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการเดินทางไปยุโรป

“ชาวรัสเซียจำนวนมากหลงรักการท่องเที่ยวสกีรีสอร์ท โดยเฉพาะที่คูร์เชอร์แวล ในฝรั่งเศส คลัสเตอร์สำคัญของการระบาดทั่วยุโรป นั่นทำให้คนจำนวนมาก พกไวรัสชนิดนี้ กลับมาเป็นของฝากที่รัสเซีย” ซอบยานินระบุ

ในเวลาเดียวกัน ประธานาธิบดีปูติน ยอมรับว่ารัสเซีย กำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ “ซับซ้อน” และ “ไม่ธรรมดา” พร้อมกับเปลี่ยนโหมด กลับมาสู่การต่อสู้กับโรคระบาดเต็มรูปแบบ

ระบบติดตามตัวดิจิตัลในมอสโคว์

แม้จะมี “ข่าวปลอม” จำนวนมากว่า “ปูติน” สั่งตำรวจจับคนออกนอกบ้าน หรือข่าวอย่างรัฐบาลรัสเซียปล่อย “สิงโต” เพื่อให้คนอยู่บ้านมากที่สุด

แต่รัสเซีย กลับมีมาตรการน้อยมาก อย่างที่หลายคนคาดไม่ถึง.. ทาเทียนา สตาโนวาญา นักวิชาการประจำสถาบัน Carnegie Moscow Center บอกว่า รอบนี้ ปูติน แสดงภาวะผู้นำอย่าง “น่าผิดหวัง” ตั้งแต่เกิดวิกฤต หลายเดือนที่ผ่านมา ปูติน เพิ่งปรากฏตัวเพื่อบอก “สถานการณ์จริง” กับประชาชนเพียง 2 ครั้ง และเว้นระยะห่างจากการ “ตัดสินใจ” ในช่วงเวลาวิกฤตชัดเจน ทำให้รัสเซีย มีแผนในการรับมือน้อยมาก โดยส่วนใหญ่ เป็นแผนที่รัฐบาลท้องถิ่น เป็นผู้ตัดสินใจด้วยตัวเอง

แน่นอน หนึ่งในผู้นำที่โดดเด่นขึ้นมาคือ ซอบยานิน นายกเทศมนตรีมอสโคว์ จุดที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 11,513 คน ครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วประเทศ และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 82 คน

ซอบยานิน นำระบบ “ติดตามตัว” แบบดิจิตอล กำหนดให้ชาวมอสโคว์ทุกคนที่อายุเกิน 14 ปีต้องดาวน์โหลด หลักการง่ายๆ ก็คือ หากต้องเดินทางในเมือง จะต้องแจ้งผ่านแอพว่ามี “จุดหมาย” ที่ไหน และจะเดินทางด้วยเส้นทางไหน หลังจากนั้น จะได้รับ QR Code กลับมา

หลังจากนั้น ตำรวจ จะทำหน้าที่เช็คว่าชาวมอสโคว์ผู้นั้น มี QR Code ถูกต้องหรือไม่ หากไม่ได้แจ้งล่วงหน้า ไม่ได้รับ QR Code หรือออกนอกเส้นทางที่แจ้งไว้ ก็จะมีโทษปรับ นอกจากนี้ เทศบาลมอสโคว์ ยังอนุญาตให้คนในเมือง ออกไปซื้อสิ่งของจำเป็นได้ สัปดาห์ละ 2 ครั้ง เท่านั้น

แต่ก็ใช่ว่าจะมีมีปัญหาในการใช้งานจริง วันที่ 14 เม.ย. ที่ผ่านมา วันแรกของการเริ่มต้นใช้แอพ มากกว่า 9 แสนยูสเซอร์ ถูกปฏิเสธ ไม่สามารถติดตั้งแอพได้ ขณะเดียวกัน การตรวจ QR Code ก็ทำให้คิวคนรอขึ้นรถไฟใต้ดินยาวเหยียด จนหลายคนกังวลว่าอาจทำให้เกิดการระบาด เพราะผู้คนไม่สามารถเว้นระยะห่าง Social Distancing ได้ เช่นเดียวกับการจราจรทั่วเมืองก็ติดขัด

นอกจากนี้ แอพยังได้รับเสียงคัดค้านจากกลุ่มนักเคลื่อนไหว ที่บอกว่าเป็นการ “ละเมิดสิทธิ์” เพราะรัฐบาล จะสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลได้ทั้งหมด และการเดินทาง จะถูกจับตามองโดยรัฐอย่างใกล้ชิด

แต่ซอบยานิน ยืนยันว่า มาตรการดังกล่าวจำเป็น และจะใช้เพียงช่วงเวลานี้เท่านั้น โดยหลังจากเรื่องจบ ก็จะลบข้อมูลในแอพนี้ทั้งหมดทันที

อย่างไรก็ตาม หลายเมืองในรัสเซีย เริ่มใช้แอพในลักษณะเดียวกันแล้ว โดยจะเริ่มต้นตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป ท่ามกลางความคาดหวังว่าผู้คนจะเดินทางน้อยลง

ตัวเลขเทสต์ที่น่าสงสัย

ข้อมูลทางการจากรัสเซีย ระบุว่า ปัจจุบัน ประเทศนี้สามารถตรวจโควิด-19 ได้มากกว่า 1.5 ล้านเทสต์ เยอะเป็นอันดับ 3 ของโลก เป็นรองเพียงสหรัฐอเมริกา และเยอรมนี เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ตัวเลขผู้ติดเชื้อในรัสเซีย ยังต่ำกว่าทั้ง 2 ประเทศมาก

แต่ทั้งหมด ก็มีคำถามตามมาว่าการเทสต์ของรัสเซียนั้นเชื่อถือได้หรือไม่ หลังจากไฟลท์บินระหว่าง มอสโคว์ – เซี่ยงไฮ้ เมื่อวันที่ 10 เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งผู้โดยสารมากกว่า 12 คน ติดเชื้อมาจากมอสโคว์ ส่วนมณฑลเฮย์หลงเจีย ที่มีชายแดนติดกับรัสเซียนั้น ก็มีชาวจีนติดโควิด-19 มากกว่า 100 คน ซึ่งทางการจีน ระบุว่าการติดเชื้อ เป็นการข้ามมาจากพรมแดนรัสเซีย

รายงานจากซีเอ็นเอ็น อ้างแหล่งข่าวหมอในมอสโคว์ บอกว่า ตัวเลขเทสต์อาจไม่ได้น่าเชื่อถือมากขนาดนั้น หลายครั้ง หมอต้องเช็คซ้ำอีกที ถึงจะเจอผู้ป่วยโควิด-19 เพราะการตรวจที่ผ่านมา อาจมี “ช่องโหว่” ค่อนข้างมาก และปล่อยให้หลายเคส หลุดออกไปจากระบบการรักษา

หรือในอีกแง่หนึ่งก็คือ ไม่ได้มีการเทสต์มากขนาดนั้น เป็นเพียงการ “เคลม” จากรัฐบาลว่ามีการเทสต์มาก แต่ในความจริง ไม่มีใครรู้ว่าที่เทสต์ เทสต์ไปเท่าไหร่ จากระบบการเมืองรัสเซียที่รัฐราชการเป็นใหญ่ สามารถกุมอำนาจเบ็ดเสร็จ จนไม่มีใครตรวจสอบข้อเท็จจริงได้

นอกจากนี้ อัตราตายของรัสเซีย ยังถือว่าต่ำที่สุด ติดอันดับโลก จากผู้ติดเชื้อล่าสุด 2.4 หมื่นคน มีผู้เสียชีวิตเพียง 198 คนเท่านั้น

นักข่าวรัสเซียเอง ตั้งข้อสงสัยว่า สาเหตุการตายอาจถูกระบุโดยแพทย์ว่าเสียชีวิตจากโรคอื่น เช่น “ปอดบวม” หรือ “ปอดอักเสบ” ทำให้อัตราการตายค่อนข้างต่ำ และไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

ทั้งหมดนี้ นำมาซึ่งการเรียกร้องให้เปิดเผย “ตัวเลขจริง” และสาเหตุการเสียชีวิตจริง เพื่อให้คนรัสเซียทราบสถานการณ์ว่าความจริง กำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ร้ายแรงมากแค่ไหน

แน่นอน รวมถึงจำนวนเทสต์ด้วยว่า ได้ทำไปมากขนาดนั้นจริงหรือไม่ และผลของการเทสต์ น่าเชื่อถือมากขนาดไหน

เพราะรัสเซีย ยังต้องอยู่กับโควิด-19 ไปอีกระยะหนึ่ง และหากคนในชาติปราศจากความเชื่อถือต่อรัฐบาลแล้ว การจัดการโรคนี้ จะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้เลย

ผู้เขียน สุภชาติ เล็บนาค

อ้างอิงจาก

1.The Kremlin sends mixed messages on coronavirus as Russian cases spiral (https://edition.cnn.com/)

2.Coronavirus takes a serious turn in Russia, and Putin no longer radiates confidence (https://edition.cnn.com/)

3.Majority of China's New Coronavirus Cases Imported From Russia (https://www.themoscowtimes.com/)

4.'They Don't Like How I'm Breathing': Russian Journalist Documents Her Coronavirus-Related Death (https://www.rferl.org/)